สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 18-25 พฤศจิกายน 2566

29 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

 

ไทย: แอมเนสตี้ชวนคนไทยเขียนจดหมายถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิ ผ่านแคมเปญ ‘Write for Rights’-เขียน เปลี่ยน โลก

25 พฤศจิกายน  2566

 

แอมเนสตี้ ประเทศไทยเปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่สุดในโลก เชิญชวนคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดทั่วโลกผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ถูกละเมิดและครอบครัวของพวกเขารู้สึกว่ากำลังเผชิญอยู่กับการต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม และเพื่อเป็นการสื่อสารไปทั่วโลกว่า ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 22 แล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ อย่างยิ่งใหญ่ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ โดยเชิญชวนศิลปินและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม  นักกิจกรรม ครอบครัวผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Your Words Change Lives”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 22 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 5.3 ล้านแอคชั่นในปี 2565 รวมทั้งการเขียนจดหมาย อีเมล โพสต์ทวีต เฟซบุ๊ก ส่งไปรษณียบัตรหลายล้านครั้ง ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”


อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1194/

 

-----

 

 

อิสราเอล/ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง: ข้อตกลงปล่อยตัวประกันและนักโทษต้องนำไปสู่การปล่อยตัวเพิ่มเติมและการหยุดยิงอย่างยั่งยืน

22 พฤศจิกายน  2566


สืบเนื่องจากข่าวการบรรลุข้อตกลงปล่อยตัวประกันอย่างน้อย 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กชาวอิสราเอล เพื่อแลกกับการปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ที่ถูกควบคุมตัว 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก และการหยุดเพื่อมนุษยธรรมครั้งแรกเป็นระยะเวลาสี่วันในการต่อสู้ระหว่างกองกำลังอิสราเอลกับฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง แอกเนส คาลามาร์ดจากแอมเนสตี้กล่าวว่า:

“ข่าวที่ว่าตัวประกันอย่างน้อย 50 คนที่กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ จับตัวไว้ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ที่ถูกควบคุมตัว 150 คนในเรือนจำของอิสราเอลจะได้รับการปล่อยตัว ถือเป็นความโล่งใจที่น่ายินดีสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องและครอบครัวของพวกเขา แต่ยังจำเป็นต้องมีการดำเนินการอื่นๆ อีกมากเพื่อจัดการกับความทุกข์ยากและความอยุติธรรมที่ดำเนินอยู่

“เรายังเรียกร้องให้ทางการอิสราเอลปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยปราศจากข้อกล่าวหาหรือการพิจารณาคดีในการควบคุมตัวด้วยคำสั่งของฝ่ายบริหาร ผู้ที่คาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวหลายคนเป็นเด็ก ซึ่งอายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี หลายคนถูกควบคุมตัวแต่ยังไม่ถูกตัดสินความผิด อิสราเอลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตลอดเวลาในการปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ

“แม้ว่าความทุกข์ทรมานควรจะสิ้นสุดลงสำหรับตัวประกันที่ถูกปล่อยตัว แต่ความบอบช้ำทางจิตใจของพวกเขาจะคงอยู่อีกยาวนาน เราขอย้ำข้อเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธทั้งหมดปล่อยตัวพลเรือนคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซาโดยทันที การปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ที่ถูกควบคุมตัวไม่ควรเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการปล่อยตัวประกัน การจับตัวประกันถือเป็นอาชญากรรมสงคราม ผู้ที่รับผิดชอบในการลักพาตัวและลิดรอนเสรีภาพของพลเรือนจะต้องถูกนำตัวมารับผิดชอบ

แอมเนสตี้ย้ำข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงที่มีความหมายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งฉนวนกาซาและมีระยะเวลาเพียงพอที่จะบรรเทาทุกข์ได้อย่างแท้จริง การหยุดยิงเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายพลเรือนและบุคลากรด้านมนุษยธรรมได้อย่างอิสระและปลอดภัยทั่วพื้นที่นี้ การหยุดยิงเพื่อให้นำร่างผู้เสียชีวิตออกมาทำพิธีฝังและไว้อาลัย ผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม โรงพยาบาลและคลินิกได้รับการซ่อมแซมและสิ่งของที่จำเป็น

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/israel-opt-deal-to-release-hostages-and-prisoners-must-pave-way-for-further-releases-and-a-sustained-ceasefire/

 

-----

 

 

ซูดาน: พลเรือนต้องทุกข์ทนกับ "ความน่ากลัวอย่างไม่อาจจินตนาการได้" ท่ามกลางความรุนแรงที่มีแรงจูงใจทางชาติพันธุ์ในดาร์ฟูร์

22 พฤศจิกายน  2566

 

ผู้รอดชีวิตและพยานของการโจมตีหลายครั้งที่มีแรงจูงใจทางชาติพันธุ์โดยกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) และพันธมิตรกองกำลังติดอาวุธอาหรับในเมืองอาร์ดามาตา ดาร์ฟูร์ตะวันตกเมื่อต้นเดือนนี้ ส่งผลให้มีพลเรือนหลายร้อยคนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ได้บรรยายฉากที่บาดใจให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า

การโจมตีเริ่มขึ้นประมาณวันที่ 1 พฤศจิกายน เมื่อ RSF เริ่มโจมตีฐานทัพของกองทัพซูดาน (SAF) ในเมืองอาร์ดามาตา และเพิ่มความรุนแรงขึ้นเมื่อเข้ายึดค่ายได้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนมาซาลิทต่างตกเป็นเป้า รวมถึงสมาชิกบางส่วนของชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ พยานเล่าถึงเหตุการณ์ที่พลเรือนถูกสังหารในบ้าน บนท้องถนน และในขณะพยายามหลบหนี

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า

“พลเรือนในดาร์ฟูร์ตะวันตกต้องทนทุกข์กับความน่ากลัวอย่างไม่อาจจินตนาการได้ทุกวัน โดยต้องสูญเสียอีกครั้งในความรุนแรงสุดโต่งที่เพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดนี้ พลเรือนติดอยู่กับวงจรแห่งความเจ็บปวดที่ไม่สิ้นสุด ในขณะที่การโจมตีที่มีเป้าหมายทางชาติพันธุ์ยังคงเกิดขึ้น นำความหวาดกลัวต่อการรบแบบทำลายล้างบ้านเรือนและอาชญากรรมสงครามในทศวรรษก่อนๆ กลับมาอีกครั้ง”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/sudan-civilians-suffering-unimaginable-horror-amid-ethnically-motivated-violence-in-darfur/

 

----- 

 

ทวีปอเมริกา: รัฐต้องประกันสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของนักกิจกรรมเพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

23 พฤศจิกายน 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พร้อมกับเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ก่อนการประชุม COP28 ว่า นักปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศในทวีปอเมริกา ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากประวัติศาสตร์อาณานิคมของภูมิภาค การเหยียดเชื้อชาติ และความไม่เท่าเทียมกันที่สืบทอดมา ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการยอมรับเพียงพอหรือมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ

รายงานเรื่อง “No future without courage: Human rights defenders in the Americas speaking up on climate crisis” นำเสนอ 6 กรณีของบุคคล กลุ่ม และองค์กรที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในบริบทของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในอาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย และเอกวาดอร์

กราซิลา มาร์ติเนซ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า

“ทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับผู้ที่ปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน อาณาบริเวณ และสิ่งแวดล้อม เราได้พูดคุยกับกลุ่มผู้สนับสนุนจากหลายประเทศในทวีปอเมริกา ซึ่งแม้จะเผชิญความท้าทายที่น่ากลัว แต่พวกเขายังคงต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของทุกคน รัฐต่างๆ ต้องให้การยอมรับคุณค่าในงานของพวกเขาต่อสาธารณะ และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยของพวกเขา รวมทั้งยุติการลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่โจมตี”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิหลายคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล แหล่งดูดซับคาร์บอนธรรมชาติ หรือแร่ธาตุสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและมักเป็นการละเมิดสิทธิของประชากรท้องถิ่น ประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง คนเชื้อสายแอฟริกัน หรือชุมชนเกษตรกรรมหรือประมง หลายกลุ่มมีผู้นำหรือประกอบด้วยเด็กผู้หญิง เยาวชน และผู้หญิง โดยทั้ง 6 กรณีในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือการต่อสู้ร่วมกัน

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/americas-states-climate-justice-actvists/

 

----- 

 

โลก: การลงมติสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านภาษีช่วยพัฒนาสิทธิมนุษยชน

22 พฤศจิกายน 2566

 

สืบเนื่องจากการลงมติที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านภาษีและการทำงานเพื่อบรรลุสนธิสัญญาภาษี

ริวา จาลิปา ที่ปรึกษาด้านภาษีและสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในแต่ละปีมีการสูญเสียเงินหลายแสนล้านดอลลาร์จากการหลบเลี่ยงและการหนีภาษีอย่างแข็งขันโดยบริษัทและบุคคล ซึ่งขัดขวางความสามารถของรัฐในการเพิ่มทรัพยากรของตนเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน และทำร้ายผู้ที่ยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุดในสังคมอย่างไม่ได้สัดส่วน

“การลงมติครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และปูทางไปสู่สนธิสัญญาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อจัดการกับเงินประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่สูญเสียไปจากการหนีภาษีทั่วโลก

“ท้ายที่สุดแล้ว สนธิสัญญาควรทำให้มีทรัพยากรมากขึ้นสำหรับการพัฒนาและเงินทุนสำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อการกู้คืนและนำทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปกลับมา และเพื่อปรับปรุงสถาบันสาธารณะ หากไม่มีสิ่งนี้ การหลีกเลี่ยงและการหนีภาษีจะยังคงส่งผลกระทบกัดกร่อนสังคม กัดกร่อนความไว้วางใจ บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเงิน หลักนิติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอย้ำข้อเรียกร้องที่ให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศและสนธิสัญญาในท้ายที่สุด สิ่งนี้จะช่วยให้แน่ใจว่าพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ของรัฐต่างๆ เป็นทั้งแนวทางในการเจรจาและผลลัพธ์ด้วย”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/global-vote-in-favour-of-international-cooperation-on-tax-helps-advance-human-rights/