เรื่องสิทธิมนุษยชน และความคิดเห็นเกี่ยวกับแอมเนสตี้ ในมุมมองของ Thailand Youth Delegate "มีมี่-ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์"

4 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

มีมี่-ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ หญิงสาวอายุ 19 ปี เฟมินิสต์แอคทิวิสต์ ผู้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากใครติดตามการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นในปี 2563 ก็อาจเคยเห็นเธอในภาพนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญมาแล้วหลายเรื่อง เช่น การประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ การปราศรัยตามเวทีการเมืองและสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ หรือการออกมาเป็นหนึ่งในแนวหน้าของนักกิจกรรมที่เรียกร้องวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพ

มีมี่ เกิดและโตที่จังหวัดมหาสารคาม ภายหลังย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพียงไม่กี่เดือน เธอเริ่มไปม็อบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2563 ช่วงที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายไป 3-4 วัน มีมี่เล่าว่าวันนั้นรู้สึกว่ายังไงก็ต้องไปร่วมแสดงออก การหายไปของใครสักคนอย่างกรณีของวันเฉลิม ไม่ใช่เรื่องที่เธอจะนิ่งเฉยได้

หลังจากนั้น ในการชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอกในเดือนสิงหาคม 2563 มีมี่มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกเรื่อยมา เธอเคลื่อนไหวทั้งประเด็นการศึกษา ความหลากหลายและความเป็นธรรมทางเพศ ก่อนที่ต่อมาจะได้ร่วมงานกับหลายภาคส่วน รวมถึงการเป็นตัวแทนเยาวชนของแอมเนสตี้ เดินทางไปร่วมประชุม General Assembly ที่บรัสเซลส์ นอกจากนั้นยังเคยเป็นทูตนฤมิตของงานบางกอกไพรด์ ซึ่งทั้งหมดนี้คงไม่เกินเลย หากจะกล่าวว่าเธอคือแอคทิวิสต์ที่ทำงานอย่างจริงจังและเปี่ยมล้นด้วยความหวัง

 

 

จากที่เล่าว่ามาอยู่กรุงเทพฯ ไม่นานก็เข้าร่วมม็อบเลย แล้วก่อนหน้านั้นมีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนยังไงบ้าง

เราอยู่มหาสารคาม ซึ่งมหาสารคามคือเสื้อแดง พ่อก็เป็นเสื้อแดง แม่ก็เคยเข้าร่วมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เราก็เลยได้ยินได้ฟังเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก แม่เล่าว่าตอนเราเป็นเด็กชอบวาดรูปป้ายหาเสียง ชอบพูดเรื่องการเมือง พอเรียกได้ว่าเติบโตมากับสิ่งนี้

 

ตอนที่อยู่มหาสารคาม ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น คุณพบอะไรบ้างที่เป็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน

ตอนมอต้นเราเป็นซึมเศร้าหนักมาก ถูก Slut Shaming ที่โรงเรียน จนไปถึงขั้นคุกคาม และโดน Sexual Harassment จากเพื่อนในห้องเรียน ก่อนที่จะเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่มีใครมาบอกเราว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง พอเป็นแบบนั้นเราก็ไม่อยากไปโรงเรียน แต่พ่อแม่ก็จะบังคับให้ไป เราจึงหนีเรียนอยู่บ่อย ๆ เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับเพื่อนที่โรงเรียน ไม่อยากเจอครู 

 

ทำไมคุณจึงสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

เราไม่ได้สนใจแค่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เรายังสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึง Global Equity เราคิดว่าการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน มันไม่ใช่แค่การทำให้มนุษย์เป็น Human Centric แต่เป็นการทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับโลกนี้ได้

สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน เป็นกรอบที่เราต้องยืนยัน เพราะเราไม่เอาสงคราม ไม่ต้องการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องการการทำลายสิ่งแวดล้อม

 

รู้จักแอมเนสตี้ได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้ตัดสินใจร่วมงานเป็นตัวแทนให้กับแอมเนสตี้

