ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สหประชาชาติ เตือนทางการไทยอีกครั้งให้ยกเลิกข้อกล่าวหา อานนท์ นำภา

26 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สหประชาชาติ เตือนการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของประเทศไทย จากการตัดสินโทษอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและทนายความ

อานนท์ นำภา คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และได้ให้การช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย รวมถึงเป็นตัวแทนในการต่อสู้คดี ให้กับผู้ที่ตกอยู่ในสถานะเปราะบาง และผู้ที่มีความอ่อนไหวในทางคดีสูง

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา อานนท์ นำภา ถูกตัดสินโทษจำคุก 4 ปี จากข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และถูกควบคุมตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากนั้น ในวันที่ 17 มกราคม 2567 เขาถูกตัดสินโทษจำคุกเพิ่มอีก 4 ปี จากการปราศรัยในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อานนท์ได้ตั้งคำถามเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ของไทย และส่งผลกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศ

“การตัดสินโทษจำคุก และการดำเนินคดีอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อการทำงานของอานนท์ นำภา นั้นไม่ได้สัดส่วน และทำให้เกิดแนวโน้มที่น่ากังวลต่อการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสียงวิพากษ์วิจารณ์” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษกล่าว “การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประเทศไทย ได้สร้างความตื่นตระหนกมาหลายปี และผู้ถืออาณัติของวิธีพิจารณาวิสามัญ (Special Procedures mandate holders)  เคยสื่อสารต่อรัฐบาลไทย เพื่อแสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวแล้ว” 

“การตัดสินโทษที่รุนแรงต่อผู้ที่กำลังยืนหยัดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการรวมตัวรวมกลุ่มอย่างสงบนั้น ขัดต่อพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ต้องเผชิญกับบรรยากาศที่พวกเขาไม่สามารถมั่นใจได้ว่าตนเองจะใช้สิทธิเสรีภาพในเสรีภาพการแสดงออกได้หรือไม่ (chilling effect)” 

อานนท์ นำภา ยังต้องเผชิญกับกระบวนการที่จะปลดเขาออกจากสภาทนายความ จากการกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ การกล่าวปราศรัยเพื่อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบัน และการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการปกป้องและส่งเสริม ในสังคมประชาธิปไตย เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยกลับคำพิพากษาอานนท์ นำภา และยกเลิกข้อกล่าวหาที่ยังเหลืออยู่ของเขา” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สหประชาชาติกล่าว “ทนายความควรมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และจะต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย” 

“เราขอย้ำข้อเรียกร้องที่มีมายาวนานต่อทางการไทย ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีทางอาญา และปล่อยตัวผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของพวกเขา” 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนนำ 7,301 รายชื่อ จากปฏิบัติการด่วน (URGENT ACTION) ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 

1. ปล่อยตัวอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดีใดๆ ต่อเขาและบุคคลอื่นๆ รวมทั้งเด็ก ซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน

2. ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดี ต้องอนุญาตให้อานนท์ นำภาและนักกิจกรรมคนอื่นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และประกันว่าเงื่อนไขการประกันตัวจะไม่เป็นการจำกัดโดยพลการต่อการใช้สิทธิของตนโดยสงบ

3. แก้ไข เพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน