เที่ยวทิพย์กับแอมเนสตี้: ตอนจดหมายเหตุปฏิบัติการด่วน

17 มีนาคม 2566

Amnesty International

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ ประเทสไทยได้จัดกิจกรรม Amnesty Around the World หรือ กิจกรรมเที่ยวทิพย์ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เที่ยวทิพย์ครั้งแรกคือกิจกรรม “Around the world, Amnesty member connect: Milk Tea Alliance เที่ยวทิพย์ไต้หวัน” ในเดือนพฤษภาคม 2564 และเราก็ได้จัดกิจกรรมเที่ยวทิพย์เรื่อยมา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน และครั้งนี้ก็เช่นกัน เที่ยวทิพย์ 2566 ได้เริ่มต้นขึ้นในหัวข้อ จดหมายเหตุตอน ปฏิบัติการด่วน (Urgent Action)ที่ทุกคนอาจจะเคยตั้งคำถามว่าแอมเนสตี้ทำไมถึงชอบชวนให้ลงชื่อ ซึ่งเพราะอะไรการลงชื่อในปฏิบัติการด่วนยังคงสำคัญอยู่ และปีนี้ยังเป็นปีแห่งการครบรอบ 50 ปี ปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์-    เนชั่นแนล ประวัติศาสตร์ของปฏิบัติการด่วนมีที่มาที่ไปอย่างไร พบเจออุปสรรคหรือความสำเร็จใดบ้าง และคำถามที่สำคัญเลยคือ เพราะอะไรปฏิบัติการด่วนนี้ยังคงสำคัญอยู่และยืนเด่นโดยท้าทาย

เที่ยวทิพย์กับแอมเนสตี้รอบโลก ตอน จดหมายเหตุปฏิบัติการด่วนจึงเป็นการเที่ยวทิพย์ที่รวบรวมผู้คนในวงโคจรของปฏิบัติการด่วนทั้งไทยและเทศ เริ่มจาก เอมีลี่อิงแลนด์ (Emily England) เจ้าหน้าที่รณรงค์ระดับโลกประเด็นบุคคลผู้ตกอยู่ในความเสี่ยง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อเล็กแบมฟอร์ด (Alec Bamford) อาสาสมัครปฏิบัติการด่วน ประเทศไทย และ รุ้งปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมในประเทศไทย และ 1 ในเคสปฏิบัติการด่วนเมื่อปี 2564 ร่วมแจมโดย สมิตตี้ สิงห์ (Smriti Singh) รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์และการสื่อสาร สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินรายการโดย เพชรรัตน์ศักดิ์ศิริเวชกุล  ผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ช่วงแรกของรายการเพชรรัตน์ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่าจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการด่วนเริ่มที่ประเทศบราซิล พลังของตัวอักษรทำให้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงได้รับความช่วยเหลือ และนั่นได้กลายมาเป็นประตูบานแรกที่ทำให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าไม่ว่าคุณจะทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แห่งหนใด ผู้คนทั่วโลกได้จับจ้องคุณอยู่

 

จดหมายน้อยรั้วบ้านข้ามเรือก่อเกิดเป็นปฏิบัติการด่วน

เอมีลี่ อิงแลนด์ ได้กล่าวถึงความสำคัญและจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการด่วนว่า “เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองปฏิบัติการด่วนที่มีอายุครบ 50 ปี จุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1973 (19 มีนาคม พ.ศ. 2516) ศาสตราจารย์ลุยซ์ บาซิลิโอ รอสซี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโลในบราซิล และผู้นำสหภาพแรงงาน จากเหตุผลทางการเมือง เขาถูกจับกุมในบ้านพักอาจารย์ต้องถูกซ้อมทรมานอยู่ในเรือนจำ ภรรยาของอาจารย์ได้ทำการเขียนจดหมายน้อยผ่านรั้วในสวนให้กับเพื่อนบ้านทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนบ้านส่งโน้ตต่อไปยังบาทหลวง และถูกส่งข้ามเรือไปยังยุโรป ไปที่ประเทศเบลเยียม ผลคือมีนักศึกษาที่เบลเยียม รู้จักแอมเนสตี้ และได้เขียนจดหมายไปที่ลอนดอน ณ ตอนนั้นทีมทำงานคิดว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง”

“50 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรายังไม่มีเครื่องมือในการณรงค์ในกรณีที่เร่งด่วน การสื่อสารเดียวคือการเขียนจดหมาย สิ่งที่เราทำตอนนั้นคือส่งจดหมายข้อเรียกร้องไปยังเครือข่ายองค์กรทั่วโลก นักวิชาการ สหภาพแรงงาน นักข่าว อธิบายถึงสถานการณ์ของอาจารย์ลุยส์ ให้กลุ่มคนเหล่านี้เขียนจดหมายไปยังรัฐบาลประเทศบราซิล ซึ่งมันประสบความสำเร็จมากมีการเขียนจดหมายเป็นหลายร้อยฉบับสร้างแรงกดดันขึ้นมา ทางการบราซิลไม่ได้คาดหวังว่าทั่วโลกจะเขียนจดหมายมาเยอะขนาดนี้ หลังจากนั้น อาจารย์ลุยส์มีความเป็นอยู่ในเรือนจำดีขึ้น และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการด่วนที่เรายังทำงานมาจนถึงทุกวันนี้”

 

ความสำคัญของปฏิบัติการด่วนและเคสที่ประสบความสำเร็จเมื่อเร็วๆนี้

เอมีลี่ อิงแลนด์ กล่าวว่า “ปฏิบัติการด่วนเกิดขึ้นเพื่อที่จะทำการช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน องค์กรเรานั้นมีขนาดใหญ่ เรามีสำนักงานภูมิภาคด้วยกันทั้งหมด 5 ที่ทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเริ่มร่างเอกสารขึ้นมา ทำการระบุกลุ่มเป้าหมายว่าเราจะเขียนจดหมายถึงใคร ถึงรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ และเราจะเรียกร้องในประเด็นอะไร และเราจะมีการการทบทวนตรวจสอบข้อมูลที่ค่อนข้างเคร่งครัด ที่สำนักงานเลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรามีทีมกฎหมายที่จะมีการเช็คข้อมูลก่อนเสร็จสมบูรณ์ และนำส่งประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกที่มีอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ในปัจจุบันเรายังมีฟอร์มจดหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้ง ทวิตเตอร์ อีเมล เป็นต้น”

สำหรับในกรณีของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น เอมีลี่ได้เล่าถึงกรณีของ Mamadou ที่ประเทศคานาดาว่า ประสบผลสำเร็จได้รับความเป็นธรรมภายหลังจากที่เราทำปฏิบัติการด่วนออกมา

 “ตัวอย่างกรณีที่ประสบความสำเร็จคือในปี 2564 Mamadou Konaté     เป็นผู้ลี้ภัยมาจากไอวอรีโคสต์ (Ivory Coast)[1] ทวีปแอฟริกามายังประเทศแคนาดาเขาทำงานเป็นผู้ดูแลคนชราและอาศัยอยู่มามากกว่า 6 ปีช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกส่งตัวกลับและยังมีข้อพิสูจน์ว่าถ้าส่งตัวกลับไปจะมีภัยคุกคามอันตรายและนั่นทำให้เกิดปฏิบัติการด่วนขึ้นและเราสามารถรวบรวมรายชื่อได้ประมาณ 11,000 รายชื่อจากผู้คนทั่วโลกสุดท้ายรัฐบาลแคนาดาก็ยุติการส่งตัวเขากลับ

 

ประวัติศาสตร์ปฏิบัติการด่วนในประเทศไทย

อเล็ก แบมฟอร์ด ผู้ที่ทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับแอมเนสตี้และร่วมรณรงค์ในปฏิบัติการด่วนในประเทศไทย ได้ให้ภาพของปฏิบัติการด่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต และการทำงานในประเทศไทย ก่อนจะมีการตั้งแอมเนสตี้ ประเทศไทยขึ้น และได้เล่าเรื่องราวของการทำงานภายใต้ข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรและในยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย

ปฏิบัติการด่วนเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการตั้งออฟฟิศแอมเนสตี้ ในประเทศไทย ย้อนกลับไปในสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่รัฐบาลไทยได้รับจดหมายจากสมาชิกแอมเนสตี้ทั่วโลก พูดถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยตกใจ เนื่องจากเขาไม่ได้รู้จักกับเรามาก่อน และไม่ได้คาดการณ์ว่าจะมีจดหมายมากมายเหล่านี้ส่งมา จริง ๆ คนในยุคนั้นก็คงตกใจว่าฝรั่งที่ส่งจดหมายเหล่านี้เป็นใคร และเป็นหนึ่งในคนที่ได้ช่วยให้พวกเขาได้ออกมาจากเรือนจำ การใช้ปฏิบัติการด่วน ในการทำงานของผมมา 20 กว่าปี แอมเนสตี้พยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มสมาชิกเข้ามาร่วมกัน ตั้งกลุ่มทำงาน และไม่ได้รับเงิน อาสาสมัครนั้นเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ในต่างประเทศ และพวกเราใช้ปฏิบัติการด่วนในการทำงาน รับปฏิบัติการด่วนมาจากลอนดอนและกระจายไปในหมู่สมาชิก อุปสรรคอย่างหนึ่งที่สำคัญคือพวกเราสามารถรับอีเมลจากต่างประเทศได้ แต่เราไม่สามารถส่งไปยังต่างจังหวัดได้ เพราะประเทศที่ชอบละเมิดสิทธิของประชาชน มักจะไม่มีอินเทอร์เน็ต สิ่งเดียวที่พอมีและเราทำได้ในยุคนั้นคือ แฟกซ์และจดหมายตอนนั้นเราโฟกัสการทำงานไปที่ในเอเชียใต้เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่สมาชิกของเราเป็นนักศึกษาพม่าถูกจับกุมคุมขังที่ย่างกุ้ง มีการทำปฏิบัติการด่วน เขียนจดหมายให้กับเพื่อนของเรา ณ ตอนนั้นเราทำร่วมกับประเทศเนเธอแลนด์”

นอกจากนี้อเล็กยังได้ทิ้งท้ายในช่วงแรกไว้ถึงความสำคัญของปฏิบัติการด่วนว่าการลงชื่อนั้นยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในตัวของมันเองอยู่ มันอาจจะมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย แต่วิธีการดังกล่าวก็สามารถเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิได้ ดังเช่นในเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519 ที่จดหมายสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง

รุ้ง ปนัสยา จิรวัฒนกุลนักกิจกรรมในประเทศไทยและหนึ่งในปฏิบัติการด่วนปี 2564 รุ้งถูกดำเนินคดีจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ โดยรุ้งเป็นหนึ่งใน 10 กรณีของแคมเปญ Write for Rights หรือเขียน เปลี่ยน โลก 2564 และเป็นครั้งแรกที่มีกรณีจากในประเทศไทยอยู่ในแคมเปญดังกล่าว รุ้งได้รับจดหมายเป็นจำนวนมากจากคนทั่วโลกที่ส่งเข้ามา

 

พลังของปฏิบัติการด่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

 

“รุ้งเป็นนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 - 2565 เป็นผู้ถูกช่วยเหลือจากแอมเนสตี้ ที่ได้ออกปฏิบัติการด่วนมาให้กับนักกิจกรรมไทยที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เราไปยื่นหนังสือ ช่วงปลายปี 2564 มีเพื่อน ๆ เราถูกคุมขังในเรือนจำ ไผ่ เพนกวิ้น อานนท์ จำได้ว่าตอนนั้นเรารวมได้เกือบ 30,000 รายชื่อ และไปยิ่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล คนที่มารับคือผู้แทนนายกรัฐมนตรี 2 - 3 เดือนหลังจากที่เราไปยื่นปฏิบัติการด่วน เพื่อนเราทั้ง 3 คนได้รับการปล่อยตัวออกมา[2] เราเชื่อว่าปฏิบัติการด่วนเป็นหนึ่งในปฏิบัติการสำคัญที่ทำให้เกิดการหยุดดำเนินคดีกับนักโทษทางความคิดและปล่อยตัวออกมาได้จริงๆผลลัพธ์นั้นมีหลายอย่างสำหรับเราที่เป็นนักกิจกรรมเองคือเรื่องขวัญกำลังใจในการเคลื่อนไหวเป็นความช่วยเหลือส่งต่อพลังจากรายชื่อที่รวบรวมมามันไม่ใช่เพียงแค่รายชื่อแต่มันเป็นความรู้สึกคนจำนวนมากที่ร่วมสนับสนุนเรา

 

ผู้มีอำนาจใดก็ไม่อาจต้านทานพลังของประชาชนได้

“สำหรับรุ้ง รุ้งคิดว่าปฏิบัติการด่วนยังสำคัญและเวิร์ค เพราะปฏิบัติการด่วนที่รุ้งได้ไปยื่นมากับทางแอมเนสตี้ ผลลัพธ์คือเพื่อนเราได้รับการปล่อยตัว เราคิดว่าในปฏิบัติการด่วนหลายครั้งที่ผ่านมา ผลลัพธ์อาจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นการสะสมไปเรื่อย ๆ การเรียกร้องแต่ละครั้งมันไม่ได้มีแค่กลุ่มใดกลุ่มเดียว ที่ออกมาเรียกร้อง แต่มันเป็นหลายกลุ่มรวมกัน เพราฉะนั้นทุกกลุ่มต้องสะสมแรงกดดัน พลังของมวลชนต่างๆจะไปส่งความกดดันให้กับผู้ที่มีอำนาจตรงนั้นในเรื่องนั้นให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนขนาดนี้เลยนะที่ไม่เห็นด้วยและต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่างรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไม่สามารถต้านทานพลังของประชาชนจำนวนมากได้เป็นเวลานาน ปฏิบัติการด่วนเป็นพลังของการกดดันที่จำเป็นอย่างมาก ต้องเกิดขึ้นและสะสมไปเรื่อย ๆ ที่ผ่านมามันทำให้เห็นว่าเกิดขึ้นได้จริง ๆ แม้ไม่ทันที แต่เป็นระยะยาว ในประเทศไทยกระแสการเคลื่อนไหวอาจมีแผ่วบ้าง แต่ไม่ได้สะท้อนถึงว่าปฏิบัติการด่วน แบบนี้จะทำไม่ได้ ไม่ใช่เลย ยังคงทำได้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันมีผลที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการเหล่านี้อยู่”

 

 

เพชรรัตน์ ผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปบทสนทนาช่วงแรกว่า “ความกดดันต่างๆที่เป็นพลังน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นสำคัญมาก เราทำงานกดดันผู้มีอำนาจให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบมีจดหมายมากมายยังคงส่งมาที่แอมเนสตี้ประเทศไทยพลังของคนทั่วโลกได้ทำให้รัฐบาลไทยเห็นว่ามีผู้คนจับตาดูอยู่มองอยู่ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวแต่รวมไปถึงเสียงและพลังของคนทั่วโลกที่ส่งมาด้วยและนั่นยืนยันว่าพลังของคนทั่วโลกสำคัญมากจริงๆ

 

ช่วงที่สองของการพูดคุย เพชรรัตน์ ได้ชวนทั้ง 3 คนแลกเปลี่ยนพัฒนาการของปฏิบัติการด่วน จากอดีตจนถึงปัจจุบันว่า 50 ปีที่ผ่านมานั้น ปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ ควรมีการปรับปรุงอะไรบ้าง กลยุทธิ์หรือรูปแบบในการทำงานใหม่ ๆ ใด ที่ควรนำมาใช้เพื่อให้ปฏิบัติการด่วนสามารถเข้าถึงได้กับทุกคนบนโลกและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

 

ยืนเด่นโดยท้าทายพัฒนาการและความเปลี่ยนของปฏิบัติการด่วน

จากจดหมายแฟกซ์และทวิตเตอร์

อเล็กได้ให้ภาพของเอกสารปฏิบัติการด่วน จากในอดีตที่มันเรียบง่าย จนถึงปัจจุบันที่ปฏิบัติการด่วนจากแอมเนสตี้นั้นมีข้อมูลที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของบุคคล บริบทที่เกี่ยวข้อง และประเด็นสิทธิมนุษยชน

“ตัวปฏิบัติการด่วนนั้น ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลลงทุนทรัพยากรต่าง ๆ ไว้ค่อนข้างมาก และเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับการทำงาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรคิดว่าเราจะนำทรัพยากรที่สำคัญเหล่านั้นมาใช้งานได้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด หนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและดีมากคือปฏิบัติการด่วนปัจจุบันทำตัวอย่างจดหมายให้ทุกคนสามารถเขียนส่งเองได้ในภาษาของตนเองออกแบบเรียบง่ายและเพื่อให้เข้าถึงคนทุกคนเพราะไม่ใช่ทุกคนที่เขียนจดหมายได้ในภาษาอังกฤษซึ่งตัวอย่างจดหมายดังกล่าวจะทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น (ปฏิบัติการด่วนทำออกมาหลายภาษา และแอมเนสตี้แต่ละประเทศก็จะนำไปแปลเป็นภาษาของตนเอง)

“ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากอดีตมาปัจจุบันคือ วิธีการส่งปฏิบัติการด่วน นอกจากจดหมายแล้ว การส่งอีเมลก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน ส่วนแฟกซ์นั้นเข้าใจว่าหลายประเทศไม่ได้ใช้แล้ว ช่วงโควิดที่ผ่านมา ในประเทศจีนเราไม่สามารถส่งจดหมายได้ สิ่งที่เราทำตอนนั้นคือการส่งอีเมล นอกจากนี้ปฏิบัติการด่วนในเอเชียเมื่อ10 ปีที่แล้ว สถิติของการทำปฏิบัติการด่วนมีมามากกว่า 100 ครั้ง 2 ปีที่ผ่านมาทำไปแล้ว 50 ครั้ง และปีล่าสุดคือ 30 ครั้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจำนวนที่ลดลงนั้น เกิดจากการพิจารณาของแอมเนสตี้อย่างละเอียดว่าเคสไหนควรเร่งด่วนหรือไม่? ซึ่งนั่นอาจะทำให้เราสามารถทุ่มกำลังไปที่แต่ละเคสได้เยอะขึ้น การทำงานผ่านโซเชียลมีเดียรูปแบบต่าง ๆ หรือการหารือพูดคุยกับสถานทูตนั้น ๆ นอกจากนี้เราควรทำให้ปฏิบัติการด่วนมีประโยชน์มากขึ้นมีกลยุทธิ์ต่างๆในการนำใช้มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้คนตระหนักรู้จต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและมองว่าปฏิบัติการด่วนจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้” 

 

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นปฏิบัติการด่วน 

ความท้าทายในการทำงานและ“เราทำงานกับเขาไม่ใช่ทำเพื่อเขา”

 

 

เอมีลี่ คนที่ทำข้อมูลคือนักวิจัย และนักรณรงค์ เมื่อพวกเราได้รับข้อมูลจากบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยง (individual at risk) หรือจากทนายของเขา ซึ่งหากเขาอยู่ในคุก เราอาจจะต้องคุยกับทนาย หรือสมาชิกในครองครัว โดยเราจะนำข้อมูลเหล่านี้มาคุยกับฝ่ายทำรณรงค์ โดยบทบาทหลักใหญ่ ๆ ของเราคือ เรารับประกันว่างานต่าง ๆ ของเราในการทำงานกับบุคลที่อยู่ในปฏิบัติการด่วนนั้นสำคัญมาก เพราะในแง่หนึ่งมันอาจจะเกิดผลกระทบต่อบุคคลนั้น ๆ ได้ แต่ด้านหนึ่งเรื่องราวของเขาก็ทำให้ประเด็นที่เราทำงานอยู่นั้นมันมีเรื่องราว และแง่มุมความเป็นมนุษย์ ทำให้คนมีความสนใจและเข้าใจกับงานที่เราทำ ซึ่งเราระมัดระวังเป็นอย่างมากว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะไม่ส่งผลหรือความเสียหายต่อต่อบุคคลนั้น ๆ  ในแง่ของการที่เขาจะได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และยินยอมในการอยูในปฏิบัติการด่วน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักวิจัยหรือนักรณรงค์ ที่ทำงานกับบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

แนวคิดของเราอันดับแรกในการทำงานคือ เราต้องมีความซื่อสัตย์และเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาต่องานที่เราทำ ต้องพูดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเขา ในปฏิบัติการด่วน เราจะมีการพูดกับเขาบุคคลหรือตัวแทนของเขา เรื่องของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เราทำงานเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันกิจกรรมดังกล่าวก็อาจจะสร้างผลกระทบที่เราอาจจะไม่อยากให้มันเกิดขึ้น หรือว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งเราต้องพูดถึงกันอย่างเปิดเผย รับประกันว่าคนเหล่านี้จะได้รับทราบถึงความเสี่ยง ให้ความยินยอมและเต็มใจที่จะให้เราทำกิจกรรม

ต่อมาคือส่วนสำคัญหลักการในการให้ความยินยอมอย่างมีข้อมูลที่เพียงพอ เราจะให้เขาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ทางเราทำงานรณรงค์หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ มีการพุดคุยเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำกิจกรรม เพราะตัวเขาทราบข้อมูลดีที่สุด เขาจะต้องเป็นคนที่บอกเราว่าควรเป็นระยะเวลาใด หรือทำอย่างไร  ตัดสินใจเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ข้อเรียกร้อง รวมไปถึงกระบวนการทั้งหมด เราปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่ได้ปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นวัตถุ เราทำแคมเปญกับพวกเขาไม่ใช่เพื่อพวกเขา ซึ่งนั่นคือหลักการมีส่วนร่วม รับประกันว่าคนที่เราทำงานด้วยนั้นอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจ”

เอมีลี่ได้เน้นถึงเรื่องการให้ความยินยอมอย่างมีข้อมูลที่เพียงพอว่าสำคัญมาก “เรื่องการให้ความยินยอมอย่างมีข้อมูลที่เพียงพอสำคัญมาก เพราะเราทำงานกับพวกเขา กระบวนการจึงมีความสำคัญ เวลาเราทำงาน เราทำงานร่วมกัน ซึ่งในฐานะนักรณรงค์เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ระยะสั้น แต่เป็นระยะยาว ที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ และเป็นการสนับสนุนพวกเขา ให้เขาเป็นส่วนหนึ่ง และให้เขาสามารถตัดสินใจได้”

 

ก่อนที่วงสนทนาจะถึงช่วงสุดท้าย รุ้ง ปนัสยา ได้บอกกล่าวถึงความรู้สึกของตนเอง ต่อสิ่งที่ได้รับจากปฏิบัติการด่วน สำหรับรุ้งแล้ว การจะผ่านโลกที่มืดมนมาได้นั้นไม่ง่ายเลย และปฏิบัติการด่วนที่เกิดจากการลงชื่อของคนเกือบสามหมื่นคนได้ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอไม่โดดเดี่ยวและไม่ได้อยู่คนเดียว 

 

รุ้ง ปนัสยา มันเป็นความรู้สึกที่แบกโลกไว้บนบ่ามาก ทุกอย่างมันโถมมาที่เราหมดเลย ไม่ได้โถมไปที่ตัวกลุ่มองค์กร ไม่ได้โถมไปที่เพื่อนเรา รอบข้าง แต่โถมมาที่ตัวคน ๆ เดียว ซึ่งเราเข้าใจได้ว่า เวลาทำอะไรต้องมีตัวบุคคลที่เอาไว้ชูประเด็นบางอย่างอยู่เสมอ สำหรับเรานึกย้อนไปถึงตอนนั้นว่าเรารู้สึกอย่างไรเรารู้สึกว่าโลกมันค่อนข้างมืด ยิ่งตอนเราถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ รุ้งถูกคุมขังไป 3 ครั้ง ทุก ๆ ครั้งรู้สึกเหมือนว่ามันมืดแปดด้าน เราพูดเสมอว่าข้อเรียกร้อง ข้อเสนอเราคืออะไร แต่เหมือนเราพูดกับกำแพงฝ่ายรัฐคือไม่สนใจ คือจับขังเลย จับขังนาน ๆ เป็นปีก็มีมาแล้ว มันก็ยากที่เราจะทำอะไรด้วยตัวคนเดียว การต่อสู้ในแต่ละครั้งมันควรมีเครือข่าย มีแนวร่วมที่มากเพียงพอ และจะทำให้น้ำหนักในการเรียกร้องนั้นหนักแน่นขึ้น ให้คนทั่วไปรับรู้และมีแนวโน้มที่จะมาเห็นด้วยกับพวกเรา หรือแนวโน้มที่รัฐที่จะมารับฟังพวกเรามากขึ้น ตอนที่มีปฏิบัติการด่วนรวบรายชื่อที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้พวกเรานั้น เหมือนเป็นอีกมือหนึ่งที่ช่วยให้พวกเรารับรู้ว่า เรายังมีคนสนับสนุน รับรู้ว่าเราไม่ได้สู้เพียงคนเดียว มีหลายคนจำนวนมากเลยที่เขาอาจจะไม่สะดวกมาอยู่ข้างหน้า แต่อย่างน้อยเขาสะดวกลงชื่อกับคุณ มันช่วยเราได้เยอะ ทั้งในทางใจและทำให้การต่อสู้มันมีน้ำหนัก มันช่วยได้มากจริง ๆ  ต้องขอบคุณแอมเนสตี้มันต้องมีองค์กรอย่างพวกคุณที่ทำงานเย็นด้วยและงานร้อนไปด้วยเพื่อช่วยเสริมกำลังให้คนที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้

 

ภาพของปฏิบัติการด่วนในอนาคตเรื่องราวของเคสที่ชุบชูใจคนทำงานและความทรงจำ

 

 

