#Freeratsadon III ฟรีราษฎร

2 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

#Freeratsadon (ฟรีราษฎร) เป็นแคมเปญที่เป็นดีเอ็นเอของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ในแง่ที่ว่าเป็นงานที่ยืนหยัดเคียงข้างนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนกำลังใจแก่นักโทษทางการเมืองซึ่งเป็นงานแรก ๆ ตั้งแต่เมื่อ 46 ปีก่อน (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ที่แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล รณรงค์ให้นานาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในคดี 6 ตุลา

แอมเนสตี้เริ่มทำงานรณรงค์ Freeratsadon นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองนำโดยเยาวชนครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 และมีแกนนำที่เป็นนักกิจกรรมและเยาวชนรวมถึงเด็กถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาจากการใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 (วันแรกของการชุมนุมของเยาวชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,938 คนใน 1,264 คดี (คดีสิ้นสุดแล้ว 469 คดี) เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 286 รายใน 217 คดีผู้หญิง 448 คนและ LGBTQ+ 68 คน 

 

แอมเนสตี้ ในฐานะองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้สร้างพื้นที่ปลอดภัยสร้างแรงบันดาลใจและยืนหยัดเคียงข้างคนทำงานและเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ทำกิจกรรมหลัก ๆ ในแคมเปญฟรีราษฎรตลอดปี 2566 ซึ่งมีทั้งการเขียนจดหมายถึงนักกิจกรรมที่กลายเป็นนักโทษทางการเมืองและการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิผู้ต้องขัง

 

ภาพรวมการรณรงค์

ฝ่ายรณรงค์สาธารณะของแอมเนสตี้มีบทบาทอย่างสำคัญในการรณรงค์ #Freeratsadon (ฟรีราษฎร) นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองนำโดยเยาวชนครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 และมีแกนนำที่เป็นนักกิจกรรมและเยาวชน รวมถึงเด็กถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาจากการใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 (วันแรกของการชุมนุมของเยาวชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 1,938 คน ในจำนวน 1,264 คดีมีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 469 คดี ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 795 คดี อยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่าง ๆเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี ผู้หญิง 448 คน และ LGBTQ+ 68 คน

นักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีไม่ได้รับความเป็นธรรมหลายประการ เช่น ไม่ได้สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี หรือเมื่อถูกตัดสินเข้าเรือนจำแล้ว ถูกปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐานสากล แอมเนสตี้จึงได้จัดกิจกรรม Take Action จำนวนทั้งหมด 2 ครั้ง ดังนี้

- 18 กันยายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทยส่งข้อเรียกร้องถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลใดๆ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข  รวมถึงยกเลิกข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงด้วย พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังกรมราชทัณฑ์ต้องดูแลเคารพสิทธิของผู้ต้องขังและทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและทันท่วงที สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตามข้อกำหนดแมนเดลา

- 26 กันยายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้คืนสิทธิในการประกันตัวดูแลและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังเป็นอย่างดีพร้อมแสดงจุดยืนขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมทั้งต้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันทีและไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้เมื่อ 18 กรกฎาคม 2566 ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีและการปล่อยตัวนักกิจกรรม เด็กและเยาวชนในคดีมาตรา 112 ในคดีของนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน ซึ่งอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ ขณะที่เขามีอายุ 16 ปี

 

จดหมายถึงเพื่อนราษฎร ณ เรือนจำ

ฟรีราษฎรยังทำงานติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพง ทั้งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเรือนจำอื่น โดยการเชิญชวนให้คนที่อยู่ข้างนอกเขียนจดหมายให้กำลังใจถึงคนข้างใน

การเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้อยคำที่ส่งถึงกันผ่านจดหมายกระดาษ หรือทางออนไลน์ มีคุณค่าต่อผู้รับที่อยู่หลังกำแพงเรือนจำ ให้ข้ามผ่านแต่ละวันอันจำเจ และประคับประคองอุดมการณ์ในการต่อสู้ให้หยัดยืนอย่างมั่นคง 

