ภาคกลาง : เวทีดีเบตพรรคการเมือง "เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน"

20 เมษายน 2566

Amnesty International

วันที่ 20 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย The Reporters ข่าว 3 มิติ และภาคีเครือข่ายจัดเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ 12 พรรคการเมือง 6 ภาคประชาสังคม และประชาชน มาพบปะและร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายประเด็น ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

 

การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้จึงไม่ใช่รูปแบบของการแสดงเจตจำนงทางตรงของสิทธิในการมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและความก้าวหน้าของประเทศไทย หากแต่เป็นพื้นที่สำคัญที่จะให้เสียงของคนสามัญได้รับฟังและตอบรับโดยตัวแทนประชาชนตามกลไกของรัฐสภา อันเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนทั่วไป และเป็นหุ้นส่วนในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายมองเห็นและคาดหมายถึงโอกาสในการผลักดันให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่เพียงประเด็นที่ทางองค์กรได้ขับเคลื่อนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป เนื่องจากความเป็นธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ จะทำให้บุคคลดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิและเสรีภาพเสมอกัน และได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นตามกฎหมายแห่งรัฐ 

 

ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และพัฒนาข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคม ตลอดจนจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับ "เด็กและเยาวชน" และสมาชิกแอมเนสตี้ เพื่อจัดทำ 31 ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคม เสนอต่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง เรียกร้องให้มีการทบทวนภาวะขาดดุลด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เป็นอยู่ และแสดงความยึดมั่นในพันธกิจต่อประชาชนที่จะปฏิรูปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

 

โดยสามารถจำแนกเป็น 5 หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้

  1. การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล เเละมาตรการป้องกันการทุจริต
  2. ประเด็นเฉพาะกลุ่ม (รวมถึงเรื่องผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ ฯลฯ)
  3. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม
  4. กรอบกฎหมายระหว่างประเทศเเละภายในประเทศ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เเละสถาบันสิทธิมนุษยชน
  5. สิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง (รวมถึงการสังหารนอกกฎหมาย การป้องกันการทรมานเเละการบังคับบุคคลให้สูญหาย คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สิทธิในการสมรส การค้ามนุษย์ การใช้แรงงาน ฯลฯ)

 

“วาระสิทธิมนุษยชน: ถึงเวลาพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชน”

 

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย เปิดเวทีคุย“วาระสิทธิมนุษยชน: ถึงเวลาพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชน” ซึ่งดำเนินรายการโดย วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม คือ สิทธิมนุษยชน และเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย  แต่ในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมีประชาชนจำนวนมาก ต้องถูกจับกุม คุมขัง และดำเนินคดี โดยบางคนไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว เพียงเพราะพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ หรือชุมนุมประท้วงเพื่อสื่อสารต่อผู้มีอำนาจในสังคมไทย

“ในมุมมองของพรรคการเมืองของท่าน มีกฎหมายฉบับใดบ้างที่เป็นการปิดกั้น หรือขัดขวางการใช้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนไทย ทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการบังคับใช้ และพรรคการเมืองของท่านจะมีแนวทางต่อกฎหมายเหล่านี้อย่างไร”

 

 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่าการเลือกตั้ง 2566 นี้ หลายพรรคการเมืองได้หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าด้วย “การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม” ซึ่ง กรีนพีซ ประเทศไทย เชื่อว่า “จะไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หากไร้ซึ่งความเป็นธรรมทางสังคม”

โดยในปี 2564 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ให้การรับรองว่า “การมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชน” และในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้รับรองข้อมติเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เสนอความเห็นแนะนำเกี่ยวกับพันธกรณีที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องปฏิบัติตามในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

“พรรคการเมืองของท่านมีแนวทางอย่างไรในการผนวกสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ยั่งยืนและเป็นธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยรับรองถึง (1) สิทธิ เสรีภาพและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น (democratic space) ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม (environmental rigths defenders) ทุกคนซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการปกป้องดิน อากาศ น้ำ และระบบนิเวศที่สนับสนุนค้ำจุนสรรพชีวิต และ (2) สิทธิในการดำรงชีวิต (Livelihood Rights) ของผู้คนและชุมชนรวมถึงผู้หญิง เด็ก ชนพื้นเมือง/กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ เช่น คนจนเมือง ที่จะได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างไม่สมส่วน”

 

 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)  เผยว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในประเทศไทยถูกกล่อมเกลาจากชนชั้นนำระบอบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่ให้เชื่องเชื่อจนกลายเป็นสิ่งปกติ คนจน 4.4 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 2,803 บาทต่อเดือน ในขณะที่คนรวย 40 ตระกูลมีมูลค่าทรัพย์สิน 143,595 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP ที่ดินที่อยู่ในมือคนมั่งมีกว่า 6 แสนไร่เท่ากับจังหวัดสมุทรปราการแต่มีคนไร้ที่ดินคนไร้บ้านจำนวนมากเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.2 ล้านคน เด็กครอบครัวยากจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 11 ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับเบี้ยยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า

“พรรคการเมืองของท่านมีนโยบายใดบ้างในการสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อล้ำในด้านการศึกษา สาธารณสุข ภาษีความมั่งคั่ง การปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมีแนวทางเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างไรให้เหนือกว่าเส้นความยากจน"

 

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่การจัดการแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้มีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 7 แสนคนที่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทยและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

“ถ้าได้เป็นรัฐบาลทางพรรคการเมืองของท่านจะมีนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานและคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างไร"

และจากสถานการณ์การรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบจำนวนมากเข้ามายังประเทศไทย และพื้นที่ชายแดน รวมทั้งมีการผลักดันผู้ลี้ภัยหรือคนที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายในประเทศต้นทางกลับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ลี้ภัย ชุมชนชายแดน และภาพลักษณ์ของประเทศไทย

“หากได้เป็นรัฐบาลท่านจะมีนโยบายและแนวทางในการดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร”

 

 

สุรศักดิ์ เนียมถนอม เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ตั้งคำถามถึงมุมมองของแต่ละพรรคที่มีต่อผู้ที่เลือกประกอบอาชีพเป็นคนกลางคืน เช่น พนักงานบริการ หรือ sex workers  ว่าจะมีนโยบายหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรมอย่างในการดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างไร และจะทำอย่างไรในการทำให้คนที่เลือกประกอบอาชีพขายบริการเป็นอาชีพที่ไม่ผิดกฏหมาย”

 

 

พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ชี้ว่าปัญหาป่าไม้-ที่ดิน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสม เรื้อรังต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน อันมีสาเหตุจากนโยบายและกฎหมายที่ดินป่าไม้ไม่เป็นธรรม ไม่ยอมรับสิทธิของชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐผูกขาดอำนาจในการจัดการทรัพยากร และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และรัฐยังบังคับใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างไม่เป็นธรรม

“พรรคของท่านมีแนวนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร และมีนโยบายที่จะผลักดันชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าของรัฐอย่างไร”

ท้ายที่สุด ภาคประชาสังคมเน้นย้ำว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือ เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และขอให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ตาม “วาทะของท่านต่อวาระสิทธิมนุษชน” ให้ได้รับการพิจารณาและดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้

 

“เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน”

 

 

ในโอกาสนี้ แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำว่า “ในฐานะผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรและผู้นำประเทศในอนาคตของประเทศ พวกท่านมีความรับผิดชอบหลักในการรับฟังสารที่พวกเขาต้องการสื่อ และทำงานร่วมกับพวกเขาและผู้คนจากกลุ่มต่างๆ เพื่อสรรสร้างปัจจุบันและอนาคตสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศ”

“ดิฉันขอพูดจากใจจริง หลังจากได้เข้าพบกับภาคประชาสังคม นักกิจกรรม และทีมแอมเนสตี้ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ดิฉันคิดว่ารัฐบาลชุดหน้าของไทยกำลังเผชิญ “งานใหญ่” ในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนต่อไป”

 

สำหรับเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 12 พรรคการเมืองมาร่วมถามตอบกับ 6 องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อแสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชน นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย สมชัย ศรีสุทธิยากร พรรคเสรีรวมไทย ดร.รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล วรนัยน์ วาณิชกะ พรรคชาติพัฒนากล้า ภิเศก สายชนะพัน พรรคชาติไทยพัฒนา กรกนก คำตา พรรคสามัญชน นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคไทยภักดี กัณวีร์ สืบแสง พรรคไทยภักดี และนาดา ไชยจิตต์ พรรคเสมอภาค ดำเนินรายการโดย กิตติ สิงหาปัด และ ฐปณีย์  เอียดศรีชัย

 

พรรคเพื่อไทย : “สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย”

 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง มองว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เวทีโลกอีกครั้งจำเป็นต้องมีการแก้ไขและพัฒนาในทุกมิติ มิใช่เพียงด้านหนึ่งด้านใดเพียงอย่างเดียว ซึ่งสำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมที่ถูกจำกัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศอยู่ภายใต้การปกครองโดยระบอบเผด็จการ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก่อน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถตรวจสอบได้โดยประชาชน

“สิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วน คือ การนำกฎหมายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่มาทบทวนความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ และชัดเจนเท่าที่จะเป็นไปได้ อาทิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย”

นอกจากการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกันคนในสังคมแล้วนั้น ป่าชุมชนกับสังคมไทยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จาตุรนต์ย้ำว่า ป่าใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศมีคนอยู่มาก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนเขตอุทยานแห่งชาติเสียอีก ฉะนั้นหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะมีการเดินหน้าสำรวจและเร่งให้สิทธิ

“เราจะเอาที่ดินเหล่านี้มาให้ประชาชนใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อคนอยู่ร่วมกันกับป่าได้ พวกเขาจะทำหน้าที่ในการปกป้องรักษาผืนป่า และได้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วย”

 

พรรคก้าวไกล: “สวัสดิการไทยก้าวหน้า”

 

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ เผยว่า พรรคก้าวไกลเตรียมที่จะเสนอกฎหมายในประเด็นต่างๆ ไว้แล้ว และพร้อมยื่นทันทีเมื่อเปิดประชุมสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม ซึ่งสำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางการเมืองมีทั้งหมด 4 ชุด ดังต่อไปนี้

  • ชุดที่ 1 : การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก การแก้กฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ รวมถึงการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
  • ชุดที่ 2 : การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว การแก้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
  • ชุดที่ 3 : กฎหมายคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ป้องกันการฟ้องปิดปาก
  • ชุดที่ 4 : การยกเครื่องกฎหมายความมั่นคงพิเศษให้มีสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการบริหารงานของราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎอัยการศึก การแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็น พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 รวมทั้งการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน พรรคก้าวไกลประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า “ประชาชนทุกคนต้องได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ฉะนั้นจึงพร้อม เดินหน้าผลักดันการปฏิรูประบบค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อจำกัดชั่วโมงทำงาน และการให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศและแรงงานไทยในต่างชาติ เช่นเดียวกับแรงงานสัญชาติอื่นๆ ในไทยที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน" 

ขณะที่ในประเด็น Sex Worker พรรคก้าวไกลเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทดแทนด้วย พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ทำให้ Sex Worker ถูกกฎหมาย มีมาตรการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เช่น สิทธิการเลิกประกอบอาชีพตามต้องการ สิทธิในการปฏิเสธลูกค้า และสิทธิในการลบข้อมูลส่วนตัวภายใน 7 วัน หลังเลิกประกอบอาชีพ

ด้านชุดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าและครบวงจร ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ เพื่อช่วยให้คนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา มีความมั่นคงในชีวิต และประสบความสำเร็จได้ตามศักยภาพ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ

 

พรรคไทยสร้างไทย: “การศึกษาสร้างชาติ

 

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชี้ว่า การขับเคลื่อนนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย ถูกกำหนดขึ้นเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พร้อมนำเสนอนโยบายปฏิวัติการศึกษาของพรรค โดยชูนโยบายเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี

“ปัญหาหลัก คือ การศึกษาไทยไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้เด็ก ทำให้เด็กไม่รู้ความต้องการของตนเอง หนำซ้ำยังเรียนหนักจนเกินไป ฉะนั้นเพื่อลดภาระเวลาและเงิน เน้นให้เด็กค้นหาตัวตนได้เร็ว และผลักดันให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น จึงสนับสนุนให้มีการปรับหลักสูตรการเรียนให้ทันสมัย กระชับ และยืดหยุ่น ส่งเสริมการเรียนผ่านระบบเทคโนโลยี ลดเวลาเรียน 3-4 ปี มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายอย่างละ 1 ปี ส่วนระดับอุดมศึกษา ลดเวลาเรียนลง 2 ปี โดยต้องไม่ใช่หลักสูตรตัดเสื้อโหล แต่ได้เรียนตามความต้องการโดยคนเก่งจากสาขาวิชานั้นๆ”

สำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการด้านอื่นๆ ได้แก่ การมอบคูปอง 3,000 บาท/เดือนให้เด็กอายุ 0-6 ปี ขณะที่ผู้ใหญ่วัย 60 ปีจนเสียชีวิต จะได้รับบำนาญ 3,000 บาท/เดือนเช่นกัน ซึ่งคาดจะเพิ่มจีดีพีราว 5-7 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 ปี

 

พรรคประชาธิปัตย์: “สิทธิมนุษยชน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงแห่งชาติ”

 

 

ดร. รัชดา ธนาดิเรก ย้ำว่า “ปัญหาที่ดิน ไม่ใช่แค่กลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นปัญหาของคนจำนวนมากในไทย ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงมีนโยบายแก้ปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ด้วยการออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงใน 4 ปีแรก โดยเชื่อมั่นว่า คนกับป่าต้องอยู่ร่วมกันได้ จึงต้องเร่งออกเอกสารสิทธิรับรองการมีที่ดินทำกินในพื้นที่ของรัฐ ชาวบ้านต้องมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมั่นคง”

ด้านปัญหาคนเร่ร่อนทั่วประเทศ พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าใช้กองทุน พอช. จัดที่อยู่อาศัยให้พี่น้องประชาชนทั้งในเมืองและชนบท คนจนที่ถูกไล่ที่จากการขยายโครงการรัฐ สำหรับพี่น้องชาวชาติพันธุ์ที่ถูกไล่ที่จากหน่วยงานรัฐ พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ไม่เพียงเท่านี้ หากได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการฟ้องปิดปาก ปกป้องนักกิจกรรมที่ออกมาปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ และ พ.ร.บ.คำนำหน้านาม คืนสิทธิให้ประชาชนที่รักเพศเดียวกัน ใช้คำนำหน้านามให้สอดคล้องกับเพศสภาพอีกด้วย

 

พรรคพลังประชารัฐ : “พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ต้องไม่ถูกแช่แข็ง”

 

 

ไพบูลย์ นิติตะวัน อ้างอิงถึง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่าทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ” ซึ่งทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ต้องนำมาบังคับใช้ พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

ขณะที่ปัญหา Sex Worker สอดคล้องกับศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ ซึ่งการปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่ไม่ใช่ทางออก  เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นปัญหา จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดยิบย่อยอีกหลากหลายประการ

 

พรรคเสรีรวมไทย : “สิทธิมนุษยชนในการอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพ ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด”

 

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร ตั้งคำถามว่า “คำว่า สิทธิมนุษยชน ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งผ่านมาแล้ว 26 ปี เหตุใดเราจึงจัดเวทีพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนราวกับประเทศไทยเพิ่งมีการบัญญัติใช้คำนี้” ซึ่งเหตุผลทั้งหมดเป็นเพราะผู้ปกครองแห่งรัฐไม่เคยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐควรรับฟังประชาชน ทบทวนตัวเองว่าได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากน้อยเพียงใด

ขณะที่สิทธิการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้องอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน “สิทธิมนุษยชนในการอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด” ใครก็ตามที่เกิดในประเทศไทยพึงได้รับสิทธินี้ รัฐต้องจัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างเหมาะสมตั้งแต่เกิดจนตาย โดยต้องไม่ใช่การหยิบยื่นให้ประชาชนอย่างเดียว “ถ้าเสรีนิยมไทยเป็นรัฐบาล เราจะทำหน้าที่ในการฟังความเห็นของพ่อแม่พี่น้อง เพราะคนที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นจะรู้ปัญหาของเขาดี เราต้องฟังเสียงของประชาชนในแต่ละกลุ่ม ฉะนั้นเราจึงพึงรับฟังและนำไปแก้ไข”

 

พรรคไทยภักดี: “มองภาพรวมในอดีต สะท้อนภาพใหญ่ในอนาคต”

 

 

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม เผยว่า “ผมมองว่าเมืองไทยมีสิทธิเสรีภาพมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดูตัวอย่างประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดเส้นอย่างชัดเจนในการชุมนุมประท้วง  จึงคิดว่าบางสิ่งบางอย่างเป็นการสื่อสารที่ไม่ตรงกับความจริง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ภาคประชาชนมองว่าเป็นปัญหา ส่วนตัวไม่เคยคิดว่ากฎหมายนี้สร้างปัญหาให้กับประชาชน”

โดยเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นผลของการกระทำ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏ โดยประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอยืนยันว่าขณะนี้มีขบวนการที่จ้องทำลายทำให้สถาบันให้เสื่อมเสีย พรรคไทยภักดีจึงมีความชัดเจนต่อหน้าพี่น้องประชาชนว่า จะขอเสนอแก้ไขมาตรา 112 ใน 3 ประเด็นหลักเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้สถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ได้แก่ การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และคุ้มครองคำว่าสถาบัน

ท้ายที่สุด นายแพทย์วรงค์ ฝากว่า อยากให้ประชาชนชาวไทยมององค์รวมในทุกมิติจึงจะก้าวไปอย่างถูกต้อง พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการสลายการชุมนุมประท้วงว่า อย่ามองเฉพาะประชาชนที่บาดเจ็บ หรือถูกจับ เพราะอดีตที่ผ่านมาว่าอย่างเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วงเมษายนปี 2553 ศพแรกที่เสียชีวิตคือทหาร

 

ชาติไทยพัฒนา: “สิทธิมนุษยชน” สำคัญเสมือน “ประชาธิปไตย”

 

 

ภิเศก สายชนะพัน กล่าวว่า  “เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนประชาธิปไตยที่ต้องมีความเข้มแข็งของกฎหมาย”  ทว่าปัจจุบันการชุมนุมประท้วง หรือการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังคงมีข้อยกเว้น คือ การห้ามขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งประเด็นนี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงต้องยอมรับว่าตราบใดที่พี่น้องประชาชนยังมีข้อเรียกร้องอยู่ ประเทศนั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบ รัฐจึงต้องรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อหาทางแก้ไข

“ถ้าต้องใช้กฎหมายกับประชาชนที่ออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องแล้ว และยังใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เกินมาตรฐาน ก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย โดยมองในเรื่องขององค์ประกอบในการทำความผิด  จึงต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขจากต้นตอของปัญหาได้ ซึ่งอาจอยู่ที่กฎหมายลูก”

 

ชาติพัฒนากล้า : “อนาคตประเทศไทย อำนาจในมือประชาชน”

 

 

วรนัยน์ วาณิชกะ ประกาศว่า “จะผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนทุกคน ไม่ให้ความมั่งคั่งอยู่ในมือของคนกลุ่มเพียง 1% ของทั้งประเทศ ควรให้อำนาจอยู่ในมือประชาชน ให้ประเทศไทยมีอนาคต”

 

สามัญชน : “ยกเลิก ม. 112”

 

 

กรกนก คำตา ให้คำมั่นว่า พรคสามัญชน ย้ำ 2 นโยบายหลัก ซึ่งก็คือ การยกเลิกม. 112 เพราะเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่พวกเขาเพียงออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่ได้ไปทำร้าย หรือทำลายข้าวของใคร

ขณะที่อีกนโยบายหลัก คือ การนิรโทษกรรม 14,000 คดี ที่มีประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทับซ้อนของรัฐ เพื่อให้พวกเขาได้ทำกินบนที่ดินที่เคยทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

 

พรรคเสมอภาค : “ทวงคืนศักดิ์ศรีสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

 

 

นาดา ไชยจิตต์ ชี้ว่า สิทธิมนุษยชน 5 ด้าน แยกขาดจากกันไม่ได้ เวลาพูดถึงหลายคนมักพูดเพียงการแสดงออกอย่างเดียวจนหลงลืมประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิสตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

พรรคเสมอภาคต้องการผลักดันให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศครองสัดส่วนในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ 48 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าไม่มีคนเข้าไปพูด การแก้ไขจะไม่มีทางเกิดขึ้น

“เราทราบดีว่า เราเป็นพรรคเล็ก แต่เราขอ 1 ล้านเสียงจากสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีที่เป็นของเรา”

 

พรรคเป็นธรรม: “จุดยืนปาตานี”

 

 

กัณวีร์ สืบแสง มองว่า ทั้ง 6 คำถามจะไม่ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมเลยหากผู้นำเข้าใจปัญหาเหล่านี้ โดยพรรคเป็นธรรมยืนยัน นำพาประเทศโดยยึดหลักสิทธิมนุษชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่พึ่งพากลุ่มทุน

“สิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกนั้นจะต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเบื้องต้นคือหลักการเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ที่ประชาชนมีสิทธิในการแสดงออกและเสรีภาพในการแสดงออก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยน และแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” ไม่เพียงเท่านี้ ยังจำเป็นต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาบางมาตราที่ล้าหลัง ทำให้ประชาชนสามารถมารวมกลุ่มกันในการเรียกร้องสิทธิด้านต่างๆ ได้

“พื้นที่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของพรรคเป็นธรรม คือ ปาตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอใช้โอกาสที่พูดถึงพื้นที่ปาตานี พี่น้องปาตานียังมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ไม่จำเป็นจะต้องถูกกดทับจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างกฎอัยการศึก พระกำหนดฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง  ต้องหมดไปจากพื้นที่”

 

ท้ายที่สุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอเน้นย้ำว่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนชาวไทยจะเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่และใช้อำนาจอธิปไตยแทนพวกเขาในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งกำหนดทิศทางและสัญญาประชาคมสำหรับการบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริม คุ้มครอง และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ ตั้งแต่การปลอดจากการทรมานไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จึงเป็นโอกาสที่จะได้เห็นการเคารพต่อพันธกิจเหล่านี้และความพยายามจะขับเคลื่อนพันธกิจเหล่านี้ให้เป็นกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเตรียมปฏิบัติการภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งมีลักษณะจำกัดหรือคุกคาม การเข้าถึงสิทธินานัปการ รัฐบาลควรเสนอให้มีมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจัดตั้งกลไกเพื่อสนับสนุนให้ผู้เสียหายเข้าถึงความยุติธรรมได้ นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรให้คำมั่นสัญญาในการแก้ไขข้อท้าทายในอนาคต รวมถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผ่านการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น

 

ก่อนการเลือกตั้งในครั้งนี้ พบกับ เวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” เวทีต่อไปในวันที่ 28 เมษายน ที่ จ. ขอนแก่น 29 เมษายน ที่ จ. เชียงใหม่ และ 6 พฤษภาคม ที่ จ. ปัตตานี เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนจากพรรคการเมืองก่อนเข้าคูหา เลือกผู้แทนของคุณ!