เจ้าหน้าที่ระดมทุนทางโทรศัพท์ กับบทบาทสะพานเชื่อมโอกาส

24 เมษายน 2566

Amnesty International

อย่างที่หลายๆ ท่านทราบดีว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนธรรมดาหลากหลายสาขาอาชีพทั่วโลกกว่า 13 ล้านคนที่ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม เรายึดมั่นในความเป็นกลาง อิสระ และโปร่งใส เราปฏิเสธเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เดินหน้าขับเคลื่อนงานรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ด้วยพลังและการสนับสนุนจาก “คุณ” เท่านั้น

ฉะนั้น การประสานระหว่าง “สมาชิก” เช่น “คุณ” กับ “องค์กร” จึงอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจาก “เจ้าหน้าที่ระดมทุนทางโทรศัพท์” ที่ช่วยให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคในการสนับสนุนการทำงานปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ รวมทั้งช่วยให้แอมเนสตี้สามารถสื่อสารกับผู้บริจาคได้โดยตรง ซึ่งครั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ เอ เจ้าหน้าที่ระดมทุนทางโทรศัพท์ถึงประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับทางองค์กรกว่า 8 ปี

“จากวันแรกที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานเพียงเพราะอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการแบ่งปันข้อมูลขององค์กรว่ามีอะไรมากกว่าแคมเปญหน้าเพจเว็บไซต์ จนถึงวันนี้ก็จะเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว”

ย้อนกลับไปวันแรก เอ มองว่า ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ขณะที่ตัวเธอเองก็ไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากสักเท่าไร แต่หลังจากตัดสินใจเข้ามาเปิดโลกในเส้นทางสายนี้ ซึ่งทางแอมเนสตี้ก็ได้มีการจัดอบรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานข้อมูลในการทำงาน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เธอได้เรียนรู้และปรับมุมมองที่มีต่อประเด็นดังกล่าวไปด้วย

“เรื่องสิทธิไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เป็นเรื่องที่ถ้าพูดถึงแล้วเป็นประโยชน์ต่อตัวเองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในด้านใดก็ตาม”

 

เชื่อมประสบการณ์ สร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชน

ทางแอมเนสตี้จะส่งข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้ที่ให้ความสนใจร่วมบริจาค ผ่านการตอบแบบสอบถามทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย มาให้กับเรา เพื่อให้ติดต่อเข้าไปประชาสัมพันธขอรับความช่วยเหลือในรูปแบบรายครั้ง หรือต่อเนื่องเป็นรายเดือน หรือรายปี เพื่อขับเคลื่อนงานรณรงค์ต่างๆ ของทางองค์กร

“เรารู้สึกได้เลยว่าน้ำเสียงของเขาตื่นเต้นมากที่แอมเนสตี้ติดต่อเข้ามา น้องเขาเป็นนักศึกษา เราได้มีการพูดคุยและสอบถามว่าทำไมถึงให้ความสนใจประเด็นนี้ เขาก็บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนในครอบครัว”

ในหลายๆ สายที่ผ่านมา เหมือนทางผู้บริจาคเป็นฝ่ายให้ข้อมูลหรือให้ความรู้กับทางเจ้าหน้าที่ระดมทุนเพิ่มเติมอีกด้วย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับเรา แม้ว่าบางครั้งผู้บริจาค โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอาจจะยังไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ แต่เราเห็นได้ถึงความสนใจและโอกาสในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

“มีผู้บริจาครายหนึ่ง ตอนแรกโทรไปเขาวีนมากว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรใหญ่นะทำไมถึงมาระดมทุน เขาบอกว่าได้ติดตามการทำงานของแอมเนสตี้มาบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะต้องโทรมาขอร่วมรับบริจาคจริง พอเราอธิบายไปว่าเราโทรมาเพราะอะไร เขาก็เริ่มจะซอฟต์ลง คุยไปเขาก็เริ่มเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น เขาบอกว่าเคยเจอเหตุการณ์ที่พ่อแม่ของเขาโดนอุ้มหายไป เขาเลยอินกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เลยร่วมช่วยเหลือเข้ามา”

ปัจจุบัน ช่องทางในