Youth Network จากดินแดนปาตานี "ฟาน-อัรฟาน ดอเลาะ"

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

เมื่อถามถึงความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ฟานเล่าว่าในพื้นที่อาจยังไม่มีความตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นเพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบ การพูดถึงสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมอาจเป็นความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง กระนั้น ก็ไม่ถึงกับมีการต่อต้าน เพียงแต่หลักการสิทธิมนุษยชนบางประเด็นยังไม่ถูกยอมรับอย่างเต็มรูปแบบ เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือโทษประหารชีวิต ด้วยมีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ฟานเล่าเสริมว่าเท่าที่ขับเคลื่อนมาในพื้นที่ก็ยังไม่เคยมีปัญหาอะไร นักกิจกรรมต้องให้ความสำคัญกับบริบทของพื้นที่เป็นหลัก ว่าประเด็นไหนที่สอดคล้องกับพื้นที่ กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ นักกิจกรรมจะพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพทางความคิด ซึ่งจะไม่กระทบกับคนในพื้นที่

“ฟาน-อัรฟาน ดอเลาะ” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานพาร์ตไทม์เป็นผู้ช่วยทนายที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ฟานเล่าให้ฟังว่ารู้จักแอมเนสตี้ตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมปลาย เขาได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่ให้ไปร่วมคลับแอมเนสตี้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำให้ฟานได้เป็นอาสาสมัครร่วมกิจกรรม และสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมานับแต่นั้น

 

 

คุณคิดว่าปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร หลังจากการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขอย้อนไปช่วงก่อนเหตุการณ์การชุมนุม เราได้ศึกษาหลายอย่างเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและพื้นที่ในการพูดคุย ต่อมาสักระยะหนึ่ง คนก็เริ่มตื่นรู้ มีการพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำลังเป็นกระแส ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ ถ้าพูดถึงปัจจุบันก็เห็นว่าทุกคนมีความตระหนักรู้แล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ผมมองว่าบริบทในปัจจุบัน ผู้คนตื่นรู้แต่ยังไม่ตระหนักรู้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งเราออกมาเรียกร้องโดยที่อาจยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเรียกร้องด้วยซ้ำ พอผ่านไปหลายเหตุการณ์ทำให้ในขบวนของผู้ชุมนุมเกิดข้อถกเถียง อย่างไรก็ตาม อีกแง่หนึ่งการถกเถียงก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่มากขึ้น โดยรวมหลังการชุมนุมก็ทำให้สังคมมีความก้าวหน้าด้านหลักการสิทธิมนุษยชน

 

คุณคิดว่าปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของท้องถิ่น มีความแตกต่างกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองหลวงหรือไม่ อย่างไร

ท้องถิ่นกับเมืองหลวงมีความแตกต่างกันในเชิงบริบทพื้นที่ ต้องยอมรับว่าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสภาพพื้นที่ ผมคิดว่าความแตกต่างอยู่ที่ในเมืองเขาจะเรียกร้องเรื่องอำนาจโครงสร้าง พูดถึงคุณภาพชีวิต เช่น ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ หรือเรื่องค่าแรง แต่ในท้องถิ่นจะเรียกร้องเรื่องสภาพแวดล้อม ที่ดิน ที่ทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งความแตกต่างนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เมืองหลวง ขาดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด

 

ในพื้นที่หรือชุมชนของคุณ (ปัตตานี) มีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และคุณคิดว่าจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร

เรื่องการมีส่วนร่วม เพราะต่างคนก็ต่างมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้อง รัฐก็คิดว่าตัวเองถูกต้องที่ใช้กฎอัยการศึกในการดูแลชุมชน ดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่เรา-ประชาชนไม่เคยมีโอกาสแสดงความคิดเห็น เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐรับคำสั่งจากส่วนกลาง โดยที่ไม่มีการรับฟังคนในพื้นที่ ทำให้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ขาดสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดความเข้าใจวัฒนธรรมและบริบททางสังคม ซึ่งทางแก้ไขอาจเป็นการเปิดเวทีให้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างละเอียด เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้นจะส่งผลดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะสิทธิการมีส่วนร่วมส่งผลต่อสิทธิอื่น ๆ ในเมื่อยังไม่มีสิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิการแสดงออกหรือสิทธิอื่น ๆ ก็จะไม่มี

 

มีคนกล่าวว่าการยึดมั่นในสิทธิการแสดงออกของตัวเอง ต้องมาพร้อมการเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย หลายครั้งนำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคม คุณคิดว่าเราควรมีขอบเขตในเรื่องนี้อย่างไร

ผมอาจไม่ได้พูดเรื่องขอบเขตหรือเส้นแบ่ง แต่อยากพูดถึงการแสดงออกที่มีหลักการ มีเหตุผลและมีข้อมูล ย่อมส่งผลดีกว่าการถกเถียงเพื่อเอาชนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร การถกเถียงคือประชาธิปไตย คนสองคนที่มีความคิดไม่เหมือนกันแล้วมาถกเถียงพูดคุยกันในเชิงหลักการและเหตุผล ทำให้เห็นมุมมองที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนโดยปราศจากอคติ จะนำไปสู่การคิดร่วมกันและเกิดเหตุผลหรือทางออกใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม

 

คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ของเยาวชนในยุคสมัยนี้

การมีเทคโนโลยีทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นและไวขึ้น ซึ่งอาจเป็นส่วนที่ทำให้ช่องว่างของคนต่างรุ่นมีมากขึ้นด้วย พอมีช่องว่างที่มากขึ้น ทำให้คนรุ่นก่อนหน้าที่ไม่ได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ขาดความเข้าใจต่อความคิดเห็นของเยาวชน เมื่อมีการพูดคุยกันก็จะพบความแตกต่างทางความคิด อันเนื่องมาจากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและสร้างความเข้าใจอย่างให้เกียรติกันและกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนต่างรุ่น

 

เพราะอะไรจึงตัดสินใจร่วมงานเป็น Youth Network ให้กับแอมเนสตี้ คุณมองเห็นอะไรในโอกาสนี้

เมื่อเห็นโอกาสที่แอมเนสตี้เปิดรับสมัครเยาวชนให้มาร่วมเป็น Youth Network ในฐานะที่เคยทำงานกับแอมเนสตี้ ในการเป็นอาสาสมัครหรือนักกิจกรรมมาก่อน เราก็อยากมีส่วนร่วมที่มากขึ้นในเชิงนโยบาย เพราะการที่เรามาอยู่ตรงนี้ เรามีโอกาส มีสิทธิ์ ที่จะพูดคุยกับพี่ ๆ หรือเจ้าหน้าที่ในการแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนวทางที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาส รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและศึกษาวิธีการทำงาน เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนที่เรายังไม่รู้ การที่เรามาอยู่ตรงนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เรียนรู้กระบวนการทำงาน และเราสามารถนำสิ่งนั้นมาปรับใช้ในชีวิตของเราเองด้วย

 

จากการเป็นตัวแทนเยาวชนบนเวทีระหว่างประเทศ อุปสรรคในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยกับของโลก มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน และเพราะอะไร

เท่าที่ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในต่างประเทศ มันจะมีความแตกต่างมากในเชิงการเคลื่อนไหวและประเด็น ที่มองเห็นได้ชัดคือรูปแบบเชิงโครงสร้าง เพราะหลายประเทศที่ได้รับฟังมาแนวทางการขับเคลื่อนของเขาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับรัฐบาล หรือการขับเคลื่อนผ่านนโยบายของรัฐ แต่ของเราจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างแบบไทย ๆ ที่ฝังรากลึก เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันการชุมนุมไม่ได้พูดถึงแค่รัฐบาล แต่พูดถึงกษัตริย์ด้วย มันก็จะมีความซับซ้อนและความท้าทายมากกว่าในต่างประเทศ ที่ของเขาอาจมีแค่การเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง แต่ของเรามีการเรียกร้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย

 

การเป็น Youth Network ของแอมเนสตี้ให้อะไรกับคุณ

เป็นพื้นที่ซึ่งผมได้พบปะกับผู้คนที่หลากหลาย ทำให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย และเห็นมุมมองของสิทธิมนุษยชนในบริบทสากลที่มากขึ้น อีกส่วนคือการได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง ไม่จะเป็นการสื่อสาร ประสบการณ์ แนวทางการทำงาน ที่สามารถนำมาปรับใช้ในอนาคต

 

คุณอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในงานเกี่ยวกับเยาวชนอย่างไร

ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเยาวชน คือการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นั่นก็คือสิทธิมนุษยชนศึกษา การจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เยาวชนรู้ว่าสิทธิ์คืออะไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่แอมเนสตี้ทำอยู่แล้ว และผมอยากให้ทำมากขึ้น ให้เข้มข้นขึ้น เพราะเมื่อเยาวชนเติบโตขึ้น ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร หลักการสิทธิมนุษยชนก็จะตระหนักอยู่ในใจของเขา

 

 

สิ่งที่แอมเนสตี้ควรปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

อาจไม่ถึงกับต้องปรับปรุง แค่เป็นการพัฒนาในด้านการประชาสัมพันธ์ แอมเนสตี้มีรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่ดี สรุปได้ง่าย แต่ยังขาดการเข้าถึงจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ อาจต้องมีการขยายกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น

 

ถ้าให้คุณริเริ่มกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้สักกิจกรรมหนึ่ง คุณอยากทำกิจกรรมอะไร รูปแบบใด เพื่อส่งเสริมรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน

ผมอยากทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา ผมจะเน้นถึงหลักการพื้นฐานก่อน อาจเป็นรูปแบบของกิจกรรมหรือเวิร์กชอปเชิงปฏิบัติการณ์ให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิชุมชน พอจบการอบรมเราจะมีการลงพื้นที่ ผมมองว่าถ้าเด็กและเยาวชนมีโอกาสเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง จะทำให้เขาตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชน

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

อยากให้สังคมรวมถึงเด็กและเยาวชนมีความตระหนักรู้ถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงแค่ตื่นรู้ เพราะการตื่นรู้เป็นเรื่องชั่วคราว แต่การตระหนักรู้จะทำให้สิ่งนั้นอยู่กับจิตใจของเราไปตลอดชีวิต