ตอบคำถาม ทำไมสิทธิมนุษยชนถึงเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก?

21 มิถุนายน 2561

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

 

นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันกีฬาระดับโลกไม่มีงานไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าฟุตบอลโลกอีกแล้ว ซึ่งในปีนี้การแข่งขันฟุตบอลโลกได้เปิดฉากไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ชมฟุตบอลโลกกว่าหนึ่งพันล้านคน ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้นั้นมีทีมฟุตบอลจาก 32 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน และจะมีการแข่งขันในเมืองต่างๆ ของรัสเซียรวม 11 เมืองด้วยกัน โดยรอบชิงชนะเลิศจะจัดการแข่งขันที่เมืองมอสโก เมืองหลวงของประเทศรัสเซีย


อีกทั้ง ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ประเทศรัสเซียได้รับบทบาทในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจากฟีฟ่าอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในรัสเซียนั้นตกต่ำลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราไม่อาจเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 21 นี้ได้


การที่ฟีฟ่าให้สิทธิ์รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศรัสเซียก่อนนั้นถ้าเปรียบกับฟุตบอลก็เหมือนกับการยิงเข้าประตูตัวเอง ซึ่งฟีฟ่าก็พยายามแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในรัสเซียมากขึ้น เราต้องมาดูกันว่าประธานาธิบดีปูตินจะกลบเกลื่อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยการจัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ได้อย่างไร


การโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศรัสเซียนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ซึ่งเราไม่สามารถระบุรายละเอียดที่ครอบคลุมทั้งหมดได้ แต่เหตุการณ์หนึ่งที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้ความสำคัญเสมอมาก็คือการข่มขู่คุกคาม การทำร้ายร่างกาย และการจับกุมคุมขังผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย


อองเดรย์ รูโดมัคกา (Andrei Rudomakha) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากผู้ประสงค์ร้ายที่ไม่รู้ว่าคือใคร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เขาเข้าไปสำรวจการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายบริเวณชายฝั่งทะเลดำ และจนถึงตอนนี้ผู้ที่ทำร้ายเขาก็ยังไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ นอกจากนี้ อิกอร์ นากาฟคิน (Igor Nagavkin) ผู้ซึ่งออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ต้องขัง และต่อสู้เพื่อให้เกิดการยุติการทรมานและการทุจริต ยังถูกจับดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดีนานถึงหนึ่งปีครึ่ง และ อายัฟ ทีทีฟ (Oyub Titiev) ก็ถูกควบคุมตัวนานเกือบหกเดือนจากการที่เขาทำงานเพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเชชเนีย


เรื่องราวของนักปกป้องสิทธิทั้งสามคนที่กล่าวไปเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามผู้ที่ออกมาประท้วงหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และจากรายงานล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศรัสเซียนั้นถูกจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในขณะนี้


ความจริงแล้ว ความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศรัสเซียนั้นตกต่ำลงเรื่อยมานับตั้งแต่รัสเซียได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2553 ออฟฟิศและพนักงานขององค์กร NGO หลายแห่งถูกคุกคามและถูกโจมตี อีกทั้งยังถูกจำกัดการทำงานและการจัดกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย


นอกจากนี้ ยังมีการทรมาน การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตคอเคซัสเหนือ การต่อต้านกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยการใช้ “กฎหมายโฆษณาชวนเชื่อ” เพื่อเอาผิดและประณามผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การล่าแม่มดจับผู้ชายที่เป็นเกย์ในเชชเนีย การไม่เอาผิดกรณีที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว การโจมตีสื่อมวลชน และการที่รัสเซียใช้สิทธิวีโต้ยับยั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรียเรื่อยมา

 

ฟีฟ่าหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่ทางการรัสเซียพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ประเทศรัสเซียกลายเป็นหลุมดำซึ่งดูดกลืนสิทธิมนุษยชน ฟีฟ่านั้นนอกจากจะท้าทายประเทศเจ้าภาพในเรื่องนี้แล้ว ยังพยายามปรับปรุงรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองให้ดีขึ้น


เป็นเวลาหลายปีที่ฟีฟ่าปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ในขณะที่มีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคนงานที่มีหน้าที่สร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวก ผู้ที่มาประท้วงด้านนอกพื้นที่จัดงาน และประชาชนที่ถูกไล่ที่เพราะทางการต้องการใช้พื้นที่อยู่อาศัยในการจัดงานนี้


หลังจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการกระทำทารุณต่อคนงาน และสภาพแวดล้อมการทำงานในการก่อสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งในประเทศรัสเซียปี 2561 นี้ และประเทศกาตาร์ปี 2565 ซึ่งไม่มีความปลอดภัย ในที่สุดทางฟีฟ่าจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น


ในปี 2559 ฟีฟ่าได้เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนลงไปในบทบัญญัติว่า “ฟีฟ่ามีพันธสัญญาที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมในระดับนานาชาติ และจะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว” และ จันนี อินฟันตีโน (Gianni Infantino) ประธานฟีฟ่าคนใหม่ยังได้กล่าวอีกว่า “ต้องจัดการกับความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ”

 

นอกจากนี้ ในปี 2560 ทางฟีฟ่ายังได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน และมีการจัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ทำให้ฟีฟ่าเป็นหนึ่งในองค์กรทางด้านกีฬาไม่กี่องค์กรที่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งฟีฟ่ายังได้เข้าร่วมในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางกีฬาและสิทธิมนุษยชน  (Centre for Sport and Human Rights) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันจากองค์กรหลายภาคส่วนอีกด้วย

 

อย่าให้การแข่งขันที่สวยงามต้องกลายเป็นการแข่งขันที่น่ารังเกียจ

ในปี 2557 ประเทศรัสเซียได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชี ซึ่งการจัดงานครั้งนั้นมีการจับกุมและทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงเกือบทุกวัน ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้จะมีการกดขี่ข่มเหงในลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง


ในการจัดงานในครั้งนั้น คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee) ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการปราบปรามและการริดรอนเสรีภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การทำร้ายร่างกาย การสอบสวน การข่มขู่คุกคามผู้ประท้วง และการสอดแนมผู้สื่อข่าวอย่างเป็นวงกว้าง


สองสัปดาห์ก่อนที่การแข่งขันที่ประเทศรัสเซียจะเริ่มขึ้น ฟีฟ่าได้จัดทำกลไกการร้องเรียนสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจากสื่อต่างๆ เพื่อรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และฟีฟ่ายังยืนยันที่จะสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟีฟ่าอีกด้วย


การจัดทำกรอบแนวทางเพื่อจัดการกับปัญหาและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญ แต่มันก็เป็นเพียงก้าวแรก รายงานด้านสิทธิมนุษยชนของฟีฟ่าจะได้รับการประเมินจากการกระทำของฟีฟ่าเอง ในขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาของฟีฟ่ารายงานว่ามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจากการที่มีการพิจารณาประเด็นที่เสนอโดยกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่คณะกรรมการก็ได้กำชับว่า “แนวทางที่จัดทำขึ้นนี้จะต้องเป็นแนวทางพื้นฐานสำหรับทุกกรณีในอนาคตในการจัดการกับการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของฟีฟ่า”


ในขณะที่ฟีฟ่ากำลังแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ทางการรัสเซียเองก็ได้พยายามละเมิดสิทธิมนุษยชนท่ามกลางสายตาของประชาคมโลก ทำให้ฟีฟ่าต้องทำงานหนักขึ้น


ประธานฟีฟ่า จันนี อินฟันตีโน ได้ประกาศว่าฟุตบอลโลกที่รัสเซียจะเป็น “ปาร์ตี้ฟุตบอล” ซึ่งเขาจำเป็นต้องใช้อิทธิพลทั้งหมดที่มีในการทำให้แน่ใจว่าการเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนโดยประธานาธิบดีปูตินนั้นจะไม่ทำให้งานหมดสนุก


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดรณรงค์เนื่องในโอกาสการจัดงานฟุตบอลโลกในครั้งนี้ โดยใช้ชื่อว่า ‘Team Brave’ โดยการรณรงค์นี้ให้ความสำคัญกับนักกิจกรรมชาวรัสเซียทั้งหมด 11 คน ซึ่งถูกเอาผิดและลงโทษจากการที่พวกเขาออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชน

อ่านเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้ว่าคุณจะมีส่วนช่วยสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวรัสเซียได้อย่างไร
http://eng.teambrave.ru/