ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ผ่านอีกด่านแล้ว ฟังเสียงจาก...ชาวมุสลิม ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Transgender Woman หรือ ผู้หญิงข้ามเพศ

28 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

“ถ้าอยากอยู่ให้ปลอดภัย ก็ไม่ต้องบอกว่าเราเป็นใคร วันที่เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราเป็นอะไร มันโคตรเจ็บปวดเลย มันโคตรเจ็บปวดมาก ๆ ที่เราไม่สามารถที่จะใส่ชุดสวย ๆ แต่งหน้าสวย ๆ หรือมีผมยาว ๆ แบบคนอื่น แบบที่เราฝันในวัยเด็ก ว่าเราอยากเป็นอะไร”

 

เธอคือใคร ?

“เรานับถือศาสนาอิสลาม นิยามตัวเองว่าเป็น Transgender หรือผู้หญิงข้ามเพศ ในสังคมมุสลิม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดการยอมรับเรื่องนี้ เพราะปัจจัยด้านคำสอนและความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลต่อการเปิดใจยอมรับ แม้ปัจจุบันสิทธิความหลากหลายทางเพศจะก้าวหน้าไปมากแต่ในประเด็นนี้ก็ยังล้าหลังในบางกลุ่ม เห็นชัดจากร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก แต่ในสังคมมุสลิมยังเป็นเรื่องของการโต้เถียงกันอยู่ในบริบทศาสนา แต่ถามว่าเราในฐานะประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายนี้ควรที่จะเริ่มต้นพูดเพื่อไม่ให้เราถูกเลือกปฏิบัติไหม ตอบได้เลยว่า “ควรอย่างยิ่ง”

 

เธอมาจากครอบครัวแบบไหน ? 

”เราอยู่ในครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัดหลักคำสอน ตั้งแต่เด็กจนโตถูกเลี้ยงอยู่ในกรอบของศาสนาพอสมควร เรียนหนังสือ วิ่งเล่นกับเพื่อนเสร็จ ตกเย็นต้องไปมัสยิดทำละหมาด เพราะพ่อเป็นครูสอนศาสนา ทำให้เกือบทุก ๆ คืน เขาจะชวนอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน แต่หลังจากพ่อเสียชีวิต จากโลกนี้ไป ทำให้ชีวิตพลิกผันต้องย้ายบ้านจาก จ.นครนายก มาอยู่แถว จ.นนทบุรี กับญาติพี่น้อง ถูกส่งให้เรียนในโรงเรียนสอนศาสนาและสามัญควบคู่กันย ถามว่าทางบ้านรู้หรือไม่ว่าเป็น ผู้หญิงข้ามเพศ เรามั่นใจว่าทุกคนรู้ แต่ถ้าอยากอยู่อย่างปลอดภัย สิ่งที่เป็นอยู่นั้น ต้องถูกฝังและเก็บไว้ในส่วนลึกของหัวใจ ห้ามบอกใครว่าเราเป็นเพศอะไร เพื่อเป็นเกราะป้องกันชีวิตตัวเอง

 

ศาสนา เชื่อว่า LGBTIQ+ เป็นโรค ?

“เราโตมาในครอบครัวที่รายล้อมด้วยความเชื่อเรื่องศาสนาอิสลามแบบเคร่งครัด เมื่อครอบครัวดูออกว่าเราเป็นอะไร จึงเชื่อว่าโรงเรียนสอนศาสนาจะขัดเกลาจิตใจให้เรากลับมามีวิถีชีวิตตามเพศสภาพได้เหมือนปกติ ยกตัวอย่างครอบครัวของเรา เขามองว่า ‘กะเทย’ หรือ ‘กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ’ คืออาการป่วยหรือโรคชนิดหนึ่งในผู้คน จึงใช้วิธีบำบัดเพศวิถีในสิ่งที่เราเป็น ด้วยการส่งเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนา แต่ในความเป็นจริง ทุกคนไม่รู้ว่าการทำแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้เราหายหรือสมัครใจกลับไปมีชีวิตเหมือนกับผู้ชาย เพราะการเป็น ผู้หญิงข้ามเพศสำหรับเรา มันไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ แต่มันเป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะเป็นและอยู่กับมันตั้งแต่จำความได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในชีวิตด่านแรกที่รั้วโรงเรียน

 

โรงเรียนสอนศาสนา ความศรัทธา อุปสรรค กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ?

”ความรุนแรงที่เจอ มาจาก ‘อคติของคน’ เราถูกตีตรา ถูกลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถูกด่าหยาบคาย อีกะเทยแบบนั้น อีกะเทยแบบนี้ นั่นคือคำที่เราได้ยินมาตลอดเมื่อถูกส่งไปโรงเรียนสอนศาสนา สถานที่ที่ครอบครัวเชื่อว่าจะช่วยบำบัดให้หายจากการเป็น ผู้หญิงข้ามเพศได้กลับกลายเป็นเหมือนสุสานที่เราต้องเอาชีวิต สุขภาพจิตใจเข้าไปเสี่ยง  ในตอนนั้นเราจึงต้องสร้าง Safe Zone ชุมชนของตัวเองในรั้วโรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเราที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่นับถือศาสนาอิสลามขึ้นมาเพื่อให้อย่างน้อยพวกเราไม่ต้องพบเจอกับความรุนแรงตลอดเวลา  กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในสังคมมุสลิมถึงแม้จะมีคนส่วนน้อยเข้าใจความเป็นมนุษย์ แต่คนจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเป็น

 

Safe Zone -พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยของ กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นับถือศาสนาอิสลามในโรงเรียน

“แม้จะมี Safe Zone ชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างขึ้นมาเป็นเกราะป้องกัน พื้นที่ปลอดภัย สร้างความสบายใจในรั้วโรงเรียนสอนศาสนา แต่ก็ยังพบการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกทำให้รู้สึกเป็นตัวประหลาดในรั้วโรงเรียน สิ่งที่จำขึ้นใจไม่มีวันลืม คือในช่วงมัธยมตอนปลายกลุ่มเราจะแต่งหน้าก่อนเรียนภาคบ่าย แต่สิ่งที่เจอครูเห็นเราแต่ง จึงหยิบผ้าขี้ริ้วหรือผ้าเช็ดเท้าหน้าห้องน้ำมาเช็ดเครื่องสำอางบนหน้าและบอกว่าให้ไปล้างเครื่องสำอางออก แม้เขาจะมองว่าเป็นเรื่องที่เขาต้องทำเพื่อต้องการตักเตือนแต่สำหรับเราคิดว่ามันคือการตัดสินและลงโทษเราแล้ว ไม่เห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ ลดทอนศักดิ์ศรี ทำให้เราต้องรู้สึกอับอายต่อหน้าผู้คนเพื่อทำให้เห็นว่าเด็กผู้ชายคนไหนแต่งหน้าต้องโดนแบบนี้มันไม่ต่างอะไรจากการเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อแสดงว่าครูเขามีอำนาจเหนือตัวร่างกายพวกเรา

 

ความเชื่อที่ไม่ง่ายต่อการลบออกไปจากพจนานุกรม ระหว่าง กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กับศาสนาอิสลาม

”บาปใหญ่ที่อภัยไม่ได้“ กลุ่มคนที่เชื่อในศาสนาตัดสินเราไปแล้วแบบนั้น ทำให้เราที่เป็น ผู้หญิงข้ามเพศในสังคมมุสลิมกลายเป็นคนที่เขามองว่าไม่ได้อยู่ในเส้นทางของศานาต้องขับไล่ด้วยความรุนแรง ทั้งที่แท้จริงแล้วเราเพียงแต่ได้รับบททดสอบหนึ่งที่พระเจ้ามอบให้เพราะมุสลิมทุกคนล้วนแต่มีบททดสอบเป็นของตนเองอยู่แล้ว   แต่สิ่งหนึ่งที่คิดอยู่เสมอคือ “ศาสนาของเรามีความเป็นมนุษย์ มีความใจดีกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และศานาสอนว่าอิสลามเป็นพี่น้องกัน” ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นอะไรเราต้องเข้าใจว่ามันคือบททดสอบที่พระเจ้ามอบให้เขาและเราในฐานะมนุษย์ที่ไม่ใช่พระเจ้าไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินเขาเราทำได้เพียงแค่ตักเตือนและเห็นอกเห็นใจกันได้

 

เมื่อถูกมองว่านับถือศาสนาอิสลาม แต่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ?

“กลุ่มคนข้ามเพศ หรือที่บางคนเรียกว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในศาสนาอิสลามคนบางกลุ่มเขามองว่าคืออาการป่วยและเป็นโรคชนิดหนึ่งที่รักษาได้ จึงใช้วิธีส่งไปอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อบำบัดเพศวิถี ในความเลวร้ายที่เจอ มันไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ระหว่างอยู่ในนั้นเราได้รับบทเรียน คำสอน การให้อภัย ไม่ได้รู้สึกเกลียดชังกับสิ่งที่เขาทำ แค่คิดว่าทำไมต้องกลายเป็นเหยื่อจากกรอบความคิดและความเชื่อของกลุ่มคนที่เราขอใช้คำนี้ส่วนตัวว่า “คลั่งศาสนา” ทั้งที่มันควรเป็นพื้นที่แห่งความศรัทธา เข้าใจ ยอมรับ สมัครใจในความเป็นตัวตนของกันและกัน

“ถามว่าคนหลาย ๆ คนในโรงเรียนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเพศของเราหรอก แต่ว่าเขาก็ยังปฏิบัติกับเราแบบเพื่อนมนุษย์ทั้งที่ก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน เราก็เลยตั้งคำถามว่าทำไมคนอื่น ๆ ถึงไม่ทำแบบนั้นบ้าง ทำไมครูที่หยิบผ้าขี้ริ้วเช็ดหน้าเรา ไม่ทำกับเราแบบนั้นบ้าง”

 

สังคมตีตรา ทำให้เราต้องกดทับความเป็น กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ?

“สังคมหล่อหลอมให้เราต้องกดทับอัตลักษณ์ลงไปให้ลึก ลึก ลึก ลึก ลึกจนไม่กล้าขุดมันขึ้นมา ปัจจุบันจึงตั้งใจที่จะเรียนรู้ว่าแต่ละพื้นมีปัญหาอะไรนอกเหนือจากประเด็นนี้บ้าง แม้ร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ จะผ่านไปอีกด่าน เพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาขั้นต่อไป คือสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่เรื่องพื้นที่ปลอดภัยของ กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คิดว่ายังต้องสร้างการเรียนรู้ในสังคมที่มีอิทธิพลทางศาสนา วัฒนธรรม เพื่อปลุกให้คนกล้าลุกขึ้นมาใช้สิทธิในเสรีภาพของตัวเอง เพราะว่าการอยู่แบบหลบ หลบ ซ่อน ซ่อน ถูกห้ามไม่ให้แสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ให้เราตัดสินใจด้วยตัวเอง (self determination)  หรือใช้หลักการศาสนามาห้ามการสมรสเท่าเทียม มันคือเรื่องไม่สมเหตุสมผลสำหรับเรา ต้องมาตั้งคำถามกันว่าคนที่นับถือศาสนาอิสลามไม่มีสิทธิทำแบบนั้นเพราะอะไร เราต้องเข้าใจว่าสุดท้ายแล้ว กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นอิสลามเขาก็เป็นประชาชนที่ควรได้รับสิทธิและสวัสดิการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเหมือนกับทุกคนในประเทศ ดั้งนั้นเราต้องแยกระหว่างความเชื่อทางศาสนากับสิทธิที่เขาจะได้รับตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติ เราต้องเเยกความเชื่อทางศาสนาออกจากการเมือง

“อย่าทำให้เรื่องของเรามันถูกเหยียบลงไปให้ลึกมากกว่านี้ อยากให้หยิบมันขึ้นมา แล้วเอามาพูดให้เห็นว่าความเป็น กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราก็ต้องการที่จะถูกเคารพ ถูกปกป้อง เช่นกันในสังคมมุสลิม”

 

บทสนทนานี้เล่าจากมุมมองความคิดของคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่มีเจตนากล่าวหาหรือสร้างความแตกแยกใด ๆ ทางศาสนาหรือความเห็นที่แตกต่างในสังคม

 

เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของทุกคน

 

#Amnesty #AmnestyThailand #สิทธิมนุษยชนศึกษา #Humanrights #ความหลากหลายทางเพศ #ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ #LGBTQ+