สรุปการประชุมสภา วาระการรับทราบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยร้องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

27 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

เด็กและเยาวชน ก็มีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสภา และมีวาระการรับทราบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยร้องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ เมื่อเด็กและเยาวชนได้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบ
 
เกิดอะไรขึ้นบ้าง? เรามีสรุปข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาชวนทุกคนอ่านไปด้วยกัน 
 
 

 
 

ข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ร้อง


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กใน 4 เรื่องได้แก่ (1) การจับกุมเด็กที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม(2) การแจ้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดี (3) การปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเด็กและ (4) การคุกคามเด็ก ข้อมูลสำคัญคือคือ 

  1. พบว่ามีการจับกุมเด็กและเยาวชน 29 คนโดยไม่มีหมายจับ อ้างว่าเป็นการจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้าไม่แจ้งข้อกล่าวหาหรือสิทธิตามกฎหมายไม่ได้ตรวจสอบอายุของผู้ถูกจับกุมมีการใช้ความรุนแรงกับเด็กจนได้รับบาดเจ็บหลายรายบางรายไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงพยาบาลอย่างทันท่วงทีและไม่ได้รับสิทธิในการพบผู้ปกครองแลปรึกษาทนาย 

  1. มีการแจ้งข้อหาและดำเนินคดีต่อเด็กจำนวนมากในคดี ม.112 116 138 140  209210  215 216, พ.ร.ก. ฉุกเฉินและความผิดอีกหลายฐานที่มีโทษปรับ 

  1. ศาลมีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด โดยเลือกพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาที่เด็กถูกนำตัวมายังสถานที่แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ไม่ได้ตรวจสอบไปถึงกระบวนการจับกุมว่าได้สัดส่วนหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ บางครั้งมีการตรวจสอบการจับกุมในสถานที่เปิดซึ่งมีบุคคอื่นอยู่ด้วย  

  1. มีการคุกคามเด็กที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมหลายรูปแบบ เช่นการตัดสิทธิในการศึกษาต่อการให้คัดข้อความการเรียกพบการคุมประพฤติของโรงเรียนมีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบติดตามนักเรียน 

 
ข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ถูกร้อง 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  

ได้ชี้แจงรายละเอียดข้อมูลการดำเนินคดีกับเด็กตั้งแต่ 2563-2566 ดังนี้

  • มีการดำเนินคดีกับเด็กที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกและการชุมนุมไป 281 คน 139 คดี  

  • ไม่มีนโนบายหรือข้อสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสอดส่องที่พักเข้าพบผู้ปกครองเพื่อกดดันให้ตักเตือนเด็ก 

  • มีการอบรมเจ้าหน้าที่และวางแนวปฏิบัติอย่างดี 

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  
ได้ชี้แจงว่า
  • มีนโยบายส่งเสริมให้เด็กใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยเปิดรับฟังความเห็นนักเรียนนักศึกษา เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษาและการเมือง 

  • มีการกำชับให้ผู้บริหารสถานศึกษาคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพดังกล่าวและความปลอดภัยของเด็กในการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม 

  • มีการขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบสถานศึกษาในสังกัดอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างไม่ถูกต้องทุกรูปแบบ 

  • จากการที่มีรายงานข่มขู่คุกคามหรือลงโทษนักเรียนได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามรายงานผลการแก้ไขปัญหา 


 

 

ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

ประเด็นการจับกุมเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม  

ข้อเท็จจริงปรากฎว่าในช่วงที่เด็กออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างแพร่หลายในช่วง 2563-2564 พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมเด็กด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุจำนวนมาก บางรายไม่ได้รับการแจ้งสิทธิระหว่างจับกุมมีการรัดข้อมือเด็กด้วยสายรัดพลาสติกระหว่างควบคุมตัว และโดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการตรวจสอบอายุผู้ถูกจับกุมว่าต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ ทำให้ถูกจับรวมกับผู้ใหญ่ เกิดขึ้นบ่อยในห้วงการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ บริเวณแยกดินแดง เมื่อเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้นถือเป็นการกระทำที่ขัดกับกรอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กในขั้นตอนการจับกุมและควบคุมตัว ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 และไม่สอดคล้องกับหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก 2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และได้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ดีขณะที่จัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี กสม. ยังไม่ได้รับการแจ้งผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ ที่ 203-214/2564 จึงเห็นควรเน้นย้ำประเด็นนี้ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งขอให้แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว 

 

