กว่า 10 ปีที่ต่อสู้ กว่า 10 ปีที่รอคอย วันนี้ความฝันและความหวังกลายเป็นความจริงแล้ว เพราะประเทศไทยในวันนี้มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” บังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แม้จะมีข้อท้าทายหลายอย่างตามมาจากนี้ แต่นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ส่งพลังชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะกฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันให้กับทุกความรักของทุกคน
ในวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมทำหน้าที่ให้ทุกคนได้จดทะเบียนสมรส และรับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายได้แล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนทุกคนมาร่วมเปิดมุมมองและเรียนรู้เส้นทางการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคนกับ ปาหนัน ชัญญา รัตนธาดา นักกิจกรรม LGBTQI+ หนึ่งในพลังสำคัญที่เขาออกตัวว่าเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมกลายเป็นจริง เรื่องราวจากนี้นอกจากคุยเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังชวนตั้งคำถามถึงทิศทางในอนาคตที่สังคมไทยอาจจะต้องรับมือกับข้อท้าทายต่างๆ ที่ตามมา หลักกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ทำหน้าที่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ก้าวแรกของนักขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม
ย้อนกลับไปในปี 2561 เส้นทางการเป็นนักขับเคลื่อนสังคมของปาหนันเริ่มต้นจากรั้วมหาวิทยาลัย เพราะความฝันที่อยากจะเป็นนักขับเคลื่อนทางสังคม สนใจประเด็นเรื่องสิทธิเป็นทุนเดิมตั้งแต่อายุยังน้อย เธอจึงลงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ก่อนจะได้รับโอกาสในการขึ้นพูดปราศรัยในต่อหน้านักการเมืองเมื่อปี 2562 ในช่วงเวลาของการเลือกตั้งในขณะนั้น นับตั้งแต่วันนั้นที่ปาหนันขึ้นไปพูดบนเวทีเป็นเหมือนการปูทางที่ทำให้ได้เข้าสู่วงการนักกิจกรรม ซึ่งนั่นถือว่าเป็นจุดเริ่มตนที่ทำให้ปาหนันได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผลักดันกฎหมายเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศภายใต้ชื่อ 1448 For All ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากมาตราในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการสมรสของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการเดินทางครั้งนั้นเป็นต้นมาก็นำพาให้ปาหนันได้ก้าวเข้ามาสู่บทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กระทั่งกฎหมายฉบับนี้ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายนี้
“ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมเลย รู้เพียงแค่ว่าเป็นการแก้กฎหมายแพ่งให้มีความเท่าเทียมกันจริงๆ” ปาหนันกล่าว
ความท้าทายของเส้นทางนักกิจกรรม
การเป็นนักศึกษาในช่วงเริ่มต้นเส้นทางขับเคลื่อนสังคมของปาหนันในตอนนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อต้องผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ปาหนันต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นนี้ เธอต้องลงแรงกายและใจไปกับการเรียนรู้และลงมือทำอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อไปให้ถึงปลายทางที่ฝันและหวังไว้ ทำให้บางเวลาต้องตัดสินใจไปขอคำปรึกษาจากผู้ร่วมขบวนที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นการผลักดัน ปาหนันยอมรับว่าใช้เวลาปรับตัวอยู่เป็นเวลานานกว่าที่จะสามารถอธิบายความสำคัญและความแตกต่างของกฎหมายเดิมกับการเปลี่ยนแปลงใหม่เรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นการปรับแก้ที่โครงสร้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากฉบับเดิมที่ระบุเงื่อนไขของการจดทะเบียนสมรสไว้เพียงแค่ ‘ชาย-หญิง’ ให้มีความเป็นกลางทางเพศมากยิ่งขึ้น โดยใช้คำว่า ‘บุคคล’ และเปลี่ยนคำว่า คู่สามี-ภรรยา เป็น ‘คู่สมรส’
แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่มีบทบาทผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่เส้นทางของการก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในขบวนที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมของปาหนันได้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ทุกคนเคารพกันซึ่งสิทธิมนุษยชน แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากการไม่รู้ แต่เพราะพรแสวงหรือความอยากรู้ทำให้ทุกวันนี้ปาหนันเป็นหนึ่งในคนที่พูดเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเฉลิมฉลองให้กับการต่อสู้อันแสนยาวนานของกฎหมาย แต่ยังเป็นหน้าต่างบานสำคัญที่จะรับประกันคุณภาพในการใช้ชีวิตให้กับทุกคน
โครงสร้างทางกฎหมายกับความท้าทายในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม
“ความเป็นกลางทางเพศ” เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเพื่อสร้างความครอบคลุมและมอบสิทธิที่เท่าเทียมให้ทุกคนโดยไม่มีใครถูกละทิ้งไว้ข้างหลัง ระหว่างกระบวนการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการมีบุตรที่ถูกปัดตกไปด้วยเหตุผลที่ว่าอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอื่นๆ อีก47 ฉบับ เนื่องจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยภาคประชาชนนั้นมีเนื้อหาครอบคลุมถึงสิทธิในการมีบุตรของคู่สมรสเพศเดียวกัน รวมถึงการใช้ วิธีการตั้งครรภ์แทน ที่ถูกกำหนดให้เฉพาะ พ่อและแม่ตามเพศกำเนิด เท่านั้น ที่มีสิทธิในการใช้ทางเลือกนี้
สิ่งนี้ทั้งปาหนันและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนหนึ่งมองว่ากลายเป็นข้อจำกัดที่สะท้อนถึง “ความไม่เป็นกลาง” ที่ยังคงฝังรากลึกในโครงสร้างกฎหมายและระบบสังคม ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่ยังคงจะขับเคลื่อนกันต่อในอนาคต ขณะที่ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่บังคับใช้ปัจจุบันได้ให้สิทธิคู่รักรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่จะต้องมีอายุห่างกัน 15 ปีขึ้นไป
“เวลาที่คนสองคนไปจดทะเบียนสมรสกัน บางครอบครัวอาจไม่ต้องการมีลูก แต่ในหลายครอบครัวก็อาจต้องการมีลูกที่มาจากสายเลือดของตัวเอง ก็ดูเหมือนจะมีความเท่าเทียมจริงๆ นะ แต่ก็มีอีกนิดเดียวที่เรายังไปไม่สุดคือการให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญแทนกันได้”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายที่นักกิจกรรมผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญในขณะนั้นคือ คณะทำงานภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในชื่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่แม้จะดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะรองรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ แต่ในความเป็นจริง กฎหมายฉบับนี้กลับไม่ได้มีจุดประสงค์ในการแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ซึ่งเป็นรากฐานของความไม่เท่าเทียมที่ครอบคลุมไปถึงทุกคน
“พ.ร.บ.คู่ชีวิตคือการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะทำให้ LGBTQI+ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ แต่ทำไมเราถึงไม่ไปแก้ที่โครงสร้างเพื่อให้ทุกคนมีความเท่าเทียม”
บทเรียนจากงานวิจัยสู่การเปลี่ยนแปลง
อ๋อง ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความ และนักกฎหมายที่เชื่อในสิทธิความเสมอภาคในการจัดตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คือชื่อของบุคคลที่ปาหนันยกขึ้นมาเล่าในการพูดคุยเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นชื่อของหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จากปัญหาจริงที่พบเมื่อปี 2554 ในกรณีคู่รักชาย-ชายชาวเชียงใหม่ที่ต้องการจดทะเบียนสมรส แต่กลับถูกปฏิเสธเพราะกฎหมายระบุว่ามีเพียงชาย-หญิงเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนได้ ก่อนที่เรื่องราวนี้จะถูกนำมาร้อยเรียงเป็นวิทยานิพนธ์ที่ปูทางให้กลุ่มคนทำงานได้นำเอาข้อมูลมาใช้สื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันในเรื่องนโยบาย หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน
“สมรสเท่าเทียมไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เป็นหลักประกันสิทธิสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานที่คู่รักทุกคนควรได้รับ”
สำหรับปาหนัน กฎหมายสมรสเท่าเทียมเปรียบเสมือนกุญแจที่ปลดล็อกให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิต ที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจดทะเบียนสมรส แต่รวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตคู่
“อย่างน้อยกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะทำให้เราไม่ต้องเห็นใครสูญเสียเพียงเพราะคู่ชีวิตไม่มีสิทธิเซ็นเอกสารแทนกัน หรือแม้แต่เรื่องของทรัพย์สินที่เราต้องไม่เห็นใครเจ็บปวดจากเรื่องนี้อีกแล้ว”
กฎหมายสมรสเท่าเทียมสามารถลดอคติทางเพศได้มากน้อยเพียงใด?
“มันลดอคติไม่ได้หรอก ถ้าตราบใดที่สังคมยังมีความกลัวอยู่”
ปาหนัน ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของอคติทางเพศที่ฝังรากลึกในสังคมไทย แม้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นความก้าวหน้าทางสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนได้ในทันที เนื่องจากความกลัวและอคติยังคงถูกหล่อหลอมผ่านกรอบแนวคิดและค่านิยมทางสังคมกดทับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้กระทั่งการยอมรับที่ต้องมาพร้อมกับเงื่อนไขอย่างวลีที่ว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดีก็พอ” ก็สามารถสะท้อนถึงมาตรฐานที่สังคมคาดหวังได้อย่างชัดเจนว่า LGBTQI+ จะต้องเป็น “คนดี” ในสายตาของทุกคน จึงจะไม่ถูกผลักออกไปให้กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบ

และเมื่อมองลึกไปถึงมิติของครอบครัว ปาหนันชวนตั้งคำถามสำคัญกับสังคมว่า “คุณยอมรับ LGBTQI+ ได้ไหม?” ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนอาจตอบว่ารับได้ แต่หากเปลี่ยนคำถามเป็น “ถ้า LGBTQ คนนั้นเป็นลูกของคุณล่ะ?” คำตอบที่ได้รับอาจเปลี่ยนไปทันที ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอคติทางเพศยังคงฝังแน่นอยู่ในบริบทของครอบครัวและสังคม
และไม่เพียงแค่บริบทของสังคมไทย แต่การไหลเข้ามาของแนวคิดต่อต้าน LGBTQI+ จากต่างประเทศยังส่งผลต่อการเพิ่มเงื่อนไขและข้อจำกัดต่อกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยอีกด้วย อคติเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงระหว่างกลุ่มชาย-หญิง แต่ยังแพร่กระจายสู่ความระแวงกันเองภายในกลุ่ม LGBTQ ด้วยกัน หนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือเมื่อผู้หญิงข้ามเพศเปลี่ยนคำนำหน้าเป็น “นางสาว” ก็อาจถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อใช้สิทธิในทางที่ผิดหรือหลอกลวงผู้อื่น
ปาหนันอธิบายเพิ่มเติมว่า ระบอบชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยยังคงสร้างความท้าทายให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้แล้ว แต่ความคิดอคติยังคงสะท้อนออกมาในหลายมิติ เช่น การกีดกันในที่ทำงาน โดยงานวิจัยจาก World Bank (กลุ่มธนาคารโลกเป็นแหล่งให้ทุนและความรู้แก่ประเทศกำลัง พัฒนาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก) ระบุว่ากลุ่มคนข้ามเพศคือกลุ่มที่ถูกผลักออกจากตลาดแรงงานมากที่สุด เพราะถูกมองว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในที่ทำงาน
“มันเป็นมิติของความชายเป็นใหญ่ที่อยู่รอบตัวเราที่ไม่ได้กระทบแค่สิทธิของคนข้ามเพศ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนในอัตลักษณ์อื่นๆ หรือแม้แต่ผู้หญิงเอง”
ภาพฝันที่อยากเห็นสังคมไทยมองต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“ไม่ต้องการอะไรมาก ขอแค่มองเราว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับทุกคน ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติกับเราว่าเป็นคนพิเศษ หรือยกย่องว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์ที่เหนือกว่าคนทั่วไป เพียงแค่มองว่าเราคือเพื่อนมนุษย์ที่มีลมหายใจร่วมกัน และทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัยเท่านั้นก็พอ”
ปาหนันกล่าวถึงความหวังที่อยากเห็นในสังคมไทย พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงให้ความปลอดภัยและเป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้กระแสโลกในหลายพื้นที่จะเต็มไปด้วยความเกลียดกลัว (Homophobia) ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“หากเราสามารถสร้างความมั่นใจและปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทยจะไม่เพียงเป็นสวรรค์ของการท่องเที่ยวที่ดึงดูดเงินตราเข้าประเทศ แต่ยังเป็นสวรรค์ทางจิตใจที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข” ปาหนันกล่าว

ขับเคลื่อนกฎหมายกับก้าวต่อไปหลังจากนี้
หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับการประกาศใช้ ปาหนันยังคงมีเป้าหมายในการผลักดันกฎหมาย “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ” หรือ “Gender Recognition” เพราะจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองได้โดยที่ไม่ถูกกีดกันให้กลายเป็นคนชายขอบ พร้อมทั้งทำให้ตัวตนของพวกเขาได้รับการยอมรับในฐานะมนุษยชนหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
“ทุกวันนี้ เราไม่สามารถมองกรอบทางเพศว่าเป็นเพียงชาย-หญิงอีกต่อไป เพราะยังมีกลุ่มคนอีกมากที่นิยามอัตลักษณ์ของตัวเองในรูปแบบที่หลากหลาย การมีกฎหมายที่รองรับและเคารพในอัตลักษณ์ทางเพศเหล่านี้ จะช่วยให้พวกเขาได้รับการยอมรับและมีอิสระที่จะเป็นตัวเองในสังคม”
และแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญ แต่ปาหนันและกลุ่มผู้ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนยังคงมุ่งมั่นที่จะขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และผลักดันให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและการยอมรับอย่างเต็มที่
“อย่าไปเกลียดกลัว หรือมองพวกเขาเป็นมนุษย์ประหลาดเลย”
เพราะพลังเล็ก ๆ ของคนธรรมดาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมได้เสมอ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนหยัดเคียงข้างทุกคน พร้อมทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
___
ฟังเสียงของปาหนัน ชัญญา รัตนธาดา ได้แบบเต็มๆ ที่
Apple Podcast: https://bit.ly/3ClWQTx
YouTube: https://bit.ly/4attwHk
Spotify: https://bit.ly/4h5BvNb
___
ร่วมขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไปกับสินค้าของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ที่ : https://bit.ly/4hn2O5o
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้