สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 7 มกราคม - 13 มกราคม 2566

16 มกราคม 2566

Amnesty International Thailand

 

สหรัฐอเมริกา: แอมเนสตี้ประนามการละเมิดสิทธิที่อ่าว ‘กวนตานาโม’ ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา 

11 มกราคม 2566

 

ก่อนการครบรอบ 21 ปีของการเปิดสถานเรือนจำกวนตานาโม ที่ซึ่งทางการสหรัฐอเมริกาได้กักขังชาวมุสลิมเกือบ 780 คน โดยไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาหรือพิจารณาคดีมาเป็นเวลาหลายปี  

เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เผยว่า นับว่าเป็นเรื่องเศร้าที่ 21 ปีหลังจากการเปิดเรือนจำนอกประเทศที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อหลบเลี่ยงหลักนิติธรรม (Rule of Law) ทางการสหรัฐยังคงกักขังชาย 35 คนไว้ในเรือนจำกวนตานาโม โดยผู้ถูกกักขังส่วนใหญ่ยังไม่เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ ไม่มีใครเคยได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และหลายคนถูกทรมาน

“คณะกรรมาธิการทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีผู้ถูกกักขังบางคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม โดยปฏิเสธมิให้จำเลยได้รับการตัดสินคดีอย่างยุติธรรม และการเข้าถึงพยานหลักฐานที่สำคัญ นอกจากนี้ยังตัดสิทธิผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีจากเหตุการณ์ 9/11 ไม่ให้ได้รับความยุติธรรม” 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3GV8QL7 

 

————————

 

 

อินโดนีเซีย: การยอมรับความจริงที่หาได้ยากของประธานาธิบดีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตนั้น “ไม่มีความหมายอะไรเลยหากปราศจากความรับผิดชอบ”

11 มกราคม 2566

 

สืบเนื่องจากคำแถลงของโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียและ มาห์ฟัด เอ็มดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการการเมือง กฎหมายและความมั่นคงว่า “ได้รับทราบ” และ “มีความรู้สึกเสียใจ” กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในอดีตของอินโดนีเซีย

อุสมาน ฮามิด ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมาว่า 

“ในขณะที่พวกเราได้ชื่นชมกับท่าทีของประธานาธิบดีวิโดโด ในการยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในอินโดนีเซีย ถ้อยคำแถลงนี้ควรจะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว เมื่อพิจารณาถึงความทุกข์ยากของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งถูกทิ้งไว้ในความมืดโดยปราศจากความยุติธรรม ความจริง การชดใช้ และการแก้ไขมานานหลายสิบปี”

“แต่เพียงแค่การรับทราบโดยปราศจากความพยายามที่จะนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมาเข้าสู่การพิจารณาคดี กลับมีแต่จะทำให้สถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีกสำหรับเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา กล่าวง่ายๆ คือ คำแถลงนี้จะไม่มีความหมายอะไรเลยหากปราศจากการกล่าวถึงความรับผิดชอบและยุติการลอยนวลพ้นผิด” 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3WWZsMF 

 

————————

 

 

อิหร่าน: ชายหนุ่มเสี่ยงกับการถูกประหารชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงท่ามกลาง 'การฆ่าแบบไม่ยั้ง' 

11 มกราคม 2566

 

ทางการอิหร่านต้องยุติการประหารชีวิตผู้ต้องโทษประหารที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงทั่วประเทศโดยทันที แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา โดยประณามการประหารชีวิตโดยพลการของ โมฮัมหมัด เมห์ดี คารามี และ เซเยด โมฮัมหมัด ฮอสเซนี เมื่อวันที่ 7 มกราคม และเตือนว่า โมฮัมหมัด โกบัดลูและคนอื่นๆ เสี่ยงต่อชะตากรรมแบบเดียวกัน 

เมื่อวันที่ 2 มกราคม ศาลฎีกายืนยันการตัดสินว่ากระทำความผิดและโทษประหารของโมฮัมหมัด โกบัดลู วัย 22 ปี โดยเกี่ยวข้องกับการประท้วงทั่วประเทศที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้คำตัดสินของเขาเป็นที่สิ้นสุดและทำให้เกิดความกลัวว่าการประหารชีวิตของเขาได้ใกล้เข้ามาแล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการยังมีการประกาศโทษประหารชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงอีก 5 คดีที่ตัดสินโดยศาลปฏิวัติ

“เป็นที่น่ารังเกียจที่ทางการอิหร่านยังคงมีการเข่นฆ่าอย่างไม่ยั้งตามคำสั่งรัฐ ขณะที่พวกเขาพยายามที่จะยุติการประท้วงอย่างสิ้นหวังและยึดติดกับอำนาจด้วยการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน” ไดอานา เอลทาฮาวี รองผู้อำนวยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าว

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3vUWFb5 

 

————————

 

ปาเลสไตน์: ความกลัวอย่างร้ายแรงต่อสองพี่น้องฉนวนกาซ่าที่ถูกส่งกลับโดยหน่วยความมั่นคงปาเลสไตน์ ไปยังพ่อที่ทารุณกรรม

11 มกราคม 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลอย่างมากสำหรับความปลอดภัยของสตรีชาวปาเลสไตน์สองคนที่ยังไม่ได้รับการติดต่อมาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม หลังจากหน่วยความมั่นคงปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาบังคับให้พวกเธอกลับไปอยู่ในความดูแลของพ่อที่ทารุณกรรมพวกเธอ วิสซัม อัล-ทาวิล วัย 24 ปี และน้องสาวของเธอ ฟาติมาห์ วัย 20 ปี ต้องเผชิญกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบจากน้ำมือของพ่อเธอ ที่รวมถึงการเฆี่ยนตี การขู่ฆ่า และ “การสอบสวน” มีอยู่สองครั้งที่พ่อของพวกเธอได้ขังพวกเธอไว้ในห้องบนชั้น 6 ของอาคารที่อยู่อาศัยของครอบครัว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 35 วัน 

วิสซัม และ ฟาติมาห์ ได้หลบซ่อนตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากความพยายามที่จะหนีพ่อของพวกเธอล้มเหลวไปก่อนหน้านี้ถึงสองครั้ง ก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 5 มกราคม 2566 สองพี่น้องถูกจับกุมโดยหน่วยความมั่นคงโดยไม่มีหมายค้นหรือคำอธิบายใดๆ และถูกส่งตัวให้กับลุงของพวกเธอซึ่งได้ขับรถพาพวกเธอไปยังบ้านพ่อของพวกเธอในเมืองราฟาห์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซ่า เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 6 มกราคม หนึ่งในสองพี่น้องได้ส่งข้อความถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า: “พวกเราอยู่ที่บ้านพ่อ เขาจะพาเราไปที่ชั้นหกในอีกสักครู่ เราตายแน่” แล้วพวกเธอก็ติดต่อไม่ได้หลังจากนั้น 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3WkAF4d 

 

————————

 

เปรู : ทางการจะต้องยุติการใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับพลเรือนในทันทีและป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม

10 มกราคม 2566

 

ทางการเปรูจะต้องยุติการใช้กำลังที่ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับเหล่าประชาชนพลเรือนในทันทีเพื่อเป็นก้าวแรกในการวางรากฐานเพื่อหาทางออกจากวิกฤติที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากมีผู้เสียชีวิตไป 18 คน ที่รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองจูเลียกา ปูโน ระหว่างเมื่อวานถึงเช้าวันที่ 10 มกราคม 

นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงทางสังคมที่เริ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 40 คน ซึ่งรวมถึงผู้เยาว์ และอีกหลายสิบคนที่รวมทั้งพลเรือนและตำรวจต่างได้รับบาดเจ็บ โดยหลายคนได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนในบริบทของการปราบปรามการชุมนุมประท้วง  

“จำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงที่รวมถึง 18 คนในระหว่างช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาและความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ทำให้ทางการจะต้องรับผิดชอบในระดับสูงสุด สํานักงานอัยการแห่งชาติจะต้องสอบสวนผู้ที่สงสัยว่าเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ไม่เพียงแต่โดยตรงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการสั่งการหรือยอมให้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และการถูกทำให้ตายตามอำเภอใจและการบาดเจ็บสาหัสที่เกี่ยวข้องซึ่งเกิดขึ้นในบริบทของการชุมนุมประท้วง”เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกาเผย


อ่านต่อ: https://bit.ly/3GAEbS7