แอมเนสตี้เข้ามาใกล้ชิดกับเราในม็อบ เราทำกิจกรรมกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกมาตลอด และกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกก็มีเครือข่าย NGO ซึ่งกิจกรรมที่ทำกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกก็ทำให้เราได้รู้จักกับพี่ ๆ ฝ่ายนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ บางทีเขาก็มาสนับสนุนกิจกรรมที่ทำ จนเราได้รับการชักชวนให้สมัครเป็น Youth Network เราตัดสินใจสมัครเพราะคิดว่าแอมเนสตี้ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ตัวเราให้ความสนใจและยังให้เราขึ้นไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในมุมมองของเยาวชนตามเวทีต่าง ๆ เรารู้สึกว่าแอมเนสตี้เป็นเหมือนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เป็นองค์กรที่ทำงานจริงจัง รวมถึง Youth Delegate เราก็สมัครและผ่านการคัดเลือก

 

จากการเป็นตัวแทนเยาวชนบนเวทีระหว่างประเทศ อุปสรรคในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยกับของโลก มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

จริง ๆ มีหลายประเด็นให้พูด พอไปสัมผัสประเด็นที่ค่อนข้างมีความเป็นซีกโลกตะวันตก แล้วไปเข้าประชุมของเอเชียแปซิฟิก มันคนละอย่างกันเลย ในภูมิภาคเรา-ในไทยเป็นเรื่องการถูกกดทับเยอะมาก สุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ซึ่งขายแผ่นดินตัวเองให้มหาอำนาจมาทำสงคราม เราถูกกดทับหลายชั้นมาก ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และกลายเป็นว่าแอคทิวิสต์พม่า หรือไทย หรือฟิลิปปินส์ ต้องเสียสละชีวิตและเวลา รวมถึงครอบครัว ไม่ใช่แค่การเป็นอาสาสมัครตามแคมเปญต่าง ๆ แต่มันคือชีวิตเรา

แต่พอเป็นการประชุมที่มีความเป็นซีกโลกตะวันตก เราจะเหมือนชาวอาณานิคม คือเขาจะพูดในมุมมองของเขา ในมุมมองแบบอาสาสมัคร เช่น ประเด็น Climate Change เรื่องสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งถ้าพูดไปแล้วภูมิภาคเราก็โดน Climate Change ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่ประเด็นนี้จะถูกมองในมุมมองของคนขาวหรือบริษัทต่าง ๆ จากประเทศที่เจริญแล้ว ยกตัวอย่าง “เกรต้า ธันเบิร์ก” ซึ่งเราชมชื่นเขามากในการที่จะไม่นั่งเครื่องบิน แต่สำหรับเยาวชนชายขอบ เราจำเป็นที่จะต้องนั่งเครื่องบิน เพราะเด็กในประเทศแบบเรา การเดินทางคือการเปิดโลก

 

คิดอย่างไรกับคำที่บอกว่าเรื่องการเมือง เรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องของเยาวชน เด็กมีหน้าที่เรียน เชื่อฟังพ่อแม่เท่านั้น

ล้าหลังมาก ทุกประเด็นตอนนี้ทั้งโลกต่างต้องการฟังเสียงเยาวชน คนชอบบอกว่าเด็ก Gen Z ดื้อ ไม่ฟังผู้ใหญ่ แต่เราจะยืนยันตลอดว่าที่เด็กรุ่นเราดื้อ ไม่ใช่เพราะไม่เคยผ่านประสบการณ์ แต่เป็นเพราะเราไม่สยบยอม เราไม่ยอมต่อความรุนแรงที่เขาทำกันมา

 

อะไรคืออุปสรรคของการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงคุณคิดว่าอุปสรรคสำคัญของแอมเนสตี้ประเทศไทยคืออะไร

ประเทศเรามีโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใช้สิทธิ์ใช้เสียงตัวเอง รวมถึงวัฒนธรรมที่คนไทยยังมีความคิดความเชื่อฝังหัวเกี่ยวกับมายาคติเก่า ๆ อยู่

ในส่วนของแอมเนสตี้ เราคิดว่าความท้าทายอยู่ตรงที่คนไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับแอมเนสตี้ ถึงแม้แอมเนสตี้จะบอกว่าเป็นขบวนการของคนตัวเล็ก แต่ก็มีความเป็นองค์กรสูงมาก แอมเนสตี้พยายามทำงานให้ดูเฟรนลี่มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเราคิดว่าไม่เป็นไร ถ้าแอมเนสตี้มีแนวทางของตัวเองชัดก็ให้ทำไปเลย อีกอย่างคือบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าแอมเนสตี้ทำอะไร ทั้งที่ความจริงแอมเนสตี้ทำงานข้างหลังเยอะ

 

เล่าให้ฟังคร่าว ๆ หน่อยว่าทำกิจกรรมหรือรณรงค์เรื่องอะไรร่วมกับแอมเนสตี้มาบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร

เราเป็นแอคทิวิสต์อยู่แล้ว ตามปกติทำกิจกรรมไปเรื่อย ๆ และแอมเนสตี้ก็ให้เราไปพูดในพื้นที่ต่าง ๆ ว่ากำลังทำเรื่องอะไรอยู่ เช่น จัดเวทีเรื่องสิทธิเด็ก จัดเวทีเรื่องสถานศึกษาที่มีความรุนแรง เราจะไปแชร์สิ่งที่ตัวเองทำและมีอยู่แล้ว ส่วนหลังจากที่ทำงานกับแอมเนสตี้มากขึ้น เช่น Youth Network และ Youth Delegate เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของตัวเองอย่างมาก ก่อนที่จะไป General Assembly ที่บรัสเซลส์ เราก็มองภาพไม่ออกว่าโครงสร้างใหญ่ของแอมเนสตี้คืออะไร จนได้เห็นผู้คนหลายประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้เห็นภาพว่าแอมเนสตี้คือแบบนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับมาคุยกับเพื่อนว่า เราอยากทำพื้นที่ให้เยาวชนได้ไปท่องโลก ได้ไปเดินทาง เพราะมันเปิดโลก พอกลับมาเรามีพลังไปทำแคมเปญอีกเยอะมาก

เราต้องทำงานกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ถ้าต้องการให้โลกได้ยินเรา ต้องให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร เราถูกกดทับจากใคร มันไม่ใช่แค่ประยุทธ์หรือประวิตร แต่เราถูกกดทับจากโลก จากมหาอำนาจ จากประวัติศาสตร์ จากการล่าอาณานิคม เราต้องไปด้วยกันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

 

การชุมนุมทางการเมืองของไทยในช่วงปี 2563 มีผู้ชุมนุมถูกรัฐดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก หลายคนยังเป็นเยาวชน หลายคนถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวจนถึงปัจจุบัน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เราคือหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในปี 2563 ปัจจุบันก็มีเพื่อนเราที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำนั่นคือ “เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง” เราคิดว่าการคุมขังคนที่แสดงออกทางการเมืองโดยที่ไม่ให้ประกันตัว เป็นสิ่งซึ่งประเทศที่มีเสรีภาพเขาไม่ทำกัน มันเป็นสิ่งที่บั่นทอนและกัดกินมาก เพื่อนเราหลายคนมีบาดแผลทางใจกับการถูกดำเนินคดี บางคนถูก ตชด. จับไปแล้วมีภาวะ PTSD ในฐานะที่เราเป็นแอคทิวิสต์และคิดจะทำสิ่งนี้ต่อไป เราคิดว่าการแสดงออกเป็นสิทธิ รัฐไม่ควรดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและเยาวชน เรามีสิทธิ์ออกมาแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ในเงื่อนไขที่รัฐดำเนินคดีเราได้ เราจะดูแลกันยังไง ช่วงหนึ่งเราจึงทำเรื่อง Well Being เป็นพื้นที่ดูแลเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกัน

 

ช่วยเล่าเรื่องการถูกดำเนินคดีของตัวเองให้ฟังคร่าว ๆ หน่อย

คดีแรกที่เราโดนคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกีดขวางการจราจร จากการปราศรัยในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 วันนั้นเราปราศรัยเรื่องสิทธิในเรือนจำ ถูกดำเนินคดีต้นปี 2564 ซึ่งสุดท้ายชนะคดี ส่วนคดีต่อมาจะเป็นตอนที่เราทำม็อบเองกับเพื่อน ตอนขึ้นปราศรัยและทำกิจกรรมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ตอนไปประท้วงเรียกร้องวัคซีนโควิด หรือไม่ก็ตอนที่ไปร่วมกับเขา เช่น ม็อบแรงงาน

           พอโดนคดีก็ต้องไปศาล ไปเข้ากระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะศาลเยาวชนจะมีขั้นตอนเยอะมาก ต้องพบนักจิตบำบัดเพราะเขาบอกว่าเป็นกระบวนการฟื้นฟูแก้ไข ซึ่งตรงนี้เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดในระบบ คดีของเยาวชนที่เป็นคดีการเมืองไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนคดีอาญาปกติ เพราะเราโดนดำเนินคดีด้วยเรื่องการเมือง แต่เขาจะมาบอกว่าฟื้นฟูเราด้วยการคุยเรื่องครอบครัว เราอยากบอกว่าเด็กทุกคนบนโลกนี้มีปัญหา ทุกคนมีปัญหา ไปถามเด็กคนไหนเขาก็มีความเจ็บปวด มีความเศร้าเป็นของตัวเอง แต่กับคดีการเมือง ไม่ควรมีสิ่งที่เรียกว่าการบำบัดแบบนี้

 

ทราบมาว่าก่อนจะเป็นตัวเยาวชนของแอมเนสตี้ คุณสนใจเรื่องเฟมินิสต์ ความเป็นธรรมและความหลากหลายทางเพศ อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องนี้

อย่างที่เล่าไปว่าตั้งแต่เด็กเราถูก Slut Shaming ถูกคุกคามและโจมตีเพราะความเป็นเพศหญิง ในกรณีที่ถ้าเป็นผู้ชายทำแบบเดียวกันจะไม่โดน ถ้าพูดในทางความรู้สึก ประเด็นเฟมินิสต์เป็นประเด็นที่เราทำแล้วรู้สึกว่าได้รับการฟื้นฟูจิตวิญญาณและความเจ็บปวดข้างในจิตใจมากที่สุด

 

คุณมองว่าปัจจุบันปัญหาเรื่องเฟมินิสต์หรือความเป็นธรรมทางเพศในสังคมไทยเป็นอย่างไร

อาจต้องเข้าใจภาพรวมว่าสังคมมี Dominant Culture แบบการใช้อำนาจเหนือกว่าที่คนกลุ่มหนึ่งที่มีอัตลักษณ์แบบหนึ่งได้รับสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่โอกาสมากกว่า หนึ่งในนั้นคือปิตาธิปไตย เรื่องชายเป็นใหญ่ คือสังคมที่ให้อภิสิทธิ์กับคนที่เป็นเพศชายตรงเพศและรักต่างเพศ คุณค่าหลายอย่างมาจากตรงนี้ อย่างในม็อบคนที่ได้รับการยอมรับส่วนใหญ่ก็จะใช้คุณค่าเหล่านี้ แม้จะเป็นผู้หญิงก็จะเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะเข้มแข็ง ไม่ร้องไห้ ความเป็นเควียร์จะไม่ค่อยมี ส่วนตัวเราคิดว่าเฟมินิสต์เป็นสิ่งที่กำลังกะเทาะสังคม ทำให้คนตระหนักถึงอำนาจที่ตัวเองมีและรู้ว่ากำลังถือคุณค่าแบบใดเอาไว้ มันเป็นการทำงานระยะยาว

 

ทำอย่างไรให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ สนใจและให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน

สำหรับเราไม่มีอะไรเลยนอกจากการรับฟัง แค่รับฟังเขา ให้คนที่ถืออำนาจไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดก็ตามรับฟังเสียงเยาวชน รับฟังเสียงคนชายขอบ รับฟังคนที่ถูกกดขี่ จากตัวตนของเขาไม่ใช่ยัดความคิดอะไรเข้าไป

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และการทำงานกับตัวเองด้วย เราเชื่อว่าการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงข้างนอกอย่างเดียว แต่คือการเปลี่ยนแปลงข้างใน เราต้องเท่าทันว่าทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งต่อความรุนแรง เหมือนกับว่าเราพูดประเด็นประชาธิปไตยไป แต่ในองค์กรยังไม่ล้างจานกันเอง อะไรแบบนี้ วัฒนธรรมมันต้องแก้กันข้างใน อีกอย่างคือเราคิดว่าถ้าทุกคนใช้เวลากับตัวเองอย่างเต็มที่ ต่อให้ใครตัดสินอย่างไร ขอแค่ให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และทำเพื่ออะไร

 

 

ข้อแนะนำสำหรับแอมเนสตี้ เพื่อปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

เพื่อน ๆ ของเราในแอมเนสตี้เป็นคนที่มีศักยภาพ ทุกคนเป็นคนที่มีแพสชัน มีความพิเศษ แต่บางครั้งงานอาจล้นมือ ก็อยากให้คุยกันในองค์กรเยอะ ๆ เราคงไม่ได้บอกว่าควรทำอะไร แต่เราเชื่อว่าแอมเนสตี้มีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้