'วันเด็กสากล' ต่อสู้เรื่อง 'สิทธิมนุษยชน' ให้มีพื้นที่ปลอดภัย เรื่องเล่า 'มีมี่ ณิชกานต์' คนรุ่นใหม่ เดินทางไกลไปต่างแดน

20 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

ปี 2563 เป็นจุดเริ่มต้นที่หญิงสาวร่างเล็ก หน้าตา น่าเอ็นดู ก้าวเข้าสู่การเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่กล้าคิด กล้าทำ และกล้าใช้สิทธิในการแสดงออกด้วยวิธีต่างๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมไปยังผู้คน ผู้กำหนดทิศทางนโยบาย และผู้มีอำนาจระดับสูง ให้ได้ฉุกคิดถึงปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้พรมเรื้อรังมายาวนาน ด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกกวาดออกมาสะสาง ล้างบ้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หากทำได้ตามจุดยืนที่วาดฝันไว้ในหัวใจ นั่นหมายความว่า...จะทำให้เธอคนนี้และผู้คนอีกมหาศาลจะได้รับประโยชน์ไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลานลำดับต่อไป

เธอคือ 'มีมี่' นักกิจกรรมที่ไปร่วมงานระดับโลกกับแอมเนสตี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนรู้จัก 'มีมี่ ณิชกานต์' ตัวแทนเยาวชนที่เดินทางไปร่วมงานงานประชุม Global Assembly Meeting (GA) 2023: CONNECT. CONTRUBUTE. BUILD SOLIDARITY แต่ก่อนจะไปฟังเรื่องเล่าของเยาวชนที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน มารู้จักอีกแง่มุมของ 'มีมี่' หนึ่งในเยาวชนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตในวัย 18 ปี มาร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและทั่วโลก ผ่านการเป็นนักกิจกรรมที่มุ่งมั่นทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ เข้าชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 จนถูกดำนเนิคดีทางการเมือง แต่เส้นทางชีวิตเธอเจอไม่ได้ทำให้เธอหยุดฝัน ยังมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ต่อไป

การเดินทางเรื่องสิทธิมนุษยชนของ 'มีมี่'

ชีวิตของ 'มีมี่' เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความศรัทธา ที่จะทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน จุดเริ่มต้นที่เธอสนใจเรื่องสิทธิ มีจุดกำเนิดมาจากประเด็นเพศสภาพ หรือ Gender ที่เมื่อก่อนสังคมไทยอาจยังไม่โอบรับและไม่เปิดกว้างเรื่องนี้เท่าไหร่นัก จนทำให้เด็กและเยาวชนที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ทุกวันนี้ หลายคนเคยถูกกดทับ ถูกโบยตีจากสายตา จากคำพูด จากการกระทำด้านลบของคนใกล้ชิดและคนไกลตัวที่ต้องการฝังกลบเรื่องเพศสภาพกับเพศวิถีที่สวนทางกันไม่ให้ถูกเปิดเผยออกมา แต่สำหรับ 'มีมี่' เธอต้องการเป็นหนึ่งในคนตัวเล็กๆ ที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และกล้าที่จะก้าวออกมาเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองเป็น

สปิริตของ 'มีมี่' บนเส้นทางนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน

'จิตวิญญาณ' หรือที่เธอคนนี้ใช้คำง่ายๆ เรียกมันว่า 'สปิริต' คือสิ่งที่ทำให้ 'มีมี่' ได้มาอยู่บนเส้นทางนักกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้ เหตุการณ์ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายของ 'ต้า วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' กลายเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลในใจเธออย่างมาก เพราะการที่คนๆ หนึ่งหายตัวไป ต้องไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมไทยหรือโลกไปนี้ ตอนนั้นจึงทำให้ในหัวของเธอเต็มไปด้วยคำถามมากมาย ที่ย้ำคิดย้ำทำว่าจะต้องหาความจริงหรือช่วยครอบครัวของเขาให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปหน้าสถานทูตกัมพูชาด้วยตัวเอง และเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยและกัมพูชาให้สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงให้ครอบครัวและสังคมสิ้นสงสัย

'มีมี่' อาสาสมัคร 'ผู้หญิงปลดแอก' ช่วยเพื่อน มั่นใจเรื่องเพศ

'ผู้หญิงปลดแอกผ่านม็อบ' ปี 2563 – 2564 ยิ่งทำให้จุดยืนของ 'มีมี่' เด่นชัดขึ้นในการต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ ในฐานะเยาวชนที่ต้องการทำให้บ้านนี้ เมืองนี้ดีขึ้น เธอเล่าว่าตอนนั้นตัดสินใจไปร่วมเกือบทุกการชุมนุมที่ตัวมีศักยภาพและมีเวลามากพอที่จะไปได้ จากที่เดินทางไปคนเดียว วันเวลาผ่านไปทำให้เธอได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้หญิงปลดแอก จากนั้นทำให้ประสบการณ์ชีวิต และมุมมองชีวิตของเธอกว้างขึ้น ซึ่งประเด็นเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ กลายเป็นสิ่งที่เธอฟูมฟักและทำมันร่วมกับเพื่อน พี่น้อง ที่ร่วมทางการเป็นนักกิจกรรม จนยกระดับตัวเองเป็นเหมือนนักรบแนวหน้า หรือ Front Line ที่ต่อสู้เรื่องเพศให้ได้รับอิสรภาพในสังคม

ศิลปะทางวัฒนธรรม ทำให้เรื่องสิทธิดังขึ้นได้ สไตล์มีมี่

'สีดาลุยไฟ' เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ 'มีมี่' มีบทบาทในฐานะนักกิจกรรมที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศให้เปิดกว้างเรื่องสิทธิมนุษยชน ร่วมกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'ผู้หญิงปลดแอก' ครั้งตอนที่ยังเป็นอาสาสมัคร เธอมีส่วนร่วมกับการแสดงนี้ตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับเธอนี่เป็นอีกความสำเร็จในชีวิตของเด็กคนหนึ่งในตอนนั้น เพราะเชื่อว่าศิลปะการแสดงช่วยทำให้เสียงของเหยื่อไม่ว่าจะเรื่องเพศ หรือเรื่องอื่นๆ มีอำนาจและเสียงดังมากขึ้นในโลกที่ไม่ค่อยมีคนได้ยิน พลิกหน้ามือเป็นหลังมือไปในทิศทางที่ช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นได้ผ่านงานเชิงวัฒนธรรม

ที่สำคัญแม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหน เธอมองว่าสังคมไทยควรหยุดอคติ ตีตรา หรือติดกับดักทางความคิดแบบชายเป็นใหญ่ เพื่อลดปัญหาเหยื่อถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว หรือจากใครที่ไม่รู้จักที่มาในคราบอาชญากรที่ทำเรื่องอาชญากรรม

"ต้องรู้ให้ได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร รูปแบบไหน แบบไหนคือการล่วงละเมิดหรือคุกคาม สิ่งที่ต้องสร้างความรู้ให้ชัด อธิบายความหมายให้เคลียร์ก่อนหากจะทำให้เรื่องเพศ หรือชายเป็นใหญ่หมดไป"

จากผู้หญิงปลอดแอก สู่ 'เฟมฟู' สู้เพื่อพื้นที่ปลอดภัย

ทุกวันนี้ 'มีมี่' อยู่ในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'FemFoo เฟมฟู' กลุ่มที่คอยส่งเสียง เคลื่อนไหวเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ เป็นการรวมพลังของเยาวชน คนรุ่นใหม่ คนทั่วไปที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แม้จะไม่ได้เป็นนักกิจกรรมเต็มตัวทุกคน แต่อย่างน้อยคนในกลุ่มนี้ต้องการทำให้พื้นที่ต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อใจและต่อกายของทุกคนกับคนที่ยังค้นหาตัวเอง รวมทั้งเป็นพื้นที่ๆ ทุกคนเปิดใจคุยกันได้ในวันที่สุขหรือทุกข์ ผ่านการคุยแบบ Deep Listening ที่เยียวยาทั้งคนที่เข้ามาในกลุ่ม ปรึกษา รวมถึงเยียวยาคนในที่อยู่ในกลุ่มรวมถึงตัวเธอด้วย

เนื่องในวันเด็กสากล (Universal Children's Day) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี แอมเนสตี้ชวนฟังเรื่องเล่าจาก 'มีมี่' ที่เดินทางไปร่วมงานประชุมสมัชชาสากล Global Assembly Meeting (GA) 2023: CONNECT. CONTRUBUTE. BUILD SOLIDARITY เมื่อวันที่ 4 – 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเวทีนี้เปิดให้เยาวชนและตัวแทนจากแอมเนสตี้ทั่วโลกคุยประเด็นต่างๆ เช่น สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ระบบธรรมาภิบาล และการโหวตเลือกตัวแทนในการทำงานคณะทำงานภาคส่วนต่าง ๆ ของแอมเนสตี้ เธอคือหนึ่งใตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ที่ยกระดับให้ 'เยาวชนคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน'

การประชุมเปิดด้วยสปีชจากผู้บริหารและเลขาธิการของแอมเนสตี้ มีการถกประเด็นที่ร้อนแรงและสนุกสนานไปกับบรรยากาศโดยธอแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. การต่อต่านการเหยียดเชื้อชาติ (Anti-Racism)

