แอมเนสตี้ย้ำแผนแก้วิกฤติผู้ลี้ภัยของ UN ล้มเหลว
เรียกร้องทุกประเทศแบ่งปันความรับผิดชอบ

14 กันยายน 2559

 

แอมเนสตี้ย้ำการประชุมเพื่อแก้วิกฤตผู้ลี้ภัยของ UN ล้มเหลว หลังหลายประเทศเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เรียกร้องทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศมั่งคั่ง ตั้งใจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากขึ้น

 

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์ระบุการประชุมเพื่อแก้วิกฤตผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติล้มเหลวอย่างน่าอนาถใจ หลังการเจรจาก่อนการประชุมดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ผู้นำโลกพลาดโอกาสสำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดหลายสิบล้านคนทั่วโลก

 

ก่อนหน้านี้ เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี-มุน ได้เสนอข้อตกลงโลกว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ร่วมกันรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศปีละ 10% ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก แต่ประเทศสมาชิกกลับพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มีการกำหนดตัวเลขผู้ลี้ภัยที่จะต้องรับเข้าประเทศ

 

ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้แผนแก้วิกฤตผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติจะไม่ถูกรับรองอย่างน้อยไปจนถึงปี 2561 โดยรัฐสมาชิกจะประกาศ “ปฏิญญานิวยอร์ก” (New York Declaration) ขึ้นมาแทน ซึ่งเป็นเอกสารแสดงความตั้งใจในการแก้ปัญหา แต่ไม่มีมาตรการแบ่งปันความรับผิดชอบผู้ลี้ภัยบรรจุอยู่แต่อย่างใด

 

แถลงการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่สมาชิกสหประชาชาติจะรับรองแผนแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอันไร้ประสิทธิภาพกันในวันที่ 19 กันยายนนี้ ส่วนในวันที่ 20 กันยายน ประธานิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา มีกำหนดจัดประชุมเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกร่วมกันช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่จงใจถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด

 

ซาลิล เซ็ตตี้ เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ในขณะที่กำลังเผชิญกับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ผู้นำโลกกลับแสดงความเฉยเมยอย่างน่าตกใจต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนที่หนีภัยการสู้รบและการประหัตประหารจากบ้านเกิดของพวกเขา ถึงตอนนี้เรารู้แล้วว่าการประชุมของสหประชาชาติถูกทำให้ล้มเหลวไม่เป็นท่า ขณะที่การประชุมของโอบามาก็ไม่ทีท่าว่าจะช่วยแก้ไขอะไรได้”

 

ซาลิล เช็ตตี้ เปิดเผยด้วยว่าแอมเนสตี้รอคอยการประชุมครั้งนี้มาสองปี ซึ่งเป็นที่ที่ผู้นำทั่วโลกควรประกาศอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อยุติวิกฤตผู้ลี้ภัยตามแผนที่เสนอโดยสหประชาชาติ แต่สหภาพยุโรป รัสเซีย และจีน กลับเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ยอมสังเวยผู้ลี้ภัยเพื่อแลกกับประโยชน์ส่วนตัว

 

“แทนที่จะแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน ผู้นำทั่วโลกกลับหลบลี้หนีหน้า การประชุมของสหประชาชาติถูกทำให้ล้มเหลวโดยกลุ่มประเทศที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ละทิ้งให้ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับหายนะที่ไร้ทางออกต่อไป” ซาลิล เช็ตตี้ กล่าว

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศที่มั่งคั่ง ให้แสดงความตั้งใจในการจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้ลี้ภัยมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ตลอดจนช่วยเหลือทางกฎหมายให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงความปลอดภัยด้วย

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ UNHCR ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยราว 21 ล้านคนทั่วโลก แต่มีเพียง 14% เท่านั้นที่พักพิงอยู่ในประเทศมั่งคั่ง โดยผู้ลี้ภัยในเอธิโอเปีย เคนยา จอร์แดน เลบานอน ปากีสถาน และตุรกีมีจำนวนมากถึง 1/3 ของผู้ลี้ภัยทั่วโลก แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีขนาดเศรษฐกิจเพียง 1.6% ของโลกเท่านั้น