การจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมากในฮ่องกง เน้นให้เห็นอำนาจแบบเผด็จการของพระราชบัญญัติความมั่นคง

7 มกราคม 2564

Amnesty International 

AFP/Getty Images

สืบเนื่องจากการจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านของฮ่องกงประมาณ 50 คนตอนเช้าของวันพุธ ในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติความมั่นคง ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า 

 

“การกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายค้านของฮ่องกงที่น่าตกใจครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการจับกุมผู้สมัครรับเลือกตั้ง นักกิจกรรม และผู้สำรวจความเห็น เป็นสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนสุดว่า พระราชบัญญัติความมั่นคงได้ถูกใช้เป็นอาวุธ เพื่อลงโทษบุคคลที่กล้าท้าทายสถาบันหลัก”

“กฎหมายที่โหดเหี้ยมให้อำนาจรัฐบาลจีนและฮ่องกง ในการบดขยี้ผู้เห็นต่างตามอำเภอใจ ทำให้ผู้วิจารณ์รัฐบาลทุกคนเสี่ยงจะถูกคุมขัง การจับกุมในวันนี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายนี้อาจถูกใช้ในบริบทอย่างกว้างขวาง แม้ในกรณีที่อาจไม่ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อความมั่นคงของรัฐก็ตาม  

“การดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาและนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยหลายสิบคนในข้อหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ เพียงเพราะจัดการลงคะแนนเพื่อหยั่งเสียงผู้สมัครเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการมุ่งโจมตีอย่างชัดเจนต่อสิทธิในการแสดงออกและการสมาคมอย่างสงบ ประชาชนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ กลุ่มคัดค้านรัฐบาลไม่ควรถูกปิดปากเพียงเพราะรัฐบาลไม่ชอบพวกเขา”

“รัฐบาลฮ่องกงต้องยุติการปฏิบัติที่อันตราย การปฏิบัติต่อผู้วิจารณ์ราวกับเป็นอาชญากรและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ จนกว่าจะมีพยานหลักฐานว่าผู้ที่ถูกจับกุมในวันนี้ ได้กระทำความผิดที่ถือเป็นความผิดอาญาตามหลักการสากล พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวทันที” 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยฮ่องกงประมาณ 50 คนถูกจับเมื่อเช้าวันพุธ โดยถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระราชบัญญัติความมั่นคงของฮ่องกง

จากรายงานข่าวของสื่อและโซเชียลมีเดีย พวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” สืบเนื่องจากการจัดตั้งและการเข้าร่วมในการลงคะแนนเพื่อหยั่งเสียงเบื้องต้นตามชื่อที่พวกเขาเรียก สำหรับผู้สมัครที่จะลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งต่อมามีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเนื่องจากปัญหาโรคโควิด-19  

ในบรรดาผู้ถูกจับกุมประกอบด้วย อดีตสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภาเขต ผู้จัดการลงคะแนนหยั่งเสียง ได้แก่ เบนนี ไถ่ และจอห์น แคลนซี ทนายความชาวอเมริกัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกของหนึ่งในองค์กรผู้จัด นอกจากนั้น ยังมีโรเบิร์ต ชุง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยความเห็นสาธารณะฮ่องกง (Public Opinion Research Institute - PORI) ซึ่งสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้กับการออกเสียงครั้งนี้

ตำรวจยังได้บุกเข้าไปตรวจค้นบ้านของโจชัว หว่อง นักกิจกรรมที่อยู่ระหว่างถูกคุมขัง ตามข้อมูลจากทวิตเตอร์ของเขาเอง ในขณะเดียวกัน ตำรวจยังไปที่สำนักงานหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลี และสแตนด์ เพื่อหาข้อมูลการติดต่อผู้ลงสมัครที่ผ่านการหยั่งเสียงครั้งนั้น  

ฝ่ายประชาธิปไตยได้จัดการออกเสียงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้ว เพื่อคัดเลือกผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยที่จะลงแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยคาดหวังว่าจะได้รับเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ และอาจมี ส.ส. มากกว่า 35 ที่นั่ง  

แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว แคร์รี หลำ ผู้ว่าการฮ่องกง กล่าวว่า การออกเสียงครั้งนั้นผิดกฎหมาย และเตือนว่าอาจเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติความมั่นคง ซึ่งมีการปะกาศใช้ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น