ปีนี้จัดเวิร์คชอปเรื่อง ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ เพื่อเยียวยาบาดแผลของบอร์ดบริหาร ส่วนเนื้อหาได้อธิบายกรอบการทำงานของแอมเนสตี้ ว่ามีหลักการ คุณค่า และภาคปฏิบัติแบบใดเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ รวมไปถึงผลลัพธ์ด้วย ว่าอยากจะเห็นภาพแบบไหนโครงสร้างของแอมเนสตี้

2. รายการการเงิน (Financial Report)

รายงานการเงินและสภาพบัญชีของแอมเนสตี้ รายรับรายจ่ายทั้งหมด ลำดับด้วยว่าประเทศใดใช้เงินอย่างไร ประเทศใดระดมทุนได้มากที่สุด สำหรับเธอช่วงนี้คือช่วงที่ตื่นตาตื่นใจกับศักยภาพในการทำระดมทุนของแอมเนสตี้ที่สุด เพราะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เธอทำงานร่วมด้วย

3. Workshop : Today's Youth

ช่วงนี้เป็นการเวิร์คชอปของเยาวชน ชวนแลกเปลี่ยนในวงย่อยถึงวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในแต่ละพื้นที่ มีอะไรที่ได้ผลจากนั้นให้ทุกคนนำมาแชร์ในวงแลกเปลี่ยนกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่สนใจเรื่องการทำงานกับเยาวชน ต่างก็มาช่วยกันคุยเป็นกรณีศึกษาว่าแอมเนสตี้ประเทศไทยมาเจอมีมี่ได้อย่างไร เธอเล่าให้ทุกคนฟังว่าได้พบกับแอมเนสตี้ประเทศไทยในพื้นที่การประท้วง ที่คนทำงานลงถนนและทำงานกับผู้คนจริงจัง ส่วนเราเป็นผู้ประท้วงเยาวชนที่อยู่ในขอบข่ายการทำงานปกป้องสิทธิเด็กของแอมเนสตี้

4. ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice)

เป็นคุยวงย่อยเรื่องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ให้แสดงความเห็นร่วมกันว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ น่าจะถูกพูดถึงในมุมมองของประเทศชายขอบหรือคนที่ได้รับผลกระทบด้วย เพราะส่วนใหญ่จะถูกพูดถึงในมุมมองของผู้ผลิตหรือบริษัท

5. การจัดการความขัดแย้งภายในองค์กร (Culture Agility)

เป็นการเวิร์คชอปเครื่องมือการจัดการความขัดแย้งในองค์กร โดยคนที่มาสอนเป็นนักจิตวิทยา เน้นการอธิบายทฤษฎี รวมไปถึงกลไกของสมองมนุษย์ด้วย กิจกรรมหลังจากเซสชันการอธิบาย คือ มีลิสต์คุณค่าที่เรายึดถือทำงาน เช่น การตรงต่อเวลา การสื่อสาร และให้คนภายในกลุ่มเลือกคุณค่าที่เราให้มากที่สุด และมาคุยกัน

6. Workshop : ความเป็นธรรมทางเชื้อชาติ (Racial Justice)

เน้นความเป็นธรรมทางเชื้อชาติ สำหรับมีมี่เธอประทับใจช่วงนี้เพราะได้เรียนรู้เรื่องความเป็นธรรมทางเชื้อชาติ หรือ Racial Justice ว่าเกี่ยวโยงกับทุกเรื่อง การเหยียดเพศ การเหยียดชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาทางสภาพสังคม

"การเดินทางสำหรับเยาวชนในประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนการศึกษา การได้มาที่บรัสเซลล์เป็นการเปิดโลกและออกจากกรอบมาก ทำให้เห็นความสำคัญของการเดินทางสำหรับเยาวชน เพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่าง การคิดหรือจินตนาการในประเทศของตนเอง ไม่สามารถเทียบได้กับการมาเห็นภาพจริงเลย"

"นอกจากนี้ยังมองเห็นความท้าทายของการเป็นเยาวชนไทยที่ถูกกดทับมาตลอดในระบบ ทั้งจากครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และจากนโยบายของรัฐ เมื่อต้องมาอยู่ในวงเดียวกับเยาวชนที่เติบโตมาในสังคมแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับศักยภาพในการคิด วิเคราะห์และแสดงออก ก็เหมือนมีกำแพงอีกชั้นที่เราจะต้องก้าวผ่าน"

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสมาชิกแอมเนสตี้

"การได้มางานประชุมสมัชชาสากล เป็นโอกาสที่ได้เห็นภาพใหญ่ของพีระมิด ว่าเรากำลังทำงานอยู่กับใคร โครงสร้างมีอะไรบ้าง และเครือข่ายเป็นอย่างไร หวังว่าในอนาคต ทุกคนจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับงานประชุมสมัชชาสากลของแอมเนสตี้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมันทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับแอมเนสตี้มากขึ้น"

สำหรับมีมี่ เธอเชื่อว่าทุกพลังและแหล่งอำนาจที่เธอได้จากการมาร่วมงาน GA ครั้งนี้ คือการได้มาเชื่อมต่อเครือข่ายและพบเจอเพื่อน ๆ นักกิจกรรมเยาวชนจากหลากหลายประเทศ หลายมุมโลก เธอบอกว่าจะนำเรื่องนี้มาทำงานและสานต่อเพื่อขยายงานและทำให้เสียงของปัญหาในประเทศไทยและภูมิภาคดังขึ้น

สิ่งที่อยากสื่อสารกับนักกิจกรรมไทย

เมื่อ 'มีมี่' ได้สัมผัสบรรยากาศของการทำกิจกรรมขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนระดับโลกครั้งนี้ ทำให้ตระหนักว่านักกิจกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนจำนวนไม่น้อยถูกกดทับหลายชั้นและประเทศไทยที่มีการเมืองที่มีความซับซ้อนอย่างมาก อาจส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่การเคลื่อนไหวด้วย การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในบริบทประเทศ ว่าคือการถวายชีวิต เวลา ครอบครัว ให้กับการเปลี่ยนแปลง

"นักกิจกรรมไทยและประเทศอื่นๆ กำลังทำงานที่ยากและซับซ้อนมากมายหลายเท่า ประเทศอื่นๆ ที่มีบริบทต่างจากไทย ก็จะเจอความลำบากต่างกัน และในบางครั้งอาจจะรู้สึกว่าเราตัวเล็กจากความคิดฝังหัวที่ฝังลงไปในความเป็นคนไทย ที่ทำให้รู้สึกตัวเล็ก ไม่เคลียร์ เมื่ออยู่กับคนที่มาจากประเทศโลกที่หนึ่ง ก็อาจรู้สึกถูกลดทอน ไม่ถูกมองเห็น ไม่ถูกให้ความสำคัญ แต่อันที่จริงแล้ว อยากให้ทุกคนรับรู้ข้างในตนเอง ว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหนกับสิ่งที่ทำอยู่ โดยไม่ต้องอาศัยการยืนยันจากใคร"

'มีมี่' พูดส่งท้ายถึงเด็ก-เยาวชน-นักกิจกรรม

สิ่งที่ 'มีมี่' ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมประชุม GA ครั้งนี้ คือ การเชื่อใจตนเอง เพราะทุกคนมีจังหวะชีวิตและเวลาของตัวเอง เธอเล่าว่าตอนที่อยู่ในงานประชุม ตอนที่อยู่ในกระบวนการรักษา (healing) จากความแตกสลาย หลังจากจบภารกิจในแต่ละวัน จึงเลือกจะออกไปเดินป่าอยู่กับธรรมชาติ ให้สรรพสิ่งเยียวยา มากกว่าพยายามล็อบบี้และอยู่กับคน เราเลือกจะเชื่อใจความรู้สึกของตนเอง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องวางขอบเขต และทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่ แต่กลั่นกรองสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้ และความเป็นตัวของตัวเองให้ชัดเจน

ปัจจุบัน 'มีมี่' เริ่มทำงานใหม่ เติบโต และออกจากพื้นที่เดิม สำหรับเธอพบว่าประสิทธิภาพการทำงานดีมากขึ้น เครือข่ายที่ได้มาก็นำมาทำงานต่อ ทุกประสบการณ์ถูกตกตะกอนออกมาเป็นปัญญาที่นำไปสู่อีกหลากหลายแคมเปญจ์และโปรเจค โดยที่ไม่กลับไปแตกสลายเหมือนเดิมอีกแล้ว เธอมองว่าการไปร่วมงานครั้งนี้กับแอมเนสตี้ ทำให้เธอได้ตัวเองกลับคืนมาในเวอร์ชันที่เคยอยากจะเป็น และหากในวันนั้นเราไม่เชื่อใจตนเอง เราคงยังเหนื่อย เพลีย งง สับสน และไม่รู้ว่าต้องการอะไร

"บางครั้งเราก็ต้องเลือก รับผิดรับชอบกับทางที่เราเลือก อาจจะไม่มั่นใจ มีการสูญเสีย เสียดาย แต่แลกมากับการค้นพบพลังชีวิต หาตนเองเจอ และเป็นฐานในการทำงานขับเคลื่อนสังคมต่อไปอย่างมีพลังมากขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองได้ เพื่อให้สามารถยังเดินต่อไป"

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มคนธรรมดาๆ ทั่วโลกกว่า 13 ล้านคนที่รวมตัวกันรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้ที่ : https://bit.ly/3ZDmWbT