"ญี่ปุ่น-พิชชานันท์ ศรีสวัสดิ์" นักเรียนคลับแอมเนสตี้ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

“เรื่องสิทธิมนุษยชนคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งแล้วจบ แต่คือการเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน” — ส่วนหนึ่งจากคำตอบของ “ญี่ปุ่น-พิชชานันท์ ศรีสวัสดิ์” นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เมื่อถูกถามความคิดเห็นเรื่องที่ปัจจุบันยังมีผู้ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องมาจากคดีทางการเมือง

ท่ามกลางกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ยุคสมัยที่การตื่นรู้เบ่งบานพร้อมกับความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม ญี่ปุ่นคือหนึ่งในเยาวชนที่เติบโตมากับการรัฐประหารในปี 2557 การค่อย ๆ มองเห็นความอยุติธรรมหลายอย่างที่มากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และรับรู้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ญี่ปุ่นเคยร่วมชุมนุมในม็อบช่วงปี 2563 เข้าร่วมรับฟังเวทีเสวนาต่าง ๆ จนถึงเคยเป็นอาสาสมัครให้กับแอมเนสตี้ ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย รณรงค์จัดกิจกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ

 

คุณคิดว่าปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร มีความเปลี่ยนแปลงใดบ้างไหมที่ถือเป็นนัยยะสำคัญ

เรารู้สึกว่าความตื่นรู้ของผู้คนมีมากขึ้น แต่อาจไม่ได้มากพอที่จะพูดว่าทั้งประเทศ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเรื่องนี้ยังมีสูงอยู่ แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมาจากรัฐ แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะทำให้ผู้คนมีความหวัง แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ผู้คนหรือเยาวชนไม่ได้ตระหนักว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่ หลายคนพูดว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่ถ้าเวลาเดินไป แล้วเราไม่ทำอะไรเลย เวลาก็คงไม่ได้อยู่ข้างเรา

 

 

คุณมีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับประเด็นทรงผมและการแต่งกายของนักเรียน

ตอนนี้เราอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีการบังคับการแต่งกาย ยกเว้นวันสอบ มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนโลกอีกใบที่เราได้เติบโตขึ้น และได้รับรู้ว่าเรื่องการแต่งกายนั้นไม่ใช่ปัญหา ไม่จำเป็นต้องบังคับ โรงเรียนสามารถใช้รูปแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยได้ ไม่ควรต้องบังคับให้ทุกคนแต่งกายเหมือนกัน พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ยกเลิกเครื่องแบบ ใครอยากใส่ก็ใส่ แต่ถ้าใครไม่อยากใส่ก็ปล่อยเขา นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น เราคิดว่ามันเป็นการฝึกตัวเองด้วยซ้ำ เช่น เราจะไปร่วมงานนี้ เราต้องแต่งตัวให้ไม่ผิดกาลเทศะ มันไม่ได้มีแต่ชุดนักเรียนที่ทำให้เราดูสุภาพ

 

ทราบมาว่าคุณสนใจเรื่องสิทธิการแสดงออก สิทธิทางการเมือง รวมถึงเรื่องการแต่งกาย อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องนี้ และคุณคิดว่าต้นตอของปัญหานี้คืออะไร

เราสนใจเรื่องนี้เพราะเกิดขึ้นกับตัวเอง ตอนอยู่มัธยมเราเป็นคนหนึ่งที่ได้รับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนสากลจากสื่อ ทำให้รู้สึกว่าการบังคับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน แม้กระทั่งเรื่องการบังคับให้ยืนเข้าแถวหน้าเสาธงเป็นเรื่องไร้สาระ มันไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้การศึกษาก้าวหน้า เราไม่รู้สึกว่าการทำแบบนั้นจะทำให้เก่งขึ้นหรือได้รับความรู้มากขึ้น เราไม่รู้สึกถึงคุณค่าตรงนั้น ไม่รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการทำตามขนบเดิม อาจพูดได้ว่าเป็นเพราะกระแสการตื่นรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย พอเป็นกระแสก็ทำให้รับข้อมูลมากขึ้น จนรู้สึกว่าเรารับเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่ยึดถือ และมองเห็นความสำคัญของมัน

ส่วนต้นตอของปัญหานี้ ยังไงก็ต้องเป็นรัฐ เพราะรัฐคือคนดำเนินนโยบาย กำหนดรูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอื่น ๆ หรือแม้แต่การที่คนไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เป็นปัญหาของรัฐ เราคิดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นสำคัญมาก ถ้าพูดถึงกระทรวงศึกษาธิการ เช่น คุณครูไม่ทำตามกฎเพราะเขามีทัศนคติของเขา แต่ถ้ากฎกระทรวงออกมาว่าห้ามละเมิดสิทธิเด็ก เขาก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำตามกฎ แต่เพราะกฎกระทรวงยังมีความไม่แน่นอน แล้วการทำงานที่แบ่งเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่เท่ากัน จึงเป็นความซับซ้อนยุ่งยาก แต่ความสำคัญคือคนที่ไปนั่งออกนโยบาย คนที่กำหนดทิศทางว่าโรงเรียนในไทยจะเป็นอย่างไร ความเป็นอนุรักษนิยมที่มากเกินไปของพวกเขาทำให้คนต้องถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ และปิดกั้นสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล

 

คุณคิดเห็นอย่างไร กับคนบางกลุ่มที่กล่าวว่าเครื่องแบบเป็นเรื่องของระเบียบวินัย และการที่ทุกคนใส่เครื่องแบบเหมือนกันคือความเท่าเทียม

เรามีวิธีสร้างสรรค์อีกมากที่สามารถฝึกคนได้ โดยไม่ต้องบังคับให้ทำเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเราจะต่างอะไรกับหุ่นยนต์ หรือสินค้าที่เหมือนกัน เข้ามาเรียนเหมือนกัน จบไปทำงานเหมือนกัน เพื่อมารับใช้คนที่อยู่สูงกว่าเรา บางทีความเท่าเทียมจากการแต่งกายเหมือนกัน อาจไม่ได้หมายถึงความเสมอภาค ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาค

ในโรงเรียนมีทั้งคนจนและคนรวย พวกเขาถูกบังคับให้ใส่เหมือนกัน แต่พวกเขาก็ยังจนและรวยต่างกันอยู่ คนจนก็ต้องได้รับผลกระทบจากการซื้อเครื่องแบบที่แพง ขณะที่คนรวยไม่รู้สึกอะไรเลยกับสิ่งนี้ แล้วมันจะไปสร้างความเท่าเทียมได้ยังไง

 

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าก่อนหน้าที่จะมีคลับแอมเนสตี้ คุณทำอะไรมาบ้าง รู้จักแอมเนสตี้ได้ยังไง และอะไรที่ทำให้ตัดสินใจร่วมก่อตั้งคลับ

ช่วงมัธยมก็มีไปชุมนุม เรามีความสนใจเรื่องสิทธิทางการเมือง เรื่องเครื่องแต่งกาย และเรื่องสิทธิสตรี แต่พอขึ้นมหาวิทยาลัย ได้เรียนคณะรัฐศาสตร์ ทำให้มุมมองในเรื่องนี้กว้างขึ้น มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย พอปิดเทอมก็มีโอกาสไป U.S. Embassy ที่จัดกิจกรรมให้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงก่อนมีการเลือกตั้งเราเคยไปเป็นอาสาสมัครให้กับแอมเนสตี้ ช่วงที่มีเวทีดีเบตที่ลานคนเมือง ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับพี่ ๆ จากแอมเนสตี้ ส่วนการก่อตั้งคลับ เกิดจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยที่กำลังฟอร์มทีมตั้งคลับแอมเนสตี้ของจุฬาฯ เราก็เลยสมัครเข้าไป และได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้ง

 

เสียงตอบรับของคนในมหาวิทยาลัยต่อคลับแอมเนสตี้เป็นอย่างไร

คนในคณะให้ความสนใจเป็นอย่างดี หลายคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกหรืออาสาสมัคร เขาก็รู้สึกดีใจที่มีคลับนี้ เพราะเหมือนในมหาวิทยาลัยก็ยังมีการละเมิดสิทธิ์อยู่ และไม่เพียงแค่ในมหาวิทยาลัย คลับของเรายังขับเคลื่อนในพื้นที่โดยรอบ แต่อาจมีการถูกเพ่งเล็งจากผู้บริหารอยู่บ้าง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรม 6 ตุลา 14 ตุลา และเหตุการณ์ตากใบ

 

จากการก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย คนรุ่นใหม่มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านไหนเป็นพิเศษ

50-60 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เราได้คุยตื่นรู้ได้เพราะการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 ความสนใจส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง แต่จะมีบางคนที่สนใจไปถึงสิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิสิ่งแวดล้อม หรือบางคนที่เข้ามาก็ไม่ได้มีความรู้ แต่อยากที่จะลองศึกษาทำความเข้าใจ เราคิดว่าส่วนหนึ่งของการตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นเพราะการเข้าถึงสื่อทำได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้ผูกขาดแค่ในประเทศ ทำให้รู้ว่าเราอยู่ในประเทศที่มีปัญหาอะไรบ้าง คนรุ่นเราโตมากับข่าวเชิงลบของรัฐบาล กับการรัฐประหาร ไหนจะเรื่องสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่สามารถดีกว่านี้ได้ เช่น ขนส่งสาธารณะ คนไร้บ้าน คนหาเช้ากินค่ำ ตัวเราอาจมีพริวิเลจ แต่เราเห็นสิ่งรอบตัวที่มันไม่ดี นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นเราตื่นรู้ อีกอย่างคือเรารู้ว่าประเทศอื่นเป็นยังไง ประเทศที่ดีเป็นยังไง เราใฝ่หาอะไร มันมีต้นแบบที่ดีกว่านี้ให้เห็น

 

ปัญหาหรืออุปสรรคของคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย

ความเหนื่อยของการเรียน ในมหาวิทยาลัยการเรียนของแต่ละคนอาจต่างกัน แต่สำหรับเราถือว่าหนัก และมีกิจกรรมอื่นทับซ้อนด้วย คลับเป็นแพสชันหนึ่ง แต่ทุกคนก็มีกิจกรรมอื่นที่ต้องทำ ซึ่งมีบ้างที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเหนื่อย ส่วนในมุมการแสดงออกของคลับ เราไม่รู้สึกว่ามีปัญหาเรื่องการถูกปิดกั้นในมหาวิทยาลัย อาจเพราะคลับเพิ่งก่อตั้งได้ประมาณ 2 เดือน

 

หลายคนพูดว่าการจะรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ผล โดยเฉพาะในสังคมไทย ต้องทำไปพร้อมกับการรื้อโครงสร้างทางวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ความคิดความเชื่อ ขนบเก่าบางอย่างเสียก่อน คุณมีความเห็นอย่างไร

ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เขายังมีวัฒนธรรมเชิงอำนาจที่ไม่ละเมิดสิทธิของคนได้ พูดถึงการแสดงออกทั่วไป อย่างในอังกฤษเขาก็มีสถาบันกษัตริย์ที่คนสามารถออกมาพูดแสดงความคิดเห็นได้ ถ้าเอาจุดยืนของเราจริง ๆ เรารู้สึกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการปลดแอกบางอย่าง แต่ในสังคมไทยตอนนี้อาจทำไม่ได้ขนาดนั้น เพราะอยู่ในระบบโครงสร้างสังคมอย่างที่เป็นมา ปัญหาคือสิ่งที่เรียกว่าสถาบันต่าง ๆ มีความทับซ้อนกันมาก และเชื่อมโยงกันเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งนายทุน ภาครัฐ กลุ่มทหาร ข้าราชการ รวมถึงสถาบันอื่น ๆ อย่างที่เห็นกันว่าทหารก็ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นหรือนั่งอยู่ในคณะบริหารของกลุ่มธุรกิจ ยิ่งมีความทับซ้อน ความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิก็ยิ่งเกิด เขาย่อมไม่อยากให้เราพูดอะไรที่จะทำให้ผลประโยชน์ของเขาหายไป หรืออย่างรัฐบาลปัจจุบันก็มีความทับซ้อนกันอยู่ หน้าตาของรัฐบาลใหม่แทบไม่ได้ต่างจากรัฐบาลเดิม เขาอยู่เพื่อผลประโยชน์ของพวกเดียวกัน เขาไม่ได้มองว่ามีคนอีกมากใช้ชีวิตอย่างยากลำบากต้องทนทุกข์กับอะไรบ้าง การแจกเงินไม่ได้หมายความว่าชีวิตของคนจะดีขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือรื้อโครงสร้างที่เอื้อให้มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

คุณคิดเห็นอย่างไร กับข้อสังเกตที่ว่าการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน มีความขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั้งเดิมบางอย่างในสังคมไทย

ส่วนตัวคิดว่าเราต้องยึดถือความเป็นสากลมากกว่าวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง เพราะถ้าวัฒนธรรมหนึ่งไปละเมิดประชาชนที่ถือวัฒนธรรมนั้นเอง แล้วทำไมยังต้องยึดถือวัฒนธรรมนั้นอยู่ เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นสากล บางครั้งการมีวัฒนธรรมที่แตกต่างก็เป็นสิ่งทำให้เกิดการเหยียดกัน การเห็นว่าวัฒนธรรมหนึ่งดีกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความรุนแรง นั่นคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพื่อมนุษย์ทุกคนบนโลก ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

 

แอมเนสตี้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัว แต่ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากข้อหาที่มาจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งคดีความเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว คุณมีความเห็นอย่างไร

อย่างที่พูดไปแล้วว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นกลุ่มอำนาจเดียวกัน เรารู้สึกว่ากระแสการตระหนักในเรื่องนี้มีน้อยลง ตอนนี้ความสนใจในเรื่องสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองไม่มากเหมือนช่วงก่อนหน้า เราคิดว่าตัวเองต้องทำงานหนักขึ้น คลับต้องทำงานให้หนักขึ้น องค์กรที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือคดีทางการเมืองต่าง ๆ ทำงานหนักมากในช่วงนี้ เหมือนผู้คนไปให้ความสนใจกับการเลือกตั้ง จนลืมว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งแล้วจบ แต่คือการเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน

 

ทำอย่างไรให้คนรุ่นถัดไปให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ทำสองทางไปพร้อมกัน ทั้งการใช้โซเชียลมีเดียและสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตจริง สถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในการบ่มเพาะที่จะคอยป้อนชุดความคิดบางอย่างให้กับเด็ก มันจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา แม้จะเกิดกระแสการตื่นรู้ แต่ถ้าระบบการศึกษาหรือสถาบันครอบครัวยังปลูกฝังเรื่องเดิม ๆ แบบเดิม ๆ ในขณะที่เวลาผ่านไปก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และอาจเลวร้ายมากกว่าเดิม

 

คุณคิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญของแอมเนสตี้ประเทศไทย

รู้สึกว่าแอมเนสตี้ยังไม่สามารถรณรงค์หรือพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนบางเรื่องได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเราจะพูดเรื่องการเลือกตั้งได้เท่าที่มันอยู่ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่นอกเหนือจากนั้นเหมือนยังทำได้ไม่มาก เช่น ช่วงที่โหวตเลือกนายก ทางคลับเราอยากออกมาประณาม ส.ว. ที่ไม่โหวตเห็นชอบตามผลการเลือกตั้ง แต่ทางแอมเนสตี้บอกว่าไม่อยากให้พูดเพราะถ้าจะพูดต้องให้ครอบคลุมเรื่องสิทธิอะไรบางอย่าง เราก็ต้องไปคิดว่ามันมีความทับซ้อนยังไง มันเป็นสิทธิ์ของ ส.ว. ที่จะโหวตหรือไม่โหวตก็ได้ แต่ในเมื่อคุณเป็นคนที่ทำงานในรัฐ คุณก็ควรนึกถึงส่วนรวมมากกว่า คุณควรโหวตตามเสียงที่มาจากผลการเลือกตั้งของประชาชน เพราะถ้าคุณไม่ทำตามนั้น นั่นเท่ากับว่าคุณละเมิดสิทธิ์และเสียงของประชาชน มันจึงค่อนข้างลำบากว่าแล้วเราพูดได้แค่ไหน

แอมแนสตี้ของไทยมีแนวคิดที่รับมาจากแอมเนสตี้ของต่างประเทศ ปัญหาคือต่างประเทศเขาไม่ได้อยู่ในสภาวะประชาธิปไตยไม่เต็มใบเหมือนเรา สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งประเทศอังกฤษมีประชาธิปไตยที่แข็งแรงมาก แล้วกลับมาดูไทย บางทีก็อาจใช้แนวคิดเดียวกันทั้งหมดไม่ได้ เราอาจต้องปรับให้เข้ากับสภาวะของประเทศ ปรับตามบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน เพราะในประเทศที่มีประชาธิปไตยไม่เต็มใบ การเมืองภาพใหญ่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเข้มแข็งได้ก็คือประชาธิปไตย

 

 

ข้อแนะนำสำหรับแอมเนสตี้ เพื่อปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

คิดว่าเป็นแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจากตะวันตกที่ส่งต่อมาประเทศไทย การที่สิทธิมนุษยชนไม่ได้ครอบคลุมเรื่องการครอบครองวัตถุอย่างเท่าเทียมกัน หรือการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่ทางตะวันตกแล้วว่าเรามีสิทธิมนุษยชนโดยโฟกัสแค่สิทธิของปัจเจกบุคคล สิทธิทางการเมือง แต่ถ้ามองให้ลึกถึงต้นกำเนิดของสิทธิมนุษยชน เราจะเห็นว่าอีกสิ่งที่สำคัญมากคือการมีต้นทุนทางวัฒนธรรม การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ การเข้าถึงสิ่งที่จะอำนวยความเป็นอยู่ของชีวิต หรือที่ UN ร่างไว้ก็คือ ICESCR (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) สิทธิมนุษยชนจะต้องครอบคลุมเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของคน

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

อยากให้สังคมพึงระลึกไว้ว่าสิทธิมนุษยชนคือเรื่องของทุกคน คือสิ่งที่ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด คือสิ่งที่ถ้าเรายึดถือ เราจะมองเห็นความอยุติธรรมได้ชัดขึ้น ทำให้เรามองสังคมได้ลึกขึ้น มองเห็นปัญหาของมันได้มากขึ้น และเราจะพบวิธีแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้