Human Rights Agenda เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน

2 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

นับแต่การประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566  พรรคการเมืองต่างเร่งเดินเครื่องเต็มสปีดในการแสดงนโยบายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเสนอตัวเป็นตัวแทนของปวงชนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร  แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้ยินพรรคการเมืองหยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนชูขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียง 

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของคนธรรมดา จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม 8 องค์กร จัดเวทีดีเบต เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำวาระสิทธิมนุษยชน HUMAN RIGHTS AGENDA” เพื่อเรียกร้องให้พรรคการเมืองแสดงจุดยืนและยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานทางนโยบาย ผลักดัน และนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

พรรคการเมือง 15 พรรคตอบรับเข้าร่วมเวทีดีเบต ซึ่งเปิดตัวที่กรุงเทพฯ ต่อด้วยเวทีในส่วนภูมิภาคที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และปัตตานี ได้รับความสนใจจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเป็นอย่างมาก

เวทีกรุงเทพฯและเชียงใหม่ให้ความสนใจประเด็นสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เวทีปัตตานีให้ความสนใจประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม  ส่วนเวทีขอนแก่นให้ความสนใจประเด็นสิทธิทางพลเมือง สิทธิทางการเมือง และการไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาลและมาตรการป้องกันการทุจริต ในจำนวนเท่า ๆ กัน

 

หลากหลายพรรคการเมืองเข้าร่วม

ในการจัดโครงการวาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองหลากหลายพรรคตอบรับการเข้าร่วมงาน  โดยทางทีมนโยบายร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม 8 องค์กร ได้เข้าพบพรรคการเมืองทั้งหมด 4 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ  พรรคประชาธิปัตย์  พรรคก้าวไกล และพรรคชาติไทยพัฒนา มีพรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานตามเวทีในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้

เวทีส่วนกลางจัดขึ้นที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 มีพรรคการเมืองที่เข้าร่วม  ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยภักดี พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคสามัญชน พรรคเสมอภาค พรรคเป็นธรรม

เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัด ณ บึงศรีฐาน จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 พรรคการเมืองที่เข้าร่วม ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคสามัญชน พรรคไทยสร้างไทย พรรคไทยภักดี

เวทีภาคเหนือ จัดที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566  พรรคการเมืองที่เข้าร่วมได้แก่ พรรคพลังสยาม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล พรรคสามัญชน พรรคเพื่อไทย

เวทีภาคใต้ จัดที่ลานวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมได้แก่ พรรคก้าวไกล  พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเป็นธรรม พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ

 

เฟิสต์โหวตเตอร์คึกคัก

แอมเนสตี้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรณรงค์และส่งเสริมให้กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first voter – เฟิสต์โหวตเตอร์) คำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งและสร้างข้อถกเถียงในนโยบายของพรรคการเมืองด้านสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ก่อนถึงวันเปิดเวทีดีเบต เราได้มีการตระเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชน โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ ต่ำกว่า 18 ปี และอายุ 18-25 ปี โดยนำข้อคิดเห็นจากวงคุยมาพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนานโยบายและนำเสนอต่อพรรคการเมือง ผู้เข้าร่วมงาน รวมถึงบนสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์

ในด้านจำนวนผู้เข้าร่วมงานเวทีดีเบตทั้งสี่ภาค มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งหมดประมาณ 2,000 คน โดยเวทีจังหวัดปัตตานี มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งออนไลน์และลงชื่อหน้างานเป็นจำนวนมากที่สุด 778 คน

จากผลสำรวจแบบสอบถามผู้เข้าร่วมพบว่า เวทีที่จังหวัดขอนแก่นมีนักเรียนนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมมากที่สุดร้อยละ 48.9 เนื่องจากเป็นเวทีแรกและเวทีเดียวที่จัดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัย และมีสโมสรคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ร่วมจัด และมีเด็กเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งได้ตั้งคำถามถึงพรรคการเมืองโดยตรงอีกด้วย  รองลงมาเป็นเวทีที่จังหวัดปัตตานี มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมร้อยละ 38.5

