อิสราเอล/เขตยึดครองปาเลสไตน์: หลักฐานใหม่ชี้ว่าการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของอิสราเอลในกาซา ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนมากมาย ท่ามกลางความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

12 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : ©Abed Rahim Khatib/Anadolu via Getty Images

  • พลเรือนอย่างน้อย 95 คน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก ถูกสังหารจากการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสี่ครั้งในเขตราฟาห์
  • การโจมตีเกิดขึ้นในพื้นที่ด้านใต้ที่ควรเป็นพื้นที่ “ปลอดภัย”
  • การโจมตีทั้งสี่ครั้งมีแนวโน้มจะเป็นการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน และต้องถูกสอบสวนดั่งอาชญากรรมสงคราม

 

หลักฐานใหม่ของการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและโหดร้ายในฉนวนกาซา จากการรวบรวมข้อมูลโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่ากองกำลังอิสราเอลยังคงละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อไป มุ่งทำลายล้างครอบครัวทั้งหมดโดยไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด

ทางหน่วยงานได้ทำการสอบสวนการทิ้งระเบิดของอิสราเอลสี่ครั้ง โดยสามครั้งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 หลังการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรม และอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งส่งผลให้พลเรือนอย่างน้อย 95 คน รวมทั้งเด็ก 42 คนเสียชีวิตในราฟาห์ ซึ่งเป็นเขตปกครองด้านใต้สุดของกาซา และควรเป็นพื้นที่ที่ “ปลอดภัยมากสุด” ในกาซา แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่กองกำลังอิสราเอลกำลังเร่งโจมตีผ่านปฏิบัติการภาคพื้นดิน การปฏิบัติการเช่นนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนกว่าหนึ่งล้านคน ที่แออัดอยู่ในพื้นที่ขนาด 63 ตร.กม. หลังจากต้องโยกย้ายถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง

ในการโจมตีทั้งสี่ครั้ง ทางหน่วยงานไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า อาคารที่พักอาศัยที่ถูกโจมตีเหล่านี้ จะถือได้ว่ามีวัตถุประสงค์ทางทหารอย่างชอบธรรม หรือไม่อาจถือได้เลยว่าคนที่อาศัยอยู่ในอาคาร อาจเป็นเป้าหมายทางทหารได้ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า การโจมตีเหล่านี้เป็นการมุ่งโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน และต้องถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม

แม้กองกำลังอิสราเอลอ้างว่า มีเจตนาโจมตีทางทหารอย่างชอบธรรมในพื้นที่นี้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า การโจมตีเหล่านี้ล้มเหลวที่จะแยกแยะระหว่างการโจมตีต่อวัตถุของทหารกับวัตถุของพลเรือน จึงถือว่าเป็นการโจมตีที่ไม่แยกแยะเป้าหมาย และการโจมตีดังกล่าวที่ทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย ย่อมถือเป็นอาชญากรรมสงคราม จากการรวบรวมหลักฐานโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้บ่งชี้ว่า กองทัพอิสราเอลล้มเหลวที่จะแจ้งเตือนอย่างมีประสิทธิผลหรือหรือไม่ได้แจ้งเตือนแต่อย่างใด เพื่อให้บุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป้าหมายได้ทราบก่อนที่จะมีการเริ่มการโจมตีเหล่านี้

“หลายครอบครัวเสียชีวิตไปทั้งหมดจากการโจมตีของอิสราเอล แม้พวกเขาได้หลบหนีไปยังพื้นที่ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย และไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าจากทางการอิสราเอล การโจมตีเหล่านี้สะท้อนถึงแบบแผนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องและโจ่งแจ้งของกองกำลังอิสราเอล ตรงข้ามกับข้ออ้างของทางการอิสราเอลที่ว่า กองกำลังของตนใช้ความระมัดระวังขั้นสูง เพื่อลดอันตรายต่อพลเรือนให้น้อยสุด” เอริกา เกวารา-โรซาส์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย กดดัน นโยบาย และรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

การโจมตีทั้งสามครั้งเกิดขึ้นตอนกลางคืน ระหว่างที่พลเรือนอยู่ในที่พัก หรือในพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น และคาดว่ากำลังหลับนอนในบ้านตนเอง

