สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 16-22 มีนาคม 2567

28 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

ฮ่องกง: การผ่านกฎหมายมาตรา 23 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งหายนะด้านสิทธิมนุษยชน

19  มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากการผ่านกฎหมายปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ (มาตรา 23) ของฮ่องกง

ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคปรจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ด้วยกฎหมายที่เข้มงวดนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้โจมตีสิทธิมนุษยชนในเมืองนี้อีกครั้ง ทางการได้ออกกฎหมายนี้ในชั่วพริบตา ทำลายความหวังที่เหลืออยู่ว่าเสียงเรียกร้องของสาธารณชนจะสามารถต่อต้านการทำลายล้างครั้งรุนแรงนี้ได้

“การผ่านกฎหมายฉบับนี้เป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนที่สุดว่าความกระหายของทางการฮ่องกงที่จะอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาลปักกิ่งอยู่เหนือกว่าคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนใดๆ ในอดีต รัฐบาลเพิกเฉยต่อคำเตือนเร่งด่วนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าแนวทางการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของฮ่องกง

“เหนือสิ่งอื่นใด นี่เป็นช่วงเวลาแห่งหายนะสำหรับชาวฮ่องกง ซึ่งก่อนหน้านี้ประชาชนหลายแสนคนได้เดินขบวนไปตามถนนเพื่อต่อต้านกฎหมายเผด็จการ รวมถึงการร่างกฎหมายฉบับนี้ในปี 2546 และในปัจจุบัน พวกเขาได้สูญเสียเสรีภาพไปอีกส่วนหนึ่ง การชุมนุมประท้วงโดยสงบในตอนนี้มีอันตรายยิ่งกว่าที่เคย

“สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรต่างๆ เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวฮ่องกงที่เสรีภาพยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงเพียงเพราะใช้สิทธิของตน

“เราขอเรียกร้องให้ทุกคนที่มีอิทธิพลต่อฮ่องกง ตั้งแต่รัฐบาลและภาคธุรกิจ ไปจนถึงสหประชาชาติและสหภาพยุโรป อย่าทอดทิ้งชาวฮ่องกงในเวลาคับขันเช่นนี้ และเพิ่มแรงกดดันต่อทางการให้เคารพสิทธิมนุษยชน และยกเลิกกฎหมายทั้งหมดที่ละเมิดสิทธิ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3VBNdHv

 

-----

 

 

เนเธอร์แลนด์: "ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์" ในกฎหมายเนเธอร์แลนด์ใช้คำจำกัดความของการข่มขืนตามความยินยอม

14  มีนาคม  2567

 


สืบเนื่องจากการลงมติของวุฒิสภาเนเธอร์แลนด์ในการใช้คำจำกัดความของการข่มขืนตามความยินยอมในกฎหมายความผิดทางเพศของประเทศ

แด็กมาร์ เอาด์ชอร์น ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์ เผยว่า เนเธอร์แลนด์ได้ดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ล้าสมัย และรับรองว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมถือเป็นการข่มขืน นี่เป็นก้าวสำคัญในการป้องกันและต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ และปรับปรุงการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหาย

“การผ่านกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ นับเป็นชัยชนะที่รอคอยมานานสำหรับผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ และเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการรณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมานานหลายปีของนักกิจกรรมและกลุ่มผู้เสียหาย”


ในวันที่ 14 มีนาคม วุฒิสภาได้ลงมติยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าการข่มขืนจะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางร่างกาย การข่มขู่หรือบีบบังคับ เนเธอร์แลนด์จะกลายเป็นประเทศที่ 17 จาก 31 ประเทศในยุโรปจากการวิเคราะห์โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งรับรองว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมนั้นถือเป็นการข่มขืน กฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567

การลงมติผ่านด้วยคะแนนเห็นชอบ 73 เสียง และคัดค้าน 2 เสียง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์ ร่วมกับนักกิจกรรมหลายร้อยคนและกลุ่มปฏิบัติการของผู้หญิงที่เคยประสบกับความรุนแรงทางเพศได้รณรงค์ให้มีกฎหมายที่ใช้ความยินยอมเป็นหลักมาเป็นเวลาหลายปี

มิเรลล์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มปฏิบัติการกล่าวว่า “หลังจากการรณรงค์เป็นเวลา 4 ปี ในที่สุดเราก็ได้รับการยอมรับ สิ่งที่เราได้เผชิญมา ตอนนี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3TxGWtT

 

-----

 

 

โลก: ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมลพิษทางอากาศในเอเชียใต้ต้องได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน

20  มีนาคม  2567

 


สืบเนื่องจากรายงานฉบับใหม่ที่ระบุชื่อ 3 ประเทศในเอเชียใต้ ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน และอินเดีย ซึ่งมีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในช่วงเวลาที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ออก 'การแจ้งเตือนสีแดง' สำหรับตัวชี้วัดภาวะโลกร้อน

แอน แฮร์ริสัน ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า   “การแจ้งเตือนสีแดง” สำหรับสภาพภูมิอากาศรวมทั้งคุณภาพอากาศที่เป็นพิษเป็นเวลานานในหลายส่วนของภูมิภาคเอเชียใต้ แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนมากกว่าพันล้านคนจากการเร่งให้เกิดความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบและผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีรายได้สูงซึ่งกำลังวางแผนที่จะขยายการผลิต ไม่ใช่ลดการผลิต กลับมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อจัดการกับปัญหานี้เพียงเล็กน้อย ทั้งที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

“เราขอย้ำข้อเรียกร้องของเราต่อประเทศในเอเชียใต้ที่ได้รับผลกระทบให้จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านมลพิษข้ามพรมแดนอย่างเร่งด่วน และต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตที่มีส่วนรับผิดชอบสูงสุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเทศอื่นๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีรายได้สูง ให้จัดหาเงินทุนที่เพียงพอเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งประกันการปฏิบัติงานและการจัดหาทุนของกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายในปีนี้

“นี่เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยปกป้องระบบสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ได้รับอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายลง ความจำเป็นในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสมบูรณ์ รวดเร็ว เป็นธรรม และได้รับทุนสนับสนุน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนที่ยุติธรรม เสมอภาค และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคนไม่สามารถเลื่อนออกไปได้อีกต่อไป

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/43yByex

 

----- 

 

อินเดีย: การปราบปรามฝ่ายค้านถึงจุดวิกฤติก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศ

22 มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากการจับกุมอาร์วินด์ เกจริวาล มุขมนตรีของรัฐเดลีและผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคอามอาทมี (Aam Aadmi Party) พร้อมทั้งอายัดบัญชีธนาคารของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) ที่เป็นอีกหนึ่งพรรคผู้นำฝ่ายค้าน

อาคาร์ ปาเตล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย เผยว่าพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party - BJP) ได้นำการปราบปรามของรัฐบาลอินเดียต่อผู้เห็นต่างโดยสงบและฝ่ายค้านมาถึงจุดวิกฤติแล้ว ทางการได้แสวงหาประโยชน์และใช้กฎหมายการเงินและการก่อการร้ายเป็นอาวุธซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้วิพากษ์วิจารณ์ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร นักข่าว นักศึกษา นักวิชาการ และพรรคฝ่ายค้านอย่างเป็นระบบ การจับกุมอาร์วินด์ เกจริวาล และการอายัดบัญชีธนาคารของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียในไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป แสดงให้เห็นว่าทางการล้มเหลวอย่างโจ่งแจ้งในการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“สิ่งที่เราพบเห็นคือการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้หน่วยงานการสืบสวนและการเงินส่วนกลางในทางที่ผิด การโจมตีการชุมนุมประท้วงโดยสงบ การจับกุมโดยพลการ การใช้และส่งออกสปายแวร์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวเพื่อการสอดแนมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาเพื่อสนับสนุนการเมืองแบบฮินดูทวาที่เป็นเสียงข้างมาก และคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาซึ่งมุ่งเป้าไปที่ผู้นำฝ่ายค้านที่กล้าเรียกร้องให้ทางการรับผิดชอบ

“การปราบปรามที่เพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทางการไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง ทางการจะต้องเคารพ ปกป้อง ส่งเสริม และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของทุกคนในประเทศ รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้สมัครฝ่ายค้าน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีกำหนดจะเริ่มในเดือนเมษายน 2567 นอกจากนี้ ทางการยังต้องประกันการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“สถาบันของรัฐจะต้องได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ ทางการจะต้องหยุดการใช้ระบบยุติธรรมทางอาญาเป็นอาวุธเพื่อข่มขู่และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้สมัครฝ่ายค้าน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4cBtihM

 

-----

 

โลก: การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP29 ในอาเซอร์ไบจานต้องมีสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลัก

20 มีนาคม  2567

 

ก่อนการประชุมขั้นต้นในที่ 21 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับวาระการประชุมสำหรับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ COP29 ในปีนี้ที่เมืองบากู อาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 ถึง 24 พฤศจิกายน 2567

แอน แฮร์ริสัน ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การประชุมครั้งนี้สามารถช่วยกำหนดแนวทางสู่ความสำเร็จของ COP29 ในอาเซอร์ไบจานโดยมีสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลัก รวมถึงการระบุแนวทางที่ชัดเจนในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสมบูรณ์ รวดเร็ว เป็นธรรม และได้รับทุนสนับสนุน ซึ่งในทางปฏิบัติ หมายความว่า COP29 จะต้องมุ่งเน้นไปที่การยกระดับเป้าหมายสำหรับเงินทุนสำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และประเทศอื่นๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะ G20 และประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีรายได้สูง

“พวกเขาจะต้องช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับมาตรการการปรับตัวที่จำเป็นและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ตลอดจนให้คำมั่นสัญญาที่มีผลผูกพันในการจัดหาเงินทุนของกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชุมชนและบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เงินทุนสำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศจำนวน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ดังนั้นจะต้องกู้คืนความเชื่อมั่นด้วยการส่งมอบเงินหลายล้านล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็ว ซึ่งจำเป็นต่อการตอบสนองต่อความท้าทายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนหลายพันล้านคนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนที่อยู่ชายขอบที่สุดที่มักได้รับผลกระทบมากที่สุด

“สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมประท้วงโดยสงบควรได้รับการเคารพและปกป้องโดยรัฐเสมอ อย่างไรก็ตาม COP29 ที่จะจัดขึ้นในรัฐอำนาจนิยมที่พึ่งพาน้ำมันซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่าตกใจ รวมถึงการปราบปรามการชุมนุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการจับกุมนักข่าว เราขอเรียกร้องให้อาเซอร์ไบจานยุติการละเมิดเหล่านี้และดำเนินการปฏิรูปที่มีความหมายทั้งก่อนและหลัง COP29 เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

“เราขอเรียกร้องให้ผู้จัดงาน COP29 รับรองและรับประกันสิทธิมนุษยชนในข้อตกลงประเทศเจ้าภาพอย่างเต็มที่ และอนุญาตให้ภาคประชาสังคมเข้าร่วมการประชุมได้อย่างเต็มที่ อิสระ และมีประสิทธิภาพ ข้อตกลงนี้จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและสามารถเข้าถึงได้ โดยสอดคล้องกับการตัดสินใจของ UNFCCC ที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วม COP29 สามารถตัดสินใจด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าร่วมได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการรับประกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้มีการตอบโต้และการแก้แค้นต่อการแสดงความคิดเห็นต่าง รวมถึงข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4aecxb2