สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 22 กรกฎาคม - 28 กรกฎาคม 2566

31 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

สิงคโปร์ : ผู้เชี่ยวชาญด้านโทษประหารฯ ชี้ ต้องหยุดการประหารชีวิตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีค้ายาเสพติด

25 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข่าวการประหารชีวิตสองครั้ง ในคดีความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งถูกกำหนดขึ้นในวันพุธที่ 26 กรกฎาคมและวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เคียอาร่า แซนจอร์จิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“นับเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่ทางการในสิงคโปร์ยังคงดำเนินการประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยมต่อไปโดยอ้างว่าเป็นการควบคุมยาเสพติด ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดระบุว่า โทษประหารชีวิตมีผลต่อการยับยั้งการกระทำความผิดหรือมีผลกระทบต่อการใช้และการมียาเสพติดจำหน่าย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังจะหันหลังให้กับโทษประหารชีวิตและยอมรับการปฏิรูปนโยบายด้านยาเสพติด ทางการสิงคโปร์กลับยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยในเรื่องนี้

“ข้อความเดียวที่การประหารชีวิตครั้งนี้ส่งมาก็คือ รัฐบาลสิงคโปร์ยินดีที่จะท้าทายมาตรคุ้มครองระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง"

 

อ่านต่อ: bit.ly/4526unz

 

-----

 

 

อิหร่าน : แอมเนสตี้ ย้ำ ประชาคมโลกต้องยืนหยัดเคียงข้างผู้หญิงและเด็กหญิงที่ไม่ทนกับการกดขี่ด้วยการไม่สวมผ้าคุลมศีรษะ เพราะเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้

26  กรกฎาคม 2566

 

ทางการอิหร่านกำลังเพิ่มวิธีการที่กดขี่ข่มเหงควบคุม และกดขี่อย่างรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงชาวอิหร่าน สำหรับการฝ่าฝืนกฎหมายที่บังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผย

ในการวิเคราะห์อย่างละเอียดที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา  แอมเนสตี้เปิดเผยถึงการปราบปรามทั่วประเทศที่รุนแรงขึ้นของทางการที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเลือกที่จะไม่สวมผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ ในเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม โฆษกตำรวจอิหร่าน ซาอีด มอนทาเซอร์ อัลมาห์ดี้ ได้ประกาศการกลับมาของตำรวจสายตรวจที่จะบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะ และขู่ดำเนินคดีกับผู้หญิงและเด็กหญิงที่ต่อต้านการบังคับให้สวมผ้าคลุมศรีษะ

เหตุการณ์นี้สอดคล้องกับวิดีโอที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นภาพของสตรีที่ถูกทำร้ายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ในกรุงเตหะรานและเมืองแรชต์ และภาพของกองกำลังความมั่นคงที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้คนที่ช่วยเหลือเหล่าผู้หญิงให้รอดพ้นจากการจับกุมในเมืองแรชต์อีกด้วย

 

อ่านต่อ: bit.ly/3qfaIsw

 

-----

 

 

ซูดานใต้ : ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์ แอฟริกา เสนอทบทวนร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติหยุดการจับกุมโดยพลการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

27 กรกฎาคม 2566

 

รัฐสภาควรเสริมสร้างการกำกับดูแล จำกัดอำนาจที่กว้างขวางและไม่มีเงื่อนไข

รัฐสภาซูดานใต้ควรทบทวนร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมของหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติที่ค้างคาอยู่ เพื่อยุติการจับกุมโดยพลการของหน่วยงานและการละเมิดสิทธิอื่นๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จากการที่องค์กรต่างๆ ได้เผยแพร่จดหมายร่วมกันถึงรัฐสภา ระบุถึงรายละเอียดของข้อกำหนดที่มีปัญหาและข้อกำหนดเชิงบวกหลายข้อในร่างกฎหมายดังกล่าว

“การทบทวนอย่างละเอียดและการแก้ไขช่องว่างที่ชัดเจนในกฎหมายว่าด้วยหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมหน่วยงานที่อื้อฉาวนี้” เมาซี เซกัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแอฟริกาที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

"รัฐสภาจำเป็นต้องประกันว่ากฎหมายที่ค้างคาอยู่นั้นจะจำกัดอำนาจของหน่วยงานความมั่นคงและเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานนี้ได้อย่างแท้จริง"

 

อ่านต่อ:  bit.ly/3OAlnaH

 

----- 

 

อเมริกา : เสนอปฏิรูปการเงินเร่งด่วนแก้วิกฤตสาธารณสุข สภาพอากาศ และกลุ่มคนชายขอบ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

25 กรกฎาคม 2566

 

รัฐต่างๆ ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ต้องทำข้อตกลงทางการคลังเพื่อเพิ่มทรัพยากรในการประกันสิทธิมนุษยชนของทุกคนในภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ขบวนการ Debt x Climate ทั่วโลก, Extinction Rebellion, Fridays For Future และองค์กรพันธมิตรอื่นๆ กล่าวเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับรัฐมนตรีของประเทศภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเพื่อระเบียบภาษีสากลที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเท่าเทียมกัน (Latin American and Caribbean Summit for an Inclusive, Sustainable, and Equitable Global Tax Order) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองการ์ตาเฮนา ประเทศโคลอมเบีย ในวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“เราขอเรียกร้องให้ประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียนดำเนินการปฏิรูปทางการเงินในวงกว้างโดยเร่งด่วน เพื่อระดมทุนสำหรับการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพในการรับมือกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมภาคสาธารณสุข และประกันการเข้าถึงบริการสาธารณะสำหรับกลุ่มคนชายขอบในอดีต เช่น ผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมืองและลูกหลานชาวแอฟริกันและกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

 

อ่านต่อ: bit.ly/47aB3IS

 

----- 

 

อิสราเอล/ดินแดนที่ปาเลสไตน์ครอบครอง : ชาวปาเลสไตน์ 500 คนกำลังเผชิญกับการบังคับขับไล่ การพลัดถิ่น และการแบ่งแยกเชื้อชาติ

28 กรกฎาคม 2566

 

ศาลอิสราเอลได้อนุญาตให้ดำเนินการบังคับขับไล่ชนเผ่าเบดูอินชาวปาเลสไตน์จำนวน 500 คนในภูมิภาคเนเกฟ/นากาบ ได้เน้นย้ำถึงการเลือกปฏิบัติที่หยั่งลึกซึ่งพลเมืองชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลเผชิญภายใต้ระบอบการแบ่งแยกเชื้อชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

ในคำพิพากษาที่ออกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ศาลแขวงเบียร์ชีบาให้ประชาชนในหมู่บ้านราส จราบาห์ ต้องออกจากบ้านของพวกเขาและย้ายออกจากที่ดินที่ครอบครัวของพวกเขาเคยอาศัยอยู่กันมานานหลายสิบปีภายในเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนั้นพวกเขายังต้องชำระค่าปรับจำนวน 117,000 นิวเชเกลอิสราเอล (หรือประมาณ 31,700 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย

การบังคับขับไล่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของทางการอิสราเอลในการสร้างเขตชุมชนใหม่สำหรับเมืองดิโมนา ซึ่งผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวยิวอิสราเอล โดยประชาชนในหมู่บ้านราส จราบาห์จะถูกย้ายไปยังเมืองเบดูอินที่ยากจนและถูกแยกจากกันในบริเวณใกล้เคียง

 

อ่านต่อ: bit.ly/3Qe0svm

 

----- 

 

บังกลาเทศ : การประหารชีวิตชายสองคน เผยให้เห็นการเพิกเฉยอย่างโหดเหี้ยมต่อสิทธิในการมีชีวิต

28 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการประหารชีวิตนักโทษชายสองคนในช่วงกลางดึกที่เรือนจำกลางราชชาฮี บังกลาเทศ

เชียร่า แซนจอร์จิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า

“เราขอประณามการประหารชีวิตครั้งล่าสุดและการใช้โทษประหารชีวิตอย่างต่อเนื่องในบังกลาเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยอย่างโหดเหี้ยมต่อสิทธิในการมีชีวิตของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

“โทษประหารชีวิตไม่เคยเป็นทางออกของปัญหา พวกเราเชื่อว่ารัฐต้องไม่มีสิทธิในการพรากชีวิตของบุคคลใดก็ตามเพื่อความยุติธรรม และเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากจำนวนประเทศที่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะมีการกระทำอาชญากรรมใดก็ตาม ไม่ควรมีใครได้รับการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีนี้ นอกจากนั้น ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิด

 

อ่านต่อ: bit.ly/44NWLRr