ประเด็นกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการจับกุมโดยศาลเยาวชนและครอบครัว

จากมาตรา
73 ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ กสม.เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะของศาลที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุมและการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยถือเป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของตุลาการเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ประเด็นการดำเนินคดีทางอาญากับเด็กเนื่องจากการแสดงออกและการชุมนุม 

มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการดำเนินคดีกับเด็กในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เป็นกฎหมายที่มีแนวโน้มจะถูกนำนำไปใช้บังคับห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและโดยเด็ดขาด และการดำเนินคดีกับเด็กในข้อหาดังกล่าวเป็นการสร้างความไม่สบายใจต่อเด็กในการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว และถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวในทางอ้อม 

โดยฐานความผิดที่นำมาใช้ดำเนินคดีกับเด็กส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 แต่เมื่อต่อมาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และนายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 ดังนั้นคดีที่ยังคงค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีขั้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ หรือการพิจารณาคดีของศาล จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไปอีก และการเลือกที่จะดำเนินการต่อไปจะส่งผลกระทบหลายด้านตามมา 

หากพิจารณาชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วนเพื่อผลประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการดำเนินคดีกับเด็กกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหากปล่อยให้เด็กที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปจนจบสิ้นกระบวนการทุกรายการแล้วย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะไม่เกิดผลดีต่อเด็กและอาจเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับ หลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็กตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะต่อเด็กที่ถูกดำเนินคดีหลายคดีึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้ซ้ำอีกเรื่อย ๆ ทุกคดี จึงเห็นควรว่าควรมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในประเด็นนี้ไปยังสภาผู้แทนราษฎรและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป 

 

ประเด็นการข่มขู่คุกคามเด็ก 

จากที่ กสม. ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นับตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา พบว่า โดยส่วนใหญ่เด็กที่ออกมาชุมนุม แสดงความคิดเห็น ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้ขอบเขตที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ดังนั้นการที่ผู้ถูกร้องได้กระทำการในลักษณะสั่งห้าม ขัดขวาง ข่มขู่ ตักเตือน ติดตามหรือเฝ้าสอดส่องเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของเด็กที่ออกมาหรือจะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวของตน ทั้งที่เป็นสิ่งที่ประชาชนพึงกระทำได้ตามปกตินั้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับหน้าที่พื้นฐานของรัฐที่จะต้องละเว้นไม่เข้าไปแทรกแซงการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงให้เกิดการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของเด็ก กรณีจึงรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาอีกหลายด้านโดยเฉพาะการสร้างความไม่เชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐความไม่เชื่อมันต่อความเป็นกลางของการดำเนินกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งทำให้เด็กมีความโกรธแค้นและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะขยายให้ปัญหารุนแรงขึ้น และไม่ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวจึงเห็นควรให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

 

 

มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

  • ประเด็นการจับกุมเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม เห็นว่าผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็ก 

  • ประเด็นกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการจับกุมโดยศาลเยาวชนและครอบครัว มาตรา 73 เห็นว่าเป็นกรณี ม. 39 (1) และ (2) ประกอบ ม. 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง 

  • ประเด็นการดำเนินคดีทางอาญากับเด็ก เนื่องจากการแสดงออกและการชุมนุม เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินคดีต่อไปอีก เนื่องจากอาจสร้างผลอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็กทางอ้อม ส่งผลกระทบหลายด้าน และไม่สอดคล้องกับหลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก 

  • ประเด็นการข่มขู่คุกคามเด็ก เห็นว่าผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็ก 

  • ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อ สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้ 


    มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
    รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน 
     

    ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามนี้ 

    1. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังมากขึ้นในการใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุม โดยต้องตรวจสอบในเบื้องต้นเท่าที่ได้ก่อนว่าผู้ที่กำลังจะถูกจับกุมมอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ตรวจสอบในทันทีหรือในโอกาสแรกหลังจากที่มีการจับกุม กำชับให้การจับกุมเด็กและเยาวชนเป็นไปด้วยละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พอสมควรกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับ ต้องแจ้งให้ผู้ปกครองหรือผู้ที่เด็กไว้วางใจทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวในทันที รวมทั้งปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกคุมตัวอย่างเหมาะสมเป็นไปตามกฎหมายเด็กและเยาวชนอย่างเคร่งครัด 

    2. กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายงดใช้เครื่องพันธนาการกับเด็กและเยาวชนในขณะจับกุมและในระหว่างควบคุมตัว 

    3. กำชับการปฏิบัติของหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วย ไม่ให้นำตัวเด็กไปไว้ในห้องคุมขัง ต้องจัดหาสถานที่ควบคุมตัวเด็กเป็นการเฉพาะและแยกพื้นที่ควบคุมตัวไม่ให้ปะปนกับผู้ถูกจับกุมที่เป็นผู้ใหญ่ 

    4. กำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายให้งดเว้นการเข้าไปติดตาม สอดส่อง สอบถามข้อมูล ในลักษณะข่มขู่ ตักเตือนหรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่เป็นการใช้สิทธิเสีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่เป็นการรบกวนพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของประชาชนจนเกินกว่าเหตุ หากไม่มีเหตุสมควรตามกฎหมาย 

    5. เร่งรัดการสืบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมระหว่างปี 2563-2564 ที่เข้าข่ายการกระทำตามรายงานฉบับนี้ หากพบแล้วก็ให้ดำเนินการลงโทษตามสัดส่วนของความรับผิดเพื่อกระตุ้นเตือนและป้องปรามเจ้าหน้าที่ตำรวจรายอื่น

    6. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนและเพิ่เติมมาตรการกำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัดพื่อสร้างหลักประกันไม่ให้เกิดกรณีข่มขู่คุกคามหรือลงโทษนักเรียนที่ใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวรวมทั้งต้องเน้นย้ำให้สถานศึกษาในสังกัดให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้นักเรียนใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว เปิดรับฟังความคิดเห็น ตามแนวทางที่กระทรวงฯ กำหนดไว้สม่ำเสมอโดยให้ดำเนินการภายใน้ 60 วันนับตั้งแต่ได้รับรายงานนี้ 


    มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 

  • ให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งดำเนินการศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงในรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2653 เป็นต้นมา เพื่อตรากฎหมายยุติการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งนิรโทษกรรมให้กับเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าว  
  • ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงงมนุษย์ เร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่กสม.ได้เสนอไว้จากผลการประชุมเพื่อแสวงหาทางออกและจัดทำข้อเสนอแนะ “สิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง)” และการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเมื่อวันที่2พ.ย.64โดยเฉพาะการลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมในแต่ละครั้งเพื่อสอดส่องดูแลและร่วมกันวางแนวปฏิบัติต่อเด็กในพื้นที่การชุมนุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องสอดคล้องกับกฎหมายและหลักสากล 

 


 

ข้อเสนอแนะแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย  

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 

  1. ดำเนินติดตามผลของข้อเสนอแนะที่นำเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยผลลัพธ์การดำเนินการติดตามผลต่อสาธารณะ 

  1. ดำเนินการสร้างความตระหนักรู้และความเชื่อมั่นให้กับเด็กต่อกลไในการยื่นเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  

 

ข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 

  1. ปล่อยตัวเด็กที่ถูกกักขังเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ 

  1. ยุติการดำเนินคดีทางอาญาต่อเด็ก และยุติการคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมต่อเด็กที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ 

  1. เร่งสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเนื่องด้วยการใช้กำลังโดยมิชอบ รวมถึงการการคุกคาม ข่มขู่ และการสอดแนมเด็กที่ใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงทางการเมือง 

  1. จัดให้มีการอบรมสิทธิเด็กให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำงานกับเด็กในพื้นที่การชุมนุมประท้วงโดยต้องสอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศและอนุสัญญาสิทธิเด็ก 

  1. กระบวนการยุติธรรมต่อเด็กต้องคำนึงถึงหลักสิทธิที่ได้รับการรับฟังและผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก 

 

ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย 

  1. ยุติการดำเนินคดีทางอาญาต่อเด็กที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และยุติการคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมต่อเด็กโดยทันที 

  1. ทบทวนการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบที่เป็นเด็ก รวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) กฎหมายห้ามการยุยงปลุกปั่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อีกทั้งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากมีการแก้ไขกฎหมาย ก็ควรมีบทบัญญัติป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบที่อาจเกิดขึ้นได้และให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

  1. จัดให้มีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการใช้กาลังที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือการคุกคาม การข่มขู่และการสอดแนมที่กระทาโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย  

  1. รับรองให้วิธีปฏิบัติระดับชาติสอดคล้องกับการคุ้มครอง เคารพ และเติมเต็มสิทธิเด็ก เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กสามารถเข้าร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน