คนรุ่น 2048: ถึงเวลาต้องต่อต้าน หยุดยั้ง และเปลี่ยนแปลง

3 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © ANTHONY WALLACE/AFP via Getty Images

 

ปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งเกิดขึ้นมาจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลาที่เลวร้ายมากสุดของมนุษยชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เป็นข้อตกลงที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองประเทศของตน โดยยึดมั่นในคำมั่นสัญญาของกรอบการทำงานระดับโลกเพื่อความยุติธรรม และการยอมรับสิทธิอันเท่าเทียมและไม่อาจพรากไปได้สำหรับมนุษย์ทุกคน

มีบางคนที่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยรัฐเพียงส่วนน้อยในขณะนั้น ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากในโลกยังถูกกดขี่อยู่ใต้ระบอบอาณานิคม เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อข้อบกพร่องนี้ แต่ในทำนองเดียวกัน เราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์ว่า ระบอบสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่เกิดจากการผลักดันของฝ่ายเสรีนิยมตะวันตก ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิทางพลเรือนและทางการเมือง มากกว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

แต่แม้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) จะเกิดจากการดำเนินงานของประเทศผู้ชนะสงครามอย่างเห็นได้ชัด แต่กระบวนการจัดทำร่างก็ไม่ได้ตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว ประเทศขนาดเล็กสามารถดำเนินงานเพื่อหว่านล้อมประเทศใหญ่ เพื่อประกันให้เนื้อหาของร่างฉบับสุดท้ายให้หลักประกันต่อสิทธิมนุษยชนสำหรับบุคคลทุกคนโดยไม่มี “การแบ่งแยก” ตัวแทนประเทศอียิปต์ยืนยันถึง “ความเป็นสากล” ของสิทธิมนุษยชน และการมีผลบังคับใช้กับบุคคลทุกคนที่ตกอยู่ใต้การปกครองของระบอบอาณานิคม ตัวแทนผู้หญิงจากอินเดีย บราซิล และสาธารณรัฐโดมินิกัน ให้หลักประกันที่ยืนยันสิทธิอันเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง

หลังมีการประกาศใช้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  โดยสนับสนุนแนวคิดริเริ่มต่อต้านอาณานิคมทั่วโลก และเป็นแรงบันดาลใจของการจัดทำกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคในยุโรป อเมริกา และแอฟริกา 

พลังแห่งอุดมการณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ได้ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก นอกเหนือจากการควบคุมของบางประเทศ ซึ่งมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างเอกสารนี้ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเอกสารที่ได้หลั่งรากลึกและกว้างไกลเกินกว่ากรุงปารีส ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประกาศรับรองเอกสารนี้เมื่อปี 2491 จากเมโสโปเตเมียถึงอียิปต์โบราณ จากจักรวรรดิเปอร์เซียจนถึงจักรวรรดิเมารยะ ในทุกจารีตทางศาสนา ในคัมภีร์หรือจารีตที่ถ่ายทอดทางคำพูด ในยุคโบราณ ยุคก่อนสมัยใหม่ และยุคสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติล้วนเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ประชาชนมารวมตัวกัน เพื่อจำกัดการใช้อำนาจ และยืนยันสิทธิของตนเอง

เรามาทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับประวัติศาสตร์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ไม่ใช่มาสร้างภาพเพื่อแก้ต่างให้ หรือไม่ใช่การเพิกเฉยต่อภาวะสองมาตรฐานในแง่ของการบังคับใช้ แต่เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ที่ใช้พลังในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ระหว่างการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียมทั่วโลก เป็นการรำลึกถึงผู้ซึ่งทำให้ปฏิญญา UDHR เกิดขึ้นมาได้จริงและส่งผลอย่างจริงจัง ในระหว่างการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม และการต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้กับอคติและการสนับสนุนความเท่าเทียม การต่อต้านแนวคิดปิตาธิปไตย และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเพศสภาพ เพื่อให้เกิดโลกที่สมาชิกทุกคนของครอบครัวมนุษยชาติมีศักดิ์ศรีมากยิ่งขึ้น 

สิ่งเหล่านี้เป็นคุณูปการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งให้ทั้งความมั่นใจและแรงบันดาลใจกับเรา เป็นหลักฐานที่ดำรงอยู่ที่แสดงว่าวิสัยทัศน์เพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำได้ และเป็นไปได้จริง

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลให้เราเฉลิมฉลองให้กับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เหตุใดเราจึงไม่ยอมจำนนให้กับเสียงวิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพราะใครที่เป็นผู้จัดทำเอกสารนี้ แต่เป็นเพราะเราควรรำลึกถึงคนที่เคยเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ด้วยเอกสารนี้

ในวาระครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ในขณะที่โลกยังคงเผชิญกับความขัดแย้ง การแบ่งขั้วทางสังคม-การเมือง ความไม่เท่าเทียมที่ขยายใหญ่ขึ้น และภัยคุกคามเนื่องจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นข้อท้าทายให้เราต้องสร้างจินตนาการใหม่ในการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ในปี 2048 ซึ่งจะเป็นปฏิญญาด้านสิทธิในศตวรรษต่อไป เป็นปฏิญญาที่จัดขึ้นโดยคนจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงอภิสิทธิชนจำนวนน้อย?

เราพร้อมที่จะเป็นคนรุ่น 2048 หรือไม่? พร้อมจะเป็นทายาทของผู้คน ซึ่งเคยเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ภายหลังเถ้าถ่านของโลกที่เต็มไปด้วยสงคราม จนสามารถให้กำเนิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ที่มีพลังเปลี่ยนแปลงโลกหรือไม่? หรือเราจะกลายเป็นคนรุ่นที่ปิดหูปิดตา ไม่สนใจการกดขี่ของคนอื่น ตราบเท่าที่เรายังคงสามารถรักษาอำนาจและอิทธิพลของตนเองไว้ได้?

มรดกของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ได้ท้าทายให้เราต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เป็นการเรียกร้องให้เราต่อต้านการโจมตีต่อสิทธิที่เกิดขึ้นในระดับโลก ระดับข้ามชาติ และในท้องถิ่น ทั้งยังเป็นสัญญาณบอกเราว่าสิ่งที่ทำยังไม่เพียงพอ ทั้งยังเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระเบียบโลก ซึ่งก่อกำเนิดความมีอภิสิทธิ์และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนาน เป็นการละเมิดสิทธิและปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้เราเปลี่ยนระบอบปกครองของโลกด้วยการสร้างจินตนาการใหม่ ด้วยการสร้างนวัตกรรม และความเป็นผู้นำ

เราสามารถ เราจะต้องสร้างภาวะผู้นำ สถาบัน และระบบที่กล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ ซึ่งสามารถคุ้มครองโลกของเรา ทำงานเพื่อคนรุ่นต่อไป และคุ้มครองเราจากผู้ที่ทำให้เราต้องทุกข์ยาก

มาร่วมมือกัน มาร่วมกันเป็นคนรุ่น 2048 ทำให้เกิดอนาคตที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนและในทุกหนแห่งสามารถเข้าถึงได้

 

มาร่วมกันเป็นคนรุ่น 2048

ทำให้เกิดอนาคตที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนและในทุกหนแห่งสามารถเข้าถึงได้

เข้าร่วมตอนนี้