ส่วนเวทีที่กรุงเทพและเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีนักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมน้อยกว่าเวทีที่ขอนแก่น และปัตตานี หากแต่พิจารณาแล้ว นักเรียน นิสิต นักศึกษาก็ยังคงเป็นผู้เข้าร่วมอันดับต้น ๆ ในงาน นอกเหนือไปจากประชาชนและภาคประชาสังคม

ำหรับเฟิสต์โหวตเตอร์ที่เข้าร่วมงานมีสัดส่วนมากที่สุดที่เวทีจังหวัดปัตตานีมีสัดส่วนมากถึง 59 % ของผู้ที่มาร่วมงาน  รองลงมาคือขอนแก่น 38.3 %

จากแบบสำรวจยังพบว่าในแต่ละพื้นที่มีความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยที่เวทีกรุงเทพฯและเชียงใหม่ มีความสนใจสิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เวทีปัตตานีมีความสนใจสิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคมเวทีขอนแก่นความสนใจสิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและการไม่เลือกปฏิบัติธรรมาภิบาลเเละมาตรการป้องกันการทุจริตจำนวนเท่ากัน

เวทีดีเบต วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน มีความโดดเด่นแตกต่างจากเวทีอื่น เนื่องจากเน้นประเด็นสิทธิมนุษยชน  สิ่งที่ประทับใจที่ผู้เข้าร่วมงานในแต่ละภูมิภาคกล่าวถึงคือ ช่วยทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้นำ และของแต่ละพรรคการเมือง  การดำเนินกิจกรรมทำได้อย่างไหลลื่น ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีคำถามที่ตรงจุดจากทางแอมเนสตี้ พูดกันอย่างตรงประเด็น ที่สำคัญคือมีการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมได้ตั้งข้อเสนอให้กับพรรคการเมือง

 

ก้าวต่อไปกับงานสิทธิในภูมิภาค

การจัดงานเวทีดีเบต วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน ในภูมิภาค นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่แอมเนสตี้ได้ทำงานกับอาสาสมัครหรือสมาชิกในภูมิภาค ซึ่งมีส่วนช่วยให้ได้รับทราบบทบาทการทำงานและจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อย่างใกล้ชิดมากขึ้น และมีโอกาสที่จะพัฒนาโมเดลของเวทีในลักษณะใกล้เคียงกันให้เกิดขึ้นในอนาคต 

คณะทำงานเวทีภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น มองว่ามีโอกาสพัฒนาโมเดลของเวทีในลักษณะใกล้เคียงกันให้เกิดขึ้นในอนาคต อาจจะมีระดับที่เล็กลงสำหรับท้องถิ่น และมีความเป็นไปได้ในการเชื่อมสมาชิกและนักกิจกรรม เพื่อรณรงค์ทางนโยบายในพื้นที่ เช่น ประเด็นธรรมาภิบาลและอำนาจท้องถิ่น  ทั้งยังมองว่าหากใน 4 ปีข้างหน้ามีการจัด Human Rights Agenda การโฟกัสไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ยังคงเป็นเรื่องสำคัญทั้งในแง่ที่ว่าเป็นยุทธศาสตร์การทำงานและเป็นการใช้พื้นที่ในภูมิภาค ในการสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กร

สำหรับโอกาสในการจัดเวทีภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ คณะทำงานเห็นว่า ในการร่วมจัดครั้งต่อไปหากมีสถานศึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมด้วย จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ในส่วนของคณะทำงานเวทีภูมิภาคจังหวัดปัตตานี เห็นว่าในอนาคตอาจจะมีการจัดเวทีผู้หญิงล้วนเพื่อเสริมประเด็นเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิง (empowering women) และหากมีการจัดเวทีภูมิภาคอีก การทำงานร่วมกันในรูปแบบนี้ ในอนาคตควรมีการขยายการทำงานกับมหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาสังคม พรรคการเมือง เยาวชนและนักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น