กล่าวได้ว่าแอมเนสตี้เป็นต้นแบบการทำงานด้านการเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขัง โดยจะเห็นว่าในระยะหลังมีหลายกลุ่มกิจกรรมที่รับเอาการเขียนจดหมาย เขียนโปสการ์ดถึงเพื่อนผู้ต้องขังไปทำต่อในหลายครั้งหลายคราว เพื่อส่งกำลังใจ และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ก่อนหน้านี้การติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังมักกระทำผ่านทางจดหมายกายภาพ บ่อยครั้งประสบปัญหาถูกเซ็นเซอร์ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2566 จึงมีการเปลี่ยนไปใช้ Domimail ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นจดหมายออนไลน์ในเรือนจำ มีความสะดวกในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น โดยมีการติดต่อกับ อัญชัญ ปรีเลิศเป็นรายแรก  ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่ติดต่อผ่านระบบ Domimail ทั้งหมด 9 ราย

ป้าอัญชัญในวัย 60 ตอนปลาย ผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก 43.6 ปีจากคดีการแชร์รายการของบรรพต 29 คลิป ความผิดทั้งหมดตามมาตรา 112 เขียนตอบกลับมาในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ป้ารู้สึกเสียดายและเสียใจที่ตนและผู้ต้องขัง 3-4 แสนคน ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ตอนนี้สุขภาพของป้าเริ่มแย่ลง ต้องระวังทั้งสุขภาพจิตและกาย เพราะแก่มากแล้ว กินอะไรก็ลำบาก ป้าจำคุกมา 6 ปีกว่าแล้ว อย่าขังคนแก่นานเลย หามาตรการอื่นแทนการจำคุกดีกว่าไหม  ป้าจะรอวันนั้นวันที่เฝ้ารอได้รับอิสรภาพ ฝากความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ด้วย และขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ลืมป้าอัญชัญ

เพื่อนราษฎรที่พำนักอยู่ในเรือนจำล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าแคมเปญเขียนจดหมายนั้นเป็นแคมเปญที่ดี เพราะถ้อยคำในจดหมายช่วยเสริมสร้างกำลังใจ และช่วยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

มะ-ณัฐชนน แก้วแพงมากช่างไฟฟ้าวัย 25 ปีที่ต้องคำพิพากษาจากคดีมีวัตถุระเบิดในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต คดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์เป็นผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตอบจดหมายลงวันที่ 24 ตุลาคม 2565 มาว่า

“ขอบคุณอย่างมากครับ III ทุกกำลังใจและความช่วยเหลือที่ถูกส่งผ่านมาทางแอมเนสตี้  ได้อ่านข้อความในจดหมายมันทำให้ผมมีความสุขมาก  ขอบคุณที่ทุกคนยังไม่ลืมและทิ้งผมไว้หลังกำแพง รจภ กรุงเทพ ดีใจและทราบซึ้งเป็นอย่างมาก  มันทำให้ผมไม่สามารถกลั้นน้ำตาแห่งความดีใจนี้ไว้ได้เลย แอบนอนร้องไห้อยู่ใต้ผ้าห่ม อ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ  ยังคงเข้มแข็งยืนเด่นอย่างมีเกียรติ  ท้าทายเพื่อศักดิศรีของความเป็นมนุษย์  ต่ออำนาจเผด็จการที่รังแกประชาชน  ผู้รักประชาธิปไตย  ขังได้แค่ตัว แต่อุดมการณ์ไม่ได้จางหายไปไหน  ถึงแม้เส้นทางที่ร่วมสร้างมันฟังดูไม่สวยงามแต่ซักวันเสรีภาพจะเกิดกับประชาชนทุกคนครับ  เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เราคือเพื่อนกันขอบคุณครับ” (หมายเหตุ- ตัวสะกดตามลายมือที่มะเขียนในจดหมาย)

จดหมายฉบับอื่น ๆ ของมะ มักจะเป็นการแสดงความยินดีที่ได้รับจดหมายและส่งกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมอุดมการณ์คนอื่น และยืนยันว่าอุดมการณ์ของตนยังเข้มแข็ง อย่างเช่น ฉบับลงวันที่  1 มิถุนายน 2566 ความตอนหนึ่งว่า

“...ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครรู้จักกันเลยได้แค่เดินสวนกันและยืนข้าง ๆ กัน  แต่มาวันนี้พวกเราได้พูดคุยกันแล้ว...”

นั่นเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ว่ามะเคยเป็นเพียงหนึ่งในมวลชนที่ไม่เคยถูก “แสง”สาดส่อง  แต่ในวันที่ชีวิตของเขาต้องอยู่หลังกำแพงสูง  ถ้อยคำที่มาในจดหมายได้กลายเป็นแสงแห่งความหวังต่อชีวิตของเขาได้ต่อไป

อีกความคิดเห็นหนึ่งมาจาก กฤษณะอาสาสู้วัย 37 ปี ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุด จากกรณีแจกใบปลิว-ขายเสื้อมีโลโก้สหพันธรัฐไท ส่งจดหมายถึงเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ เมื่อ 12 กันยายน 2566 ว่า

“ขอบคุณการมีแคมเปญเขียนจดหมายให้กำลังใจผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นสิ่งที่ จำเป็นมาก ๆ” เพราะพวกเราต้องปรับตัวอย่างมากในการดำรงชีวิต และต้องการกำลังใจที่จะใช้ชีวิตและอดทนต่อการคุมขังที่ไม่สามารถแสดงออกทางความคิดความอ่านได้เท่าที่ควร และการดำเนินชีวิตที่ซ้ำซากจำเจเพื่อให้ผ่านไปในแต่ละวันให้ผ่านไปไว ๆ เพื่อให้ถึงวันที่เราได้พ้นโทษหรือได้ประกันตัวออกจากเรือนจำนี้ในเร็ววัน  ผมเองก็พยายามคิดในแง่บวกเพื่อให้ชีวิตมีความหมายและสร้างกำลังใจและปลอบใจตัวเอง สิ่งที่เราเรียกร้องและได้เสียสละ เราก็ได้ทำอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ  ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็ตามแต่...”

ส่วน วุฒิ-วุฒิพงศ์รัตนโชติช่างเชื่อมที่ถูกแจ้งข้อหา ม.112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ข้อความ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่เรือนจำมีนบุรี ได้เขียนจดหมายผ่าน Domimail มาถึงแอมเนสตี้ เมื่อ 20 ธันวาคม 2566 เพื่อขอบคุณและอวยพรวันขึ้นปีใหม่ให้แก่เพื่อนที่มีใจรักในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ว่า

“ขอเป็นตัวแทนนักโทษทางการเมือง มาตรา 112 ทั่วประเทศ ขอบคุณทุกคน ไม่ว่าจะเป็นองค์กร บุคคลที่ยืนหยัดเคียงข้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่นิ่งเดียวดาย และคอยช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนของคนในชาติ”

เราพอจะจับน้ำเสียงที่ส่งผ่านตัวอักษรได้ว่า วุฒิดูจะไม่มีความหวังมากนักกับการที่จะหลุดพ้นจากคดีนี้ ในห้วงเวลากว่า 270 วัน แต่เรายังสามารถเขียนจดหมายให้กำลังใจวุฒิ และเพื่อนราษฎร ณ เรือนจำอื่น ๆ เพื่อเป็นกำลังใจและแสดงให้เห็นว่าเรายังยืนเคียงข้างพวกเขาตลอดไป

เขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ

ผู้ที่คดีสิ้นสุดแล้ว https://forms.gle/DPucMhCQmvbytwPn8

ผู้ที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี https://forms.gle/XUBTWW1yuKbuMGU9A

 

แม้ถ้อยคำที่ส่งผ่านจดหมายจะมิอาจทำให้เกิดปาฏิหาริย์ แต่ตัวอักษรที่ผ่านการร้อยเรียงด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาจะเป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจให้แก่ผู้อยู่หลังกำแพง ยังคงมีแรงสู้กับความอยุติธรรมที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป