แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งสัญญาณเตือนถึงช่วงเวลาสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ท่ามกลางการละเมิดหลักเกณฑ์อย่างโจ่งแจ้งของรัฐบาลและบรรษัท

24 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : Getty Images

  • รัฐบาลที่ทรงอำนาจได้ผลักให้ยุคสมัยของมนุษยชาติเข้าสู่ยุคหลักนิติธรรมระหว่างประเทศไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พลเรือนกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้  
  • ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้ถูกใช้เป็นพื้นฐานเพื่อบ่มเพาะการเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และการแบ่งแยกในปีสำคัญแห่งการเลือกตั้ง  
  • ประชาชนทั่วโลกได้ยืนหยัดต่อต้านการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ คนจำนวนมากรวมตัวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อเรียกร้องการคุ้มครอง และการเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องความเป็นมนุษย์ร่วมกันของเรา  

 

 

“โลกกำลังได้รับผลกระทบที่น่ากลัวจากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยในการเปิดตัว “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2566” ในวันนี้ ซึ่งเป็นการรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 155 ประเทศทั่วโลก 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนถึงการล่มสลายของหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ AI ประกอบกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) ทำให้เกิดความเสี่ยงของ “การเร่งให้เกิด” การละเมิดสิทธิมนุษยชน หากการกำกับดูแลยังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับความก้าวหน้าขอ AI  

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่น เผยว่ารายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฉายภาพที่น่ากังวลของการปราบปรามสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมระดับโลกที่หยั่งรากลึกมากขึ้น ประเทศมหาอำนาจต่างแย่งชิงความเป็นใหญ่ และทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น 

“การเพิกเฉยอย่างโจ่งแจ้งต่อกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอล ส่งผลเลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากพันธมิตรของอิสราเอลก็ไม่สามารถยุติการนองเลือดอย่างทารุณของพลเรือนที่เกิดขึ้นในกาซาได้ ประเทศพันธมิตรหลายแห่งเหล่านี้ต่างเคยเป็นผู้ออกแบบระบบกฎหมายในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  นอกจากสงครามของรัสเซียที่ยังคงกระทำต่อยูเครนแล้ว เราได้เห็นการขัดแย้งกันด้วยอาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นในซูดาน เอธิโอเปีย และเมียนมา ระเบียบโลกที่อยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์เสี่ยงจะถูกทำลายจนสิ้นเชิง”  

สภาวะที่ไร้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติ และการลอยนวลพ้นผิดในความขัดแย้งและปัญหาอื่นๆ ถูกทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะจากการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างปราศจากการกำกับดูแล และในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธโดยหน่วยงานทหาร หน่วยงานการเมืองและบรรษัทอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่แพลตฟอร์มของ Big Tech เป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้ง พบการใช้สปายแวร์และเครื่องมือสอดแนมในวงกว้างเพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขณะที่รัฐบาลใช้เครื่องมือแบบอัตโนมัติโดยมี ”กลุ่มที่อยู่ชายขอบ” อยู่ในกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดในสังคม  

“ในโลกที่มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น การส่งเสริมและการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างขาดการกำกับดูแล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก AI เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) และสปายแวร์ มีแนวโน้มจะนำไปสู่ศัตรูที่ร้ายกาจ จะยิ่งช่วยขยายตัวและทวีคูณการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” 

“ในปีสำคัญแห่งการเลือกตั้ง และท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการเจราจาต่อรองเพื่อวิ่งเต้นในการต่อต้านการควบคุมกำกับ และการได้รับทุนสนับสนุนจาก Big Tech สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เลวร้ายและปราศจากการกำกับดูแลว่า กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเราทุกคน เพราะอาจถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อเลือกปฏิบัติ เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และสร้างความแตกแยก”  

 

ท่ามกลางความขัดแย้ง พลเรือนต้องแบกรับผลกระทบมากสุด ขณะที่รัฐยังคงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ 

 

Palestinians evacuate the area following an Israeli airstrike on the Sousi mosque in Gaza City on October 9, 2023.

Palestinians evacuate the area following an Israeli airstrike on the Sousi mosque in Gaza City on 9 October, 2023.

 

People pass a bag from a small dinghy up to a person leaning out a window.

Servicemen of the National Guard of Ukraine deliver food to the residents of a flooded area in Kherson on 8 June, 2023, following damages sustained at Kakhovka hydroelectric power plant dam. Ukraine and Russia accused each other of shelling in the flood-hit Kherson region even as rescuers raced to save people stranded after the destruction of a Russian-held dam unleashed a torrent of water.

 

Women and children wait in a long queue with containers to fill with water.

Sudanese refugees queuing up to fetch water in Adre, Eastern Chad, 26 June 2023.

 

รายงานของแอมเนสตี้ ประเมินอย่างเห็นได้ชัดถึงการทรยศต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนโดยผู้นำและสถาบันที่มีอยู่ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีคูณ ส่วนปฏิบัติการของรัฐที่ทรงอิทธิพล กลับยิ่งสร้างความเสียหายหลายเท่าให้กับความเชื่อมั่นที่มีต่อระบอบพหุภาคี และยังกร่อนเซาะระเบียบโลกที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักเกณฑ์ และได้รับการสถาปนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 2488  

ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งความขัดแย้ง และไม่มีทีท่าว่าจะลดทอนความรุนแรงลง แม้หลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าการก่ออาชญากรรมสงครามยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น รัฐบาลอิสราเอลยังคงดูหมิ่นเหยียดหยามกฎหมายระหว่างประเทศในกาซาต่อไป ภายหลังการโจมตีที่โหดร้ายของกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในวันที่ 7 ตุลาคม ทางการอิสราเอลตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดอย่างไม่หยุดหย่อนในพื้นที่พักอาศัยของพลเรือน ทำให้สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตไปทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์เกือบ 1.9 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางความอดอยากหิวโหยที่เพิ่มขึ้นในกาซา 

รายงานนี้ชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจวีโต้ของสหรัฐฯ อย่างปราศจากความละอาย เพื่อปิดกั้นการทำหน้าที่ของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ไม่สามารถเห็นชอบต่อข้อมติที่ให้มีการหยุดยิงซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น สหรัฐฯ ยังคงส่งอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้กับอิสราเอล เพื่อกระทำการที่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม จนเกิดสภาวะสองมาตรฐานที่เลวร้ายในประเทศแถบยุโรป รวมทั้งสหราชอาณาจักร และเยอรมนี ซึ่งเห็นได้จากการประท้วงของพวกเขาต่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซียและฮามาส ขณะเดียวกัน กลับสนับสนุนปฏิบัติการของอิสราเอลและสหรัฐฯ ในความขัดแย้งครั้งนี้ 

“ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของประชาคมโลกในการคุ้มครองพลเรือนหลายพันคนจากการถูกสังหารในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ภาพการเสียชีวิตเหล่านี้ทำให้เกิดความชัดเจนว่า สถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองพลเรือนและปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถทำหน้าที่ตามเป้าประสงค์นี้ได้อีกต่อไป สิ่งที่เราเห็นในปี 2566 ยืนยันว่าประเทศมหาอำนาจจำนวนมาก ได้ทอดทิ้งคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และความเป็นสากล ซึ่งเป็นองค์ประกอบของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”

รายงานนี้ได้บันทึกข้อมูลการละเมิดหลักเกณฑ์อย่างโจ่งแจ้งของกองกำลังทหารรัสเซีย ระหว่างการรุกรานยูเครนอย่างเต็มกำลัง กองกำลังทหารรัสเซียเน้นให้เห็นการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่หนาแน่น รวมทั้งการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการส่งออกธัญพืช และการใช้การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ต่อเชลยสงคราม ทั้งนี้ยังรวมถึงการทำลายล้างด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลผ่านการกระทำต่างๆ รวมทั้งการจงใจทำลายเขื่อนคาโคฟคา ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากกองกำลังทหารรัสเซีย  

กองทัพเมียนมาและกลุ่มทหารบ้านที่เป็นพันธมิตร ยังคงจงโจมตีพลเรือน และส่งผลให้ในปี 2566 มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่า 1,000 คน รัฐบาลไม่ยอมตอบข้อซักถามตามรายงานที่กล่าวหาว่ามีการละเมิดอย่างโจ่งแจ้ง หรือแม้แต่ความพยายามที่จะดำเนินการสอบสวนตามข้อกล่าวหานี้ กลุ่มทหารทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความสนับสนุนด้านการเงินและการทหารจากจีน  

ในซูดาน คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย รวมทั้งกองทัพแห่งซูดานและกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว แทบจะไม่แสดงข้อกังวลใดๆ ต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในระหว่างที่พวกเขาทำการโจมตีทั้งแบบมีเป้าหมายและไม่เลือกเป้าหมาย ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และการยิงระเบิดเข้าใส่พื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คนในปี 2566 ทั้งยังส่งผลให้เกิดวิกฤตการพลัดถิ่นที่ใหญ่สุดในโลก ประชาชนกว่าแปดล้านคนถูกบังคับให้ต้องหลบหนี ในขณะที่ยังไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งจะยุติลง ทำให้วิกฤตความอดอยากที่ครอบคลุมซูดานมาหลายเดือน กำลังพัฒนาขึ้นเป็นทุพภิกขภัย ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนอาหารหรือข้าวยาหมากแพง   

 

การใช้เทคโนโลยีเพื่อยุยงให้เกิดความเกลียดชัง การแบ่งแยก และการเลือกปฏิบัติ เป็นภัยคุกคามต่อปีสำคัญแห่งการเลือกตั้ง  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่า หน่วยงานทางการเมืองในหลายภาคส่วนของโลก กำลังเร่งปฏิบัติการโจมตีต่อผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และชุมชนชายขอบ ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพวกเขาต้องตกเป็นแพะรับบาปจากการแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางการเมืองหรือการเลือกตั้ง เทคโนโลยีที่ออกมาใหม่และที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถูกใช้เป็นอาวุธมากขึ้นเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการกดขี่การเมืองในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การยุยงให้ชุมชนแตกแยกกัน และการโจมตีทำร้ายชนกลุ่มน้อย  

รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนนโยบายที่เลือกปฏิบัติ ขณะที่ประเทศต่างๆ รวมทั้ง อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย และสหราชอาณาจักร ได้ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพิ่มมากขึ้น ในการควบคุมการชุมนุมประท้วงและการแข่งขันกีฬา และการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนชายขอบ โดยเฉพาะผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัย จากการยื่นคำร้องตามกฎหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งนิวยอร์กต้องเปิดเผยข้อมูลในปี 2566 ว่าได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับการชุมนุมประท้วงแบล็คไลฟ์แม็ทเทอร์ เพื่อการสอดแนมข้อมูล 

การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอย่างเลวร้ายถูกใช้อย่างแพร่หลายในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตยึดครองปาเลสไตน์ โดยอิสราเอล ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อสนับสนุนการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และการรักษาระบบแบ่งแยกเชื้อชาติและกดขี่เอาไว้ 

ในเซอร์เบีย การนำระบบสวัสดิการสังคมแบบกึ่งอัตโนมัติมาใช้ ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือสำคัญด้านสังคม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนชาวโรมาและคนพิการ สะท้อนให้เห็นว่าระบบอัตโนมัติที่ขาดการควบคุมกำกับ อาจส่งผลให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมเลวร้ายลง   

ขณะที่ประชาชนหลายล้านคนหลบหนีจากความขัดแย้งทั่วโลก รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ละเมิดสิทธิเหล่านี้มาใช้ เพื่อการจัดการคนเข้าเมืองและการบังคับใช้กฎหมายที่พรมแดน รวมทั้งการใช้มาตรการทางดิจิทัลในการควบคุมตัว เทคโนโลยีที่กีดกันไม่ให้ผู้ขอลี้ภัยเข้าสู่พรมแดนของตน (border externalization technologies) ซอฟต์แวร์จัดการข้อมูล เทคโนโลยีในการยืนยันตัวตนตามลักษณะทางกายภาพและระบบการตัดสินใจโดยใช้อัลกอริทึม การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไปจะยิ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเชื้อชาติ และการสอดแนมข้อมูลที่ไม่ได้สัดส่วนและโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อคนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ 

นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่การใช้สปายแวร์ยั งคงไม่มีการควบคุมกำกับการใช้ แม้จะมีหลักฐานอย่างยาวนานที่ชี้ให้เห็นว่า สปายแวร์นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักกิจกรรมที่ลี้ภัย ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่มักตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของการโจมตี ในปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดโปงการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับผู้สื่อข่าว และนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ รวมทั้งอาร์เมเนีย สาธารณรัฐโดมินิกัน อินเดีย และเซอร์เบีย ในขณะที่สปายแวร์ที่ผลิตขึ้นในสหภาพยุโรป ที่ขาดการควบคุมกำกับยังคงถูกขายอย่างเสรีให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก  

ในปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างรวดเร็วของ AI ยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงของภัยคุกคามจากเทคโนโลยีระดับต่างๆ ที่มีอยู่ ตั้งแต่การใช้สปายแวร์ไปจนถึงระบบอัตโนมัติของรัฐ และอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่ไร้การควบคุมดูแล  

ในความก้าวหน้าที่ตอบสนองความโลภ การกำกับดูแลส่วนใหญ่ยังคงชะงักงัน อย่างไรก็ดี มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายในยุโรปได้เริ่มต้นปฏิบัติงานแล้ว ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติบริการทางดิจิทัลที่มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แม้จะเป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์แบบและยังมีข้อบกพร่อง แต่สามารถกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายถกเถียงระดับโลกที่จำเป็นต่อการกำกับดูแล AI  

“มีช่องว่างมหาศาลเมื่อเทียบระหว่างความเสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ปราศจากการกำกับดูแล กับสิ่งที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นในมุมของการกำกับดูแลและการคุ้มครอง มันเป็นอนาคตที่ถูกทำนายไว้ และจะยิ่งเลวร้ายลง หากไม่มีการควบคุมการสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อเทคโนโลยีที่ขาดการกำกับดูแล”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดโปงเฟ๊ซบุ๊กในการใช้อัลกอริทึมที่มีส่วนสนับสนุนการใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ในเอธิโอเปีย ในบริบทของความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นอาวุธเพื่อยุยงให้ชุมชนต่างๆ ต่อสู้กันเอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ขาดเสถียรภาพ  

หน่วยงานสิทธิมนุษยชนได้คาดการณ์ว่า ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในปีสำคัญแห่งการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการใช้แม่แบบธุรกิจที่มีพื้นฐานมาจากการสอดแนมข้อมูล เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สำคัญ รวมทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กต็อก และยูทูบ ซึ่งเหมือนเป็นตัวเร่งให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของการเลือกตั้ง  

“เราได้เห็นแล้วว่า ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ และการจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ได้ถูกกระจายและเผยแพร่ผ่านอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียอย่างไร ทั้งหมดเพื่อมุ่งทำให้เกิด ‘เอนเกจเมนต์’ มากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้เกิดวงจรข้อมูลสะท้อนกลับที่ไม่มีวันจบและอันตราย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เครื่องมือเหล่านี้สามารถสร้างภาพ เสียง และวิดีโอแบบสังเคราะห์ขึ้นมาในเวลาไม่กี่วินาที รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มได้อย่างกว้างขวาง ขณะที่ระบบกฎหมายและผู้บัญญัติกฎหมายไม่สามารถตามภัยคุกคามนี้ได้ทัน จนถึงทุกวันนี้ เราได้เห็นแต่คำพูดที่มาจากลมปาก แต่แทบไม่มีการปฏิบัติหรือทำให้เห็น”  

ในเดือนพฤศจิกายน จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ท่ามกลางสภาพของการเลือกปฏิบัติ การคุกคาม และการปฏิบัติมิชอบผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยมีเป้าหมายไปที่ชุมชนชายขอบ และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คอนเทนต์ที่การคุกคามและข่มขู่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นการต่อต้านการทำแท้ง 

ผู้คนกว่าพันล้านคนในอินเดียจะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งปีนี้ ในสถาการณ์ที่การโจมตีผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการเลือกปฏิบัติยังมีอย่างเป็นระบบต่อชนกลุ่มน้อยด้านศาสนา ในปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยให้เห็นว่า มีการใช้สปายแวร์โจมตีผู้สื่อข่าวชาวอินเดียที่มีชื่อเสียง และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสมรภูมิทางการเมือง  

“นักการเมืองได้บิดเบือนวาทกรรม ‘พวกเรา” กับ ‘พวกเขา’ เพื่อเรียกคะแนนเสียงมานานแล้ว และกลบเสียงของคนที่ตั้งคำถามอย่างชอบธรรมเกี่ยวกับความกลัวด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เราได้เห็นการใช้เทคโนโลยีที่ปราศจากการกำกับดูแล รวมทั้งเทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อตอกย้ำการเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้น โมเดลธุรกิจของ Big Tech ที่มีพื้นฐานจากการสอดแนมข้อมูล ยิ่งเติมเชื้อเพลิงเข้าไปสู่ไฟของความเกลียดชัง ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ผู้มีจิตคิดร้ายสามารถส่งเสียง ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์ และสร้างวาทกรรมที่เป็นอันตรายเพื่อกระชับอำนาจของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ด้านการเลือกตั้ง เป็นอนาคตที่น่าหวาดกลัวในขณะที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีแซงหน้าความรับผิดไป”  

  

การเคลื่อนไหวระดับโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

A protester shouting and holding up a 'keep abortion legal' sign.

Faith Halstead, chants along with other protesters and activists near the Florida State Capitol where Florida State Senators voted to pass a proposed 6-week abortion ban in Tallahassee, Florida, USA, on 3 April, 2023.

 

Women march in the street holding placards.

Afghan women hold placards as they march to protest for their rights, in Kabul on 29 April, 2023.

 

A crowd of people hold candles and placards denouncing violence against women.

Demonstrators carry out a candle light protest over sexual violence against women in India’s north-eastern state of Manipur, in Guwahati, India, on 26 July, 2023.

 

“เราได้เห็นการทำงานของรัฐมหาอำนาจและหน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐอันปราศจากหลักเกณฑ์ที่มีประสิทธิผล ส่งผลให้โลกเกิดความโกลาหลมากขึ้น ในโลกที่เทคโนโลยีมุ่งแสวงหากำไรอย่างโหดร้ายและปราศจากการกำกับดูแลที่เป็นผล ได้กลายเป็นบรรทัดฐานไป แม้ในเวลาที่ได้เห็นรัฐบาลหลายประเทศไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ได้เห็นเช่นเดียวกันว่ามีบุคคลอีกหลายคนเรียกร้องให้สถาบันระหว่างประเทศปฏิบัติตามหลักนิติธรรม และในที่ที่ผู้นำทั่วโลกไม่ลุกขึ้นเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เราได้เห็นประชาชนที่เต็มไปด้วยจิตใจแน่วแน่นให้ออกมาเดินขบวน การชุมนุมประท้วง และยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้มีอนาคตที่มีความหวังมากขึ้น”  

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส กระตุ้นให้เกิดการประท้วงหลายร้อยครั้งทั่วโลก ประชาชนเรียกร้องให้หยุดยิงเพื่อยุติความทุกข์ทรมานอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา รวมทั้งให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวไว้โดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ พวกเขาทำเช่นนี้มานานก่อนรัฐบาลหลายประเทศจะออกมา ในหลายๆ ที่พบประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ทั้งในสหรัฐฯ เอลซัลวาดอร์ และโปแลนด์ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะทำแท้ง แม้จะถูกโจมตีจากทั่วโลก แต่ประชาชนหลายพันคนได้เข้าร่วมกับขบวนการ “Friday For Future (วันศุกร์เพื่ออนาคต) มีแกนนำเป็นเยาวชน เพื่อเรียกร้องให้มีการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเป็นธรรมและอย่างรวดเร็ว 

การรณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยังนำไปสู่ชัยชนะครั้งสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ.2566 ภายหลังการกดดันของขบวนการ #MeToo ในไต้หวันและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อให้ยุติความรุนแรงทางเพศทางออนไลน์ รัฐบาลได้ประกาศใช้ร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม “พระราชบัญญัติป้องกันอาชญากรรมการทารุณทางเพศ” ของไต้หวัน  

แม้ว่าที่ประชุม COP28 จะยังคงไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมด แต่อย่างน้อยมีการเห็นชอบต่อ “การเปลี่ยนผ่านออกจาก” เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลในข้อมติของที่ประชุม COP ในตุรกี ภายหลังการรณรงค์หลายปีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสี่คนในคดีบูยูกาดา รวมทั้งทาเนอร์ คิลลิช ไอดิล อีเซอร์ เอิซเลม ดัลคิราน และกุนาล เคอร์ซุน ซึ่งถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในเดือนกรกฎาคม 2563 ในข้อหาที่ปราศจากมูลความจริง สุดท้ายแล้วศาลก็ได้ยกฟ้องพวกเขา  

อีกตัวอย่างหนึ่ง มาติลาห์ เวสา นักการศึกษาชาวอัฟกานิสถานได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2566 หลังจากได้รณรงค์เป็นเวลาหลายเดือน เขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำเกือบเจ็ดเดือน จากการสนับสนุนสิทธิของเด็กหญิงที่จะได้เรียนหนังสือ และการวิจารณ์นโยบายของกลุ่มตอลีบันที่ห้ามไม่ให้เด็กหญิงเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา    

“สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฉายไฟให้เห็นการปฏิบัติมิชอบ และความรับผิดชอบของผู้นำ ประชาชนได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกเขาต้องการสิทธิมนุษยชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการรับฟัง”  

“จากสถานการณ์ระดับโลกที่ดูน่ากังวล เราจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมบทบาทของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองมนุษยชาติ ต้องมีการดำเนินงานเพื่อปฏิรูปสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกถาวรสามารถใช้อำนาจวีโต้อย่างขาดการตรวจสอบ เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการคุ้มครองพลเรือน และใช้อำนาจเพื่อหนุนเสริมพันธมิตรด้านภูมิศาสตร์การเมือง รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังต้องดำเนินงานการด้านนิติบัญญัติและกรอบกำกับดูแลอย่างเข้มแข็ง เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงและอันตรายที่เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเพื่อควบคุมกำกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่”  

 

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ  

  • รายงาน สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ครอบคลุม 155 ประเทศ ให้ภาพรวมของทั้งห้าภูมิภาค และการวิเคราะห์ระดับโลก รวมทั้งคำนำของแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการสากลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งให้ภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนด้วยคำพูดของเธอเอง  
  • การวิเคราะห์ระดับโลก เน้นที่สี่ประเด็น ซึ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มระดับโลกบางส่วนตามข้อมูลในรายงานนี้ ได้แก่ ความสูญเสียที่ต้องจ่ายของพลเรือนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ การโต้ตอบทางลบที่เพิ่มขึ้นต่อการขับเคลื่อนในประเด็นความยุติธรรมทางเพศ ผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนของวิกฤตด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อชุมชนชายขอบเกือบทั้งหมด และภัยคุกคามของเทคโนโลยีแบบใหม่และที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง AI ซึ่งจากมุมมองของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สะท้อนให้เห็นปัญหาท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2567 และปีต่อๆ ไป