อเล็ก การทำปฏิบัติการด่วนนั้นความสำเร็จหรือความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากสิ่งที่พวกเราทำหรือเปล่าเพราะมันอาจจะมีหลายองค์กรที่ทำงานในกรณีเดียวกันแต่คุณจะต้องมีความเชื่อความศรัทธาสิ่งเล็กๆน้อยๆที่คุณทำมันสร้างความเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จได้

“ยกตัวอย่างกรณีประธานาธิบดีมาเลเซียอันวาร์อิบราฮิม[3] ก่อนหน้านี้เขาต้องเป็นนักโทษทางการเมือง และเขาได้รับจดหมายจากแอมเนสตี้ ซึ่งตัวเขามองว่าจดหมายนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และช่วยได้จริง ๆ อีกหนึ่งตัวอย่างในประเทศไทย แต่ ณ ตอนนั้นนโยบายของแอมเนสตี้เราจะไม่ทำงานในกรณีในประเทศของตัวเอง แต่จะเป็นจากที่อื่นส่งจดหมายมาให้ ในกรณีของพี่จิ๋วจีรนุชเปรมชัยพรผู้อำนวยการเว็บไซด์ประชาไทโดนตัดสินว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์    พ.ศ. 2550 แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีการเขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยและเขียนจดหมายให้กำลังใจพี่จิ๋ว มีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้ไปสำนักงาน ประชาไท พี่จิ๋วได้รับจดหมายประมาณ 30-40 ฉบับ และบอกว่าดีใจมากที่คุณอยู่ที่นี่ คุณอเล็กช่วยอ่านจดหมายเหล่านี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม ตอนนั้น น่าจะเป็นจดหมายที่ส่งมาจากสมาชิกแอมเนสตี้ ที่ประเทศแคนาดา ที่ประเทศแคนาดานั้นเรามี 2 ออฟฟิศ คือฝั่งที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส และภาษาฝรั่งเศสก็ส่งมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพี่จิ๋วไม่รู้จะอ่านยังไง หลังจากนั้นผมเอากลับไปอ่านและแปล ไม่นานผมกลับไปที่ออฟฟิศประชาไทอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ผมเห็นถุงขนาดใหญ่มากตั้งอยู่บนพื้น มีจดหมายมหาศาล บุรษไปรษณีย์ถามพี่จิ๋วเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมีจดหมายส่งมามากมายขนาดนี้ ตอนนั้นผมน้ำตาไหลเลยนะ จดหมายส่วนใหญ่ส่งมาจากกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเทศต่าง ๆ  ผมจำจดหมายฉบับหนึ่งได้เป็นภาษาฝรั่งเศส เขียนโดย มุฮา เหม็ด ผู้ลี้ภัยเด็กที่แคว้นควิเบก เขียนว่า ถึงจิ๋วคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกนะ

 

เอมีลี่ อยากจะขอพูดถึง Mamadou Konaté จากประเทศแคนาดา มันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงและเชิงบวก เรามั่นใจเลยว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมันมาจากปฏิบัติการด่วนของเราจริง ๆ แต่ก็ใช่เหมือนที่อเล็กบอกบางครั้งเราก็อาจจะไม่รู้ว่ามันมาจากเราหรือเปล่า แต่มันชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นมาส่วนใหญ่ที่สำคัญคือเรา อีกตัวอย่างหนึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา นักกิจกรรมที่มีชื่อว่า Sultana Khaya ที่ซาฮาราตะวันตก[4] เธอทำงานในประเด็นปกป้องสิทธิการจัดการตัวเองของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมในบ้าน ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ถูกคุกคาม บุกรุกเข้าในบ้าน มีการละเมิดเธอด้วย ซึ่งแอมเนสตี้ได้ระดมคน ทรัพยากร ทุกอย่าง และทำปฏิบัติการด่วนนี้ ซึ่งคุณรุ้งได้พูดในประเด็นที่สำคัญคือการสั่งสมความกดดัน สร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วเธอออกจากบ้านได้ เดินทางไปยังสเปนเพื่อรับการรักษาได้”

“ในเรื่องของภาษานั้น เราทำความเข้าใจและพยายามปรับปรุงมาเสมอ ตอนนี้เราแปลภาษาหลัก ๆ ด้วยกัน 3 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งสมาชิกแอมเนสตี้ของเรามีทั่วโลก แต่ในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นประเทศที่บุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยงอาศัยอยู่นั้น อาจจะไม่ได้ใช้ภาษาที่เราแปลไว้ในปฏิบัติการด่วน ซึ่งเราพยายามทำตรงนี้ในการสนับสนุนให้มีการแปลเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ เพราะเราอยากให้คนในประเทศนั้น ๆ สามารถลงชื่อได้ เราพยายามแก้ไขและปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ ปรับตัวเองให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน เราใช้โซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ในการทำงาน การเรียนรู้สถานการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุง ผลลัพธ์ที่ดีคืออะไร สิ่งที่จะเวิร์คในปัจจุบันควรเป็นแบบไหน สำหรับฉัน ฉันคิดว่าปฏิบัติการด่วนยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผล แต่เราอาจจะต้องมีการปรับตัวให้มันคล่องตัวมากกว่านี้”

 

 