“ในบรรดาผู้ที่ถูกสังหารจากการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านี้ มีทารกหญิงซึ่งอายุยังไม่ถึงสามสัปดาห์ แพทย์ที่มีชื่อเสียงในวัย 69 ปี ซึ่งเกษียณจากการทำงานแล้ว ผู้สื่อข่าวซึ่งเปิดบ้านต้อนรับครอบครัวผู้พลัดถิ่น และแม่ซึ่งนอนอยู่ในเตียงเดียวกันกับลูกสาววัย 23 ปี ปากคำของผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายควรเป็นสัญญาณเตือนถึงอาชญากรรมที่ทารุณที่เกิดขึ้นในกาซา และควรเป็นรอยแผลต่อมโนธรรมสำนึกร่วมกันของโลก” เอริกา เกวารา-โรซาส์กล่าว

“หลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยระบุว่ามีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าอาจจะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รายละเอียดที่น่าตกใจของกรณีเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความเร่งด่วนที่รัฐต่าง ๆ จะต้องกดดันอย่างต่อเนื่องให้มีการหยุดยิงโดยทันที ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นผลมากสุด เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล ทั้งยังเน้นให้เห็นความสำคัญของการบังคับใช้มาตรการห้ามส่งอาวุธอย่างรอบด้านสำหรับคู่กรณีทั้งหมดในสงครามครั้งนี้” 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ไปเยือนพื้นที่ที่มีการโจมตีทั้งสี่ครั้ง ได้ถ่ายภาพและวิดีโอของความเสียหาย และได้สัมภาษณ์บุคคล 18 คน รวมทั้งผู้รอดชีวิต 14 คน และญาติสี่คน ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือชีวิตคน ทาง Crisis Evidence Lab ของหน่วยงานยังได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายและวิดีโอเพื่อใช้ข้อมูลในการระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ และตรวจสอบข้อเท็จจริงของการโจมตีครั้งนี้ และความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทางหน่วยงานยังได้วิเคราะห์จากสมุดจดบันทึกสงคราม ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ทหารอิสราเอล และพบว่าไม่มีการกล่าวถึงการโจมตีทั้งสี่ครั้งนี้เลย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งคำถามเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศเหล่านี้ให้กับทางการอิสราเอลเมื่อวันที่ 19 และ 30 มกราคม 2567 ในช่วงที่เผยแพร่ข้อมูลนี้ เรายังไม่ได้รับข้อมูลกลับมาแต่อย่างใด

 

‘ร่างกายขนาดเล็กของลูก ๆ ผมถูกฉีกขาดเป็นชิ้นๆ’: การทิ้งระเบิดครอบครัวฮาร์บ

ในวันที่ 12 ธันวาคม 2023 เวลา 3.02 น. อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่บ้านสองหลังของตระกูลฮาร์บในเขตอัล-ซูฮูร์ในราฟาห์ ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 25 คน รวมทั้งเด็ก 10 คน เป็นผู้ชายเก้าคนและผู้หญิงหกคน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ได้แปดเดือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 17 คน การโจมตีทางอากาศได้ทำลายบ้านสองหลังอย่างสิ้นเชิง และทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบ้านอีกสามหลังที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตบางส่วนด้วย

อิสลาม ฮาร์บ อายุ 30 ปี ซึ่งเสียลูกไปสามจากสี่คนจากการโจมตีครั้งนี้ รวมทั้งลูกสาวแฝดวัยห้าขวบ ชื่อจูดและมาเรีย และลูกชายวัยหกเดือนชื่ออัมมาร์ บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงการโจมตีทางอากาศที่น่าหวาดกลัวว่า

“ผมได้ยินเสียงระเบิดดังมาก จำไม่ได้ว่าเห็นอะไรบ้าง ได้ยินแต่เสียงระเบิดดังแล้วก็หมดสติไป ผมตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่ออยู่ในโรงพยาบาล จำได้ว่าพอตื่นมาก็ถามหาลูก ๆ มีเฉพาะลีนที่อายุสี่ขวบคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ ครอบครัวของผมใช้เวลาหลายวันเพื่อขุดหาซากศพจากซากปรักหักพัง เราพบศพของคาลิล [อายุ 25 ปี] น้องชายของผมอยู่ห่างไป 200 เมตรจากบ้านผม เนื่องจากแรงอัดของการโจมตีทางอากาศ ทำให้ซากศพเขาฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ ร่างกายขนาดเล็กของลูก ๆ ผมถูกฉีกขาดเป็นชิ้นๆ”

 



Maria and Jude Islam Harb

 

อิสลามบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า คนในครอบครัวไม่รู้สาเหตุเลยว่า ทำไมถึงมีการโจมตีบ้านของพวกเขา และไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนการโจมตีครั้งนี้ อีนาม วัย 52 ปี แม่ของเขา อาเบียร์ วัย 23 ปี และนัจวา วัย 26 ปี น้องสาวของเขา และโมฮัมหมัด อัล-ฮาดี วัย 22 ปี และเซียน อัล-อาบีดีน วัย 15 ปี น้องชายของเขา ล้วนเสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้

อิสลามบอกว่า ครอบครัวของเขาให้ที่พักพิงกับญาติที่ถูกบังคับให้ต้องหนีมาจากกาซาซิตี้ ตามคำสั่งของทหารอิสราเอล เขาบอกว่าคนเหล่านี้เป็นญาติสนิท ซึ่งรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี และไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใด ๆ

อาห์ลาม ฮาร์บ วัย 34 ปี พี่สาวที่รอดชีวิตของเขาซึ่งต้องถูกตัดนิ้วไปเนื่องจากการโจมตีทางอากาศ บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า

“เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่ดิฉันยังมีชีวิตและได้มาพูดคุยกับคุณ ดิฉันยังรู้สึกเจ็บปวดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ปอด และยังคงหายใจได้อย่างยากลำบาก....ดิฉันต้องเสียแม่ไป เสียน้องสาวชื่อนัจวา สามีของเธอ และลูกของพวกเขาทั้งหมดก็ถูกสังหาร รวมทั้งอาเบียร์ที่เป็นน้องสาวคนสนิท คนที่ดิฉันรักมากสุดก็เสียชีวิต การสูญเสียเธอไปทำให้ดิฉันทุกข์ใจมาก เราพบศพโมฮัมหมัด อัล-ฮาดี น้องชายของดิฉัน และจำเขาได้จากเส้นผม ส่วนคาลิล น้องชายอีกคนหนึ่ง ไม่มีอะไรเหลือเลยนอกจากมือของเขาข้างเดียว....เราสามารถช่วยชีวิตลูก ๆ ของดิฉันออกมาจากด้านใต้ของซากปรักหักพัง เวลามองหน้าพวกเขา ไม่อยากเชื่อเลยว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ได้


Abir Omar Harb

 

ก่อนหน้านี้อาเบียร์ได้เคย ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หลังจากที่คู่หมั้นของเธอและแม่ของเขาถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอลตลอดระยะเวลาสามวัน ในกาซาในเดือนสิงหาคม 2565

ปากคำของพยานและภาพถ่ายจากที่เกิดเหตุ ชี้ให้เห็นสภาพของบ้านเรือนที่ถูกโจมตีมากกว่าหนึ่งครั้ง ส่งผลให้เกิดหลุมขนาดใหญ่อย่างน้อยสองหลุม อิสราเอลไม่ได้ให้คำอธิบายใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ไปเยือนที่เกิดเหตุของการโจมตีทางอากาศครั้งนี้สองครั้งด้วยกัน และได้ตรวจสอบรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีครั้งนี้ ทางหน่วยงานไม่พบหลักฐานว่า มีวัตถุทางทหารใด ๆ ในพื้นที่นี้ หรือไม่มีบุคคลใดในอาคารเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายทางทหารที่ชอบธรรมขณะที่เกิดการโจมตี ทำให้เกิดความกังวลอย่างจริงจังว่า การทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนของครอบครัวฮาร์บครั้งนี้ เป็นการจงใจโจมตีพลเรือนและวัตถุของพลเรือน ซึ่งต้องถูกสอบสวนในดั่งอาชญากรรมสงคราม


 

‘เราหนีไปราฟาห์เพื่อความปลอดภัย’: การทิ้งระเบิดใส่ครอบครัวเชหาดา

ในวันที่ 14 ธันวาคม เวลาประมาณ 11.45 น. การทิ้งระเบิดของอิสราเอลทำให้เกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิงต่อบ้านสามชั้นในเขตบราซิลของราฟาห์ ซึ่งเป็นของอับดุลลาห์ เชหาดา ศัลยแพทย์ที่เกษียณแล้ววัย 69 ปี และเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาบู ยูเซฟ อัล-นัจจาร์ เขาถูกสังหารพร้อมกับพลเรือนอีกอย่างน้อย 29 คน รวมทั้งเด็ก 11 คน ผู้ชายเจ็ดคน และผู้หญิง 11 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน

เหยื่อที่มีอายุมากสุดจากการโจมตีครั้งนี้คือ ฮัมดี อาบู ดาฟฟ์ ชายวัย 86 ปี เป็นผู้พลัดถิ่น และเหยื่ออายุน้อยสุดคืออัยลา นัสมัน อายุสามเดือน

ยูเซฟ วัย 36 ปี ซึ่งเป็นลูกชายของอับดุลลาห์ เชหาดา เป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลยุโรปในเขตข่านยูนีส เขาได้สูญเสียยาเฮีย วัย 29 ปี ซึ่งเป็นน้องชายและเป็นนักศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไป เขาบอกว่าเขาไม่อยู่บ้านในจังหวะที่มีการโจมตี

“บ้านหลังนี้เป็นของแพทย์ที่อุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นบ้านที่ผู้พลัดถิ่นสามารถเข้ามาพักอาศัยได้....เราใช้เวลาหลายวันในการขุดหาซากศพเหล่านี้จากซากปรักหักพัง คนที่เพียงแต่ต้องการที่พักพิงเพื่อความปลอดภัย” เขากล่าว “เรารู้จักหมดทุกคนที่พักอาศัยในอาคารหลังนี้”


Dr. Abdallah Shehada and his son, Yahia Shehada

 

ผู้พลัดถิ่นอย่างน้อยสองคนที่อาศัยอยู่ในอาคารนี้ มีใบอนุญาตทำงานในอิสราเอล หมายความว่าพวกเขาต้องเคยผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดของทางการอิสราเอลมาก่อน 

อาห์หมัด นัสมาน นักกายภาพบำบัดอายุ 30 ปี ต้องสูญเสียอูลา วัย 29 ปี ซึ่งเป็นภรรยาและเป็นนักกายภาพบำบัดเช่นกันไป รวมทั้งสูญเสียลูกอีกสามคน ได้แก่ อันวา 5 ขวบ คาราม 4 ขวบ และอัยลา 3 เดือน ส่วนพ่อแม่ของเขาคือฮัสซัน วัย 63 ปี และโอมายา วัย 58 ปีก็ถูกสังหารเช่นกัน รวมทั้งอายา ที่เป็นน้องสาววัย 28 ปี

เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า หนึ่งเดือนหลังจากพ่อแม่ของเขาได้ย้ายไปพักอาศัยในบ้านของอับดุลลาห์ เชหาดา เขาก็เดินทางไปสมทบพร้อมกับภรรยาและลูก เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พวกเขาต้องเดินทางอย่างยากลำบากจากกาซาซิตี้ไปยังราฟาห์ โดยอาศัยรถลากด้วยม้า และเดินทางผ่านพื้นที่ที่เรียกว่า “ระเบียงที่ปลอดภัย” ซึ่งเขาบอกว่าน่าจะเรียกว่า “ระเบียงนรก” สภาพที่ยากลำบากทำให้ลูก ๆ เกิดความหวาดกลัว เพราะได้เห็นทหารอิสราเอลบังคับให้คนถอดเสื้อผ้าเพื่อค้นตัว


The Nasman children, five of those in the pictures were killed

 

ในวันที่มีการโจมตีทางอากาศ เขาอยู่ที่ตลาดใกล้ ๆ และรีบวิ่งกลับมาบ้านเมื่อได้ยินเสียงระเบิด และพบว่าบ้านกำลังไฟไหม้ “ทุกอย่างพังทลายลงทั้งหมด....ไม่มีอะไรเหลือเลยนอกจากเศษซาก ควันไฟ และก้อนหิน” เขาบอก

เขาต้องใช้เวลาสี่วันในการค้นหาซากศพของอัยลา ลูกสาวที่ยังเป็นทารก จากซากปรักหักพัง เขาจำเธอได้จากเสื้อผ้าที่สวมใส่เท่านั้น ระเบิดยังฉีกทำลายร่างของอาร์วาที่เป็นลูกสาววัย 5 ขวบของเขาด้วย “ตอนที่เริ่มเกิดสงคราม ผมมีเพียงภารกิจเดียวในชีวิต คือการปกป้องลูก ๆ ของผม ผมหวังว่าผมควรอยู่กับพวกเขาในบ้านตอนที่ถูกทิ้งระเบิด” เขาบอก “ร่างกายของผมรอดมาได้ แต่จิตวิญญาณของผมตายไปพร้อมกับลูก ๆ จิตวิญญาณของผมถูกทำลายไปพร้อมกับซากปรักหักพังและลูกของผม”

ผู้รอดชีวิตคนหนึ่ง ซึ่งให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยชื่อ เล่าถึงประสบการณ์ที่ขาหัก และติดอยู่ในซากปรักหักพังถึงเกือบแปดชั่วโมง เขาสามารถขยับแขนได้เพียงข้างเดียว ภรรยาและลูกชายที่ยังเล็กของเขาก็เสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้ เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขายืนอยู่ตรงประตูด้านหน้า หลังจากออกไปอบขนมปังโดยใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิง ทันใดนั้นเขาก็ถูกแรงอัดกระเด็นไปชนกับกำแพง และสิ้นสติไป

“ผมเริ่มตะโกนร้อง ร้องหาคนที่จะมาช่วย ผมติดอยู่ในซากปรักหักพัง…คล้าย ๆ กับห้องใต้ดินที่แคบมาก ๆ.... ผมมองเห็นคนที่พยายามให้ความช่วยเหลือ ผมตะโกนร้องอยู่สองชั่วโมง เพราะมีเสียงดังมากในพื้นที่ ผมได้ยินเสียงรถขุดดิน” 

ทาเออร์ อัล-ฮัดดาด วัย 27 ปี ได้รับความช่วยเหลือออกมาทันทีจากด้านใต้ซากปรักหักพัง แต่พ่อแม่ของเขาคือซาลามา วัย 48 ปี และเมซารา วัย 47 ปี และอายา วัย 28 ปี ซึ่งเป็นภรรยา ล้วนแต่เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า: “นพ.อับดุลลาห์เป็นคนที่ระมัดระวังมาก และคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในอาคารแห่งนี้ ถ้าไม่ได้เป็นญาติก็เป็นเพื่อนสนิทมาก....พวกเราเดินทางมาที่ราฟาห์ เพราะต้องการความปลอดภัย เราคิดว่าพื้นที่ด้านใต้จะมีความปลอดภัยมากกว่า” 

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่ามีเป้าหมายทางทหารอยู่ภายในบ้าน หรือในพื้นที่ใกล้เคียงเลย หรือไม่พบว่าพื้นที่นี้มีวัตถุทางทหาร ทำให้เกิดความกังวลอย่างจริงจังว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน โดยอิสราเอลยังไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้


Satellite imagery above shows buildings in Rafah on 6 December 2023 (left). On 24 December 2023 (right), imagery shows the buildings appear damaged and destroyed.

 

‘เรากำลังหลับอยู่ทุกคน’: ครอบครัวซูรับ

ในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 1.30 น. อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่บ้านสองชั้นของโอมาร์ ซูรับ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของราฟาห์ ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 22 คน รวมทั้งเด็ก 11 คน เป็นผู้ชายเจ็ดคน และผู้หญิงสี่คน ผู้เสียชีวิตที่อายุมากสุดจากการโจมตีครั้งนี้คือ โอมาร์ ซูรับ อายุ 75 ปี ส่วนคนที่มีอายุน้อยสุดคือ อัล-อามีรา อัยชา ซึ่งเป็นหลานสาวที่มีอายุยังไม่ถึงสามสัปดาห์ และยังไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร การทิ้งระเบิดดังกล่าวทำให้บ้านทั้งหลังพังลงทั้งหมด และบ้านที่ติดกันอีกสามหลังก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก


Al-Amira Aisha

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถยืนยันข้อมูลด้านอัตลักษณ์ของบุคคลอย่างน้อย 16 คนที่ได้รับบาดเจ็บ แต่คาดว่ายังมีอีกหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บ ตามข้อมูลของพยาน เนื่องจากหนึ่งในบ้านที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นที่พักอาศัยของคนมากถึง 70 คน

คนทั้งหมดที่นอนในชั้นหนึ่งเสียชีวิตในบ้านที่พังลงทั้งหมด รวมทั้งโอมาร์ ซูรับ อายุ 75 ปี โรวัยดา ภรรยาของเขา อายุ 70 ปี และมาห์มุด ลูกชายของเขา อายุ 36 ปี เมอร์วัด ภรรยาของลูกชาย อายุ 35 ปี ซึ่งเสียชีวิตพร้อมกับลูกทั้งสี่คนของสามีภรรยาคู่นี้ รวมทั้งฟาราห์ อายุ 16 ปี โอมาร์ อายุ 14 ปี มูฮัมหมัด อายุ 13 ปี และดีมา อายุ 1 ปี 

มัมดูห์ ลูกชายอีกคนหนึ่งของโอมาร์ อายุ 39 ปีซึ่งเป็นข้าราชการ ก็เสียชีวิตพร้อมกับครอบครัวที่ชั้นบนของบ้าน เขาเสียชีวิตพร้อมกับรูอา ลูกสาวซึ่งเพิ่งมีอายุครบ 16 ปีเมื่อเร็ว ๆ นี้

มาลัก อัล-ชาเออร์ ภรรยาของมัมดูห์ บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขากำลังหลับ เธอตื่นมาก็พบว่าตัวเองอยู่ใต้ซากปรักหักพังแล้ว

“ดิฉันไม่สามารถลืมตาได้ เพราะเต็มไปด้วยเศษแก้ว สะเก็ดระเบิด และทราย ร่างกายทั้งหมดของดิฉันถูกฝังจมอยู่ใต้ซากปรักหักพัง โผล่มาเฉพาะเท้า เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีกว่าจะนำดิฉันออกมาได้” เธอกล่าว

มาลักได้รับบาดแผลไฟไหม้อย่างรุนแรง รวมทั้งที่ใบหน้า การมองเห็นก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสะเก็ดระเบิดทิ่มแทงเข้าไปในดวงตา แต่หลังผ่านไปสองสัปดาห์ เธอก็ต้องออกจากโรงพยาบาล เพราะความล่มสลายของระบบสาธารณสุขในกาซา ทำให้โรงพยาบาลทางใต้มีผู้ป่วยเต็มไปหมด และมีเตียงไม่เพียงพอ

ในบ้านสองชั้นหลังหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นของอะเดล ซูรับ ผู้สื่อข่าว และเป็นที่พักของคนกว่า 70 คนที่มาจากครอบครัวอัล-ลาดาอา พวกเขาหลบหนีมาจากทัล อัล-ฮาวาในกาซาซิตี้ ในช่วงสัปดาห์ที่สองของปฏิบัติการโจมตี การโจมตีทางอากาศทำให้อะเดลและสมาชิกอีกเก้าคนของครอบครัวอัล-ลาดาอา เสียชีวิต

อาเร็ฟ อัล-ลาดาอา อายุ 52 ปี หนึ่งในผู้รอดชีวิตบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า: “ผนังบ้าน ก้อนหิน แท่งปูน เศษกระจก ต่างพากันร่วงลงมาทับเรา ผนังบ้านและเสาพังลง เนื่องจากแรงอัดอากาศของการโจมตีทางอากาศ”

โมฮัมเหม็ด ซูรับ ผู้อยู่อาศัยในบ้านที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศบอกกับทางหน่วยงานว่า เป็นการโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มอาคารที่พักอาศัยของหลายครอบครัวด้วยกัน เขากล่าว “บางทีก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านี่มันเป็นความจริงหรือเป็นฝันร้าย หลานชายของผมมีลูกสาวซึ่งอายุยังไม่ถึงสามสัปดาห์ ส่วนลูกชายอีกคนก็อายุยังไม่ถึงสองขวบ....ลองคิดดูสิ ศพของเด็กทั้งสองคนถูกทับอยู่ใต้ซากปรักหักพังได้ยังไง?”


Satellite imagery above shows a building in Rafah on 6 December 2023 (left). On 24 December 2023 (right), imagery shows the building appears destroyed. Ground photos show the neighbouring buildings have also been damaged.

 

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่พบว่ามีหลักฐานที่ชี้ว่า บุคคลใดที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกโจมตีโดยตรง มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธ งานวิจัยของหน่วยงานยังไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า มีวัตถุประสงค์ทางทหารในบ้านหรือในพื้นที่ใกล้กับบ้าน ทำให้เกิดความกังวลอย่างจริงจังว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน โดยอิสราเอลยังไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ และต้องถูกสอบสวนดั่งอาชญากรรมสงคราม

 

‘พวกเขาทั้งหมดเป็นพลเรือน’: การโจมตีครอบครัวโนฟาล 

ในวันที่ 9 มกราคม 2567 ก่อนเวลา 11.00 น. อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่ชั้นบนทั้งสองชั้นของบ้านสูงห้าชั้นที่เป็นของครอบครัวโนฟาล ซึ่งตั้งอยู่ที่ทาล อัล-สุลต่าน ที่เป็นเขตที่ทหารอิสราเอลประกาศอย่างต่อเนื่องให้ผู้อยู่อาศัยที่พลัดถิ่นต้องหลบหนีไปที่อื่น


Satellite imagery above shows a building across from the Saad bin abi Waqqas mosque in Rafah on 31 December 2023 (left). On 14 January 2024 (right), imagery shows the building roof appears damaged and debris is on the street in front of the building. Ground photos show the top floors of the building were impacted.

 

การโจมตีครั้งนี้ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 18 คน รวมทั้งเด็ก 10 คน เป็นผู้ชายสี่คน และผู้หญิงสี่คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยแปดคน ทั้ง 16 คน เสียชีวิตอยู่ในชั้นสี่และชั้นห้าของบ้านครอบครัวโนฟาล ส่วนอีกสองคนซึ่งเป็นผู้ชายคนหนึ่งและเป็นเด็กคนหนึ่ง เสียชีวิตในบ้านของครอบครัวอวาดาลาห์ซึ่งอยู่ละแวกเดียวกัน โดยบ้านที่ทำจากสังกะสีทั้งหลังพังลงมา และติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของบ้านครอบครัวโนฟาล

นิดาล โนฟาล อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นพยาบาลที่อาศัยอยู่ชั้นล่าง บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ญาติซึ่งมาจากเขตข่าน ยูนิส ได้มาพักอาศัยกับพวกเขา หลังจากกองทัพอิสราเอลสั่งให้อพยพไปที่ราฟาห์

“ในแผนที่ซึ่ง [กองกำลังอิสราเอล] ส่งมาให้ ระบุอย่างชัดเจนว่า ทาล อัล-สุลต่านเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปลอดภัย ก่อน 11.00 น. ลูกชายของดิฉันตะโกนบอกว่าเขาได้ยินเสียงระเบิด....พอฉันเปิดประตูและมองออกไปข้างนอก ก็เห็นเศษกระจกปลิวว่อนทั่วพื้นที่” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ตรวจสอบภาพของสะเก็ดระเบิดซึ่งได้มาจากซากปรักหักพัง และระบุได้ว่าเป็นระเบิดนำวิถีขนาดเล็กแบบ GBU-39 ซึ่งเป็นอาวุธที่มีความแม่นยำและมีหัวระเบิดขนาดเล็ก เป็นเหตุให้ความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะชั้นบนทั้งสองชั้นเท่านั้น เป็นระเบิดที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยบริษัทโบอิ้งของ

เช่นเดียวกับการโจมตีครั้งอื่น ๆ ทางการอิสราเอลยังไม่อธิบายเหตุผลการโจมตี งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมทั้งการวิเคราะห์จากรายชื่อของผู้พักอาศัยอยู่ในชั้นบนของบ้านที่เป็นเป้าหมาย และผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีครั้งนี้ ไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่าบุคคลใดที่อาศัยอยู่ในอาคารนี้เป็นเป้าหมายทางทหารอย่างชอบธรรม ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเป็นการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน หรืออาจเป็นการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายที่เป็นผลมาจากการไม่ปฏิบัติตามข้อควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการสังหารหรือทำให้พลเรือนบาดเจ็บ รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจว่า บุคคลที่เป็นเป้าหมายเป็นทหาร ไม่ใช่พลเรือน

“งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้หลักฐานที่ชัดเจนถึงความสูญเสียมากมายที่เกิดจากการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่หยุดหย่อนในกาซา สี่เดือนนับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการโจมตี ชาวปาเลสไตน์กว่า 28,000 คน ถูกสังหาร และอีกกว่า 60,000 คน ได้รับบาดเจ็บ ท่ามกลางหายนะทางด้านมนุษยธรรมแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อคำนึงถึงการเสียชีวิตและการทำลายล้างในวงกว้างเช่นนี้ รัฐต่าง ๆ ย่อมมีพันธกรณีที่ชัดเจนที่จะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐที่มีบทบาทหลักกลับไม่แสดงข้อเรียกร้องอย่างชัดเจนเพื่อสนับสนุนการหยุดยิง และยังคงส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมสงครามต่อไป ด้วยการจัดส่งอาวุธให้อิสราเอล” เอริกา เกวารา-โรซาส์กล่าว

“ครอบครัวของเหยื่อหลายคนบอกว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมแม้เพียงบางส่วน เป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้เขาสู้ชีวิตต่อไป แม้จะเกิดความสูญเสียเช่นนี้ เน้นให้เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการลอยนวลพ้นผิดต่ออาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และการลอยนวลพ้นผิดต่ออาชญากรรมอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศของกองกำลังอิสราเอล ทั้งนี้รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่สำนักงานพนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ จะต้องเร่งสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายอย่างอื่นโดยคู่กรณีทุกฝ่าย”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

นอกจากการโจมตีทั้งสี่ครั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้บันทึกข้อมูล อีกหลายกรณีที่กองกำลังอิสราเอลโจมตีอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 การทิ้งระเบิดอย่างไม่หยุดหย่อนเกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการปิดล้อมกาซา ซึ่งเป็นการจงใจปิดกั้นการเข้าถึงน้ำและอาหาร และส่งผลให้เกิดสภาพที่อดอยากหิวโหยอย่างรุนแรง และยังเพิ่ม ความเสี่ยงที่จะเกิดทุพภิกขภัย  และการทำลายสถานบริการด้านสุขภาพและการศึกษา รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างอื่น

การพลัดถิ่นในวงกว้างอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้ราฟาห์กลายเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นมากสุดในกาซา กล่าวคือมีประชากรกว่า หนึ่งล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้พลัดถิ่นมาจากที่อื่น ซึ่งมีสภาพชีวิตที่ยากลำบากอย่างมาก รวมทั้งการพักอาศัยในเต็นท์และในโรงเรียน เขตนี้มีประชากรเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนสงคราม ปฏิบัติการภาคพื้นดินของอิสราเอลยังส่งผลกระทบที่รุนแรงอย่างมากต่อผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถหลบหนีไปที่ไหนได้ และส่งผลกระทบต่อระบบให้ความช่วยเหลือโดยรวม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เกินข้อจำกัดของตัวเองไปมากแล้ว

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ได้เริ่มยิงจรวดอย่างไม่เลือกเป้าหมาย และส่งทหารเข้าไปในภาคใต้ของอิสราเอล และได้ก่ออาชญากรรมสงคราม รวมทั้งการสังหารหมู่พลเรือนอย่างจงใจและการจับคนเป็นตัวประกัน ตามข้อมูลของทางการอิสราเอล มีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 1,139 คน และมีบุคคลกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน รวมทั้งเด็ก 33 คน ซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในกาซา จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในกาซาได้ปล่อยตัวประกันออกมา 113 คน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวและนักโทษชาวปาเลสไตน์ 240 คนออกจากเรือนจำอิสราเอล ตามข้อตกลงช่วงที่มี ‘การหยุดยิงชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรม’ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือการติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ของสื่อ โปรดติดต่อ: press@amnesty.org