รุ้ง ปนัสยา “สำหรับรุ้ง เรื่อง Write for Rights เป็นเรื่องที่หนูอยากพูดมากที่สุด มันเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดตั้งแต่ถูกคุมขังมา เราเอาจดหมายบางส่วนมาแปะไว้ที่ข้างโต๊ะเขียนหนังสือ และซื้อตู้มาเก็บจดหมายด้วย สำหรับเรื่องจดหมาย รุ้งเคยพูดไว้ว่า จดหมายเป็นสิ่งเดียวที่สามารถข้ามกำแพงคุกไปได้ อย่างรุ้ง ตอนอยู่ในคุกทั้ง 3 รอบ เราได้เยี่ยมแค่ครั้งเดียว เราเจอครอบครัวแค่เฉพาะเวลาไปศาลของตลอดการคุมขัง เพราะเราเข้าไปตอนโควิดพอดี ซึ่งระบบการจัดการข้างในแย่มาก ระหว่างนักโทษทางการเมืองกับนักโทษทั่วไปนั้น นักโทษทางการเมืองอย่างเราอาจยังมีคนสนใจ แต่สำหรับนักโทษทั่วไปแทบไม่มีใครส่งจดหมายมาให้ สำหรับรุ้งมันเศร้ามาก แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะมีโครงการให้เขียนจดหมายถึงแต่ละคนที่อยู่ในคุกตอนนั้น (พูดแล้วจะร้องไห้) จดหมายมันเป็นเรื่องเดียวที่คนที่อยู่ในคุกตอนนั้นต้องการมาก วัน ๆ เราจะได้คุยกับทนายมากสุดคือ 3 ชั่วโมง ที่ทำได้ แต่ส่วนใหญ่ได้เพียงแค่ 20 นาที นอกจากนั้นไม่มีอะไรเลย คุกชายอาจจะมีข่าวให้ดูบ้าง แต่คุกหญิงไม่มีเลย เราไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร ใครทำอะไรอยู่ คนยังคิดถึงเราอยู่หรือเปล่า คนลืมเราไปหรือยังนะ การถูกลืมนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะเรากลัวว่าจะถูกขังลืม กลัวว่าจะไม่ได้ออกไปเจอใครอีกแล้ว กลัวว่าเพื่อน ๆ ที่ต่อสู้มากับเราเขาจะทิ้งเราไป มันมีความกลัวที่มันฟุ้งซ่าน คิดมากเกิดขึ้นในหัว ในคุกเวลามันเยอะมากพอที่คนจะคิดฟุ้งซ่าน เครียดมาก เศร้ามาก มันเป็นบ้าได้จริง ๆ

เรื่องจดหมายมันช่วยเยียวยาจิตใจที่สำคัญที่สุดเลยทำให้เราไม่เศร้ามากเกินไปเราไม่คิดมากเกินไปเพราะเราจะพอรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกบ้างจากเนื้อหาในจดกหมายที่คนเขียนมาหลายคนนอกจากบอกคิดถึงเขาก็จะเล่าให้ฟังว่าข้างนอกเป็นอย่างไรยังคงมีการเรียกร้องกันอยู่คนไม่ได้ลืมหนูนะประมาณนี้  มันสำคัญมากจริงๆ

เวลาเราคุยกันเรื่องจดหมาย เราก็จะคุยกับเพื่อนที่เคยเข้าเรือนจำมาด้วยกันว่าได้จดหมายมาเท่าไหร่ ใครเขียนไปหาบ้างเขียนมาว่าอย่างไร ตอนนั้นเราเข้าไปพร้อม ๆ กับเบญจา แต่รุ้งไม่ได้จดหมาย ด้วยช่วงเวลาที่เราเข้าไป เราก็จะไปถามเบญจาว่า ได้จดหมายมาเท่าไหร่ ได้มามาเยอะไหม ใครเขียนมาถึงบ้าน ซึ่งมันเป็นความสุขเล็ก ๆ ของคนที่อยู่ในนั้น ถ้าไม่มีจดหมาย เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร เพราะข้างในมันประสาทมาก

 

เพชรรัตน์ได้กล่าวเสริมในกิจกรรมเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำว่าเป็นแคมเปญที่มีชื่อว่า FreeRatsadon ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ที่จะเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเขียนจดหมายให้กับเพื่อนของของเราที่อยู่ในเรือนจำเพื่อยืนหยัดเคียงข้างกับพวกเขาและกิจกรรมดังกล่าวปัจจุบันก็ยังคงทำอยู่ต่อเนื่อง เราได้รับจดหมายตอบกลับมาจากนักกิจกรรมที่อยู่ในเรือนจำ คำขอบคุณที่มีให้กับเราและทุกคนที่ยังไม่ลืมพวกเขา และสำหรับคนทำงานเรารู้สึกดีใจที่ได้ยินจากรุ้ง ด้วยเช่นกัน ซึ่งมันสำคัญมาก ๆ กับเราในทำงานในแคมเปญนี้อยู่ ช่วงสุดท้ายของการเสวนาคุณ สมิตตี้ สิงห์ ได้มาให้ภาพรวมของสถานการณ์ สิทธิมนุษชนในเอเชียใต้และในประเทศศรีลังกา

 

สมิตตี้ เราควรมาคุยกันเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องซึ่งกันและกัน ความท้าทายของเราคือ ในอาเซียนมีคู่มือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลเขาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งพวกเราควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันบ้างในเอเชีย มีแนวโน้มในการใช้กฏหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในศรีลังกามีกฏหมายฉบับหนึ่งกฏหมายต่อต้านการก่อการร้าย ให้อำนาจรัฐคุมขังประชาชนนานถึงหนึ่งปี โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากฏหมายนี้เปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิ เป็นใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งปฏิบัติการด่วนมันเป็นความสำเร็จที่เราอาจจะไม่มีเครื่องมือที่อาจประเมินความสำเร็จได้ขนาดนั้น แต่ปฏิบัติการด่วนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เชื่อมโยงเราเข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วยและเรายังมีกิจกรรมการณรงค์อื่นๆการพูดคุยกับภาคประชาคมซึ่งปฏิบัติการด่วนเป็นเหมือนศูนย์กลางในการทำกิจกรรมในการทำงานต่างๆของเราและเป็นหนึ่งในวิธีในการสร้างแรงกดดันต่อผู้มีอำนาจซึ่งมีผู้สนับสนุนร่วมเขียนจดหมายเข้ามาทั้งสมาชิกคนทั่วไปหรือการได้รับความสนใจจากองค์กรระดับโลก

 

นอกจากรายงานปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง (Protect the Protest) และ ปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) เป็นการเชื่อมโยงผู้คนในการพูดถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและพลเมืองอื่น ๆ นอกจากนี้เรายังมีการทดลองใช้ปฏิบัติการด่วนในประเด็นอื่น ๆ ด้วย เช่น สิทธิทางสังคมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ รวมไปถึงการลองวิธีใหม่ ๆ ในการพยายามแก้ไขปัญหาหรือความท้าทายที่คุณอเล็กพูดถึง หนึ่งในความท้าทายในเอเชียใต้ เช่น ในประเทศศรีลังกาขาดการเข้าถึงเทคโนโลยี เราเลยพยายามหาวิธีที่จะรับประกันว่าจดหมายเหล่านี้จะส่งไปถึงผู้รับ รัฐบาลอินเดียและศรีลังกา มีความกังวลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ดังนั้นเราจึงใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสาร เราได้มีการแปลเนื้อหาให้เป็นภาพ เพื่อใช้ในการทวีต และพยายามหาเครื่องมือหรือวิธีการใหม่ ๆ มาทำงานมากขึ้น

 

สุดท้ายเพชรรัตน์ผู้ดำเนินรายการและเป็นผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์แอมเนสตี้ประเทศไทยและอเล็กได้แลกเปลี่ยนการทำปฏิบัติการด่วนในแอมเนสตี้ประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป อเล็กกล่าวว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยมีนโยบายในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงในการทำปฏิบัติการด่วน ที่จะไม่ทำในประเทศของตนเองที่อาศัยอยู่ เช่น เรามีกรณีในประเทศไทย แอมเนสตี้ ประเทศไทยก็จะไม่ทำการรณรงค์ในกรณีของประเทศไทย แต่จะเป็นประเทศอื่นที่เป็นผู้ทำการรณรงค์ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และเพชรรัตน์ได้เสริมข้อมูลในส่วนนี้ต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ทำการรณรงค์ปฏิบัติการด่วนในกรณีของเมืองไทย ซึ่งผ่านการตกลงร่วมกันในคณะกรรมการ ซึ่งข้อดีของการทำในประเทศตนเองคือ การที่คนในสังคมไทยรู้สึกร่วมและเข้าใจในการทำกิจกรรมรณรงค์ที่เกิดขึ้น และเราสามารถเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้เขาเพิ่มไปได้ สำหรับทางตรงกันข้ามคืออาจจะมีความเสี่ยงในการทำงานรณรงค์เกิดขึ้น แต่ในทุกครั้งที่ต้องออกไปทำกิจกรรมรณรงค์บนท้องถนน แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะทำการประเมินความเสี่ยงทุกครั้ง และเรายึดมั่นในหลักการคือความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล อุดมการณ์ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือศาสนาใด

ปฏิบัติการด่วน(Urgent Action) เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และอื่น ๆ ปัจจุบันปฏิบัติการด่วนมีอายุครบ 50 ปี ผ่านความท้าทาย การรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพยายามหาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมาทำงานรณรงค์ และนั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของปฏิบัติการด่วนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เราเชื่ออยู่เสมอว่า พลังของคนธรรมดาสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะอยู่ ณ ที่แห่งใด พลังของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะส่งไปถึงคุณอย่างแน่นอน

 

สนใจร่วมกิจกรรมดีๆ สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกแอมเนสตี้เท่านั้น สมัครสมาชิกที่ : https://www.amnesty.or.th/become-member/

 


[1] ชื่อทางการคือสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Cote d'Ivoire) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ Mamadou Konaté ได้จาก: https://www.amnesty.ca/ua-urgent-action/canada-stop-deportation-of-health-care-worker/

[2] แอมเนสตี้-รุ้ง ยื่นเกือบสามหมื่นรายชื่อถึงนายกฯ เรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่าง เข้าถึงได้จากhttps://www.amnesty.or.th/latest/news/965/

[3] [สกู๊ปพิเศษ] ย้อนรอย #1MDB กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ที่ลุกลามไปทั่วโลก! เข้าถึงได้จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/731/

[4] ปฏิบัติการด่วนของ Sultana Khaya: https://www.amnesty.org/en/documents/mde29/6031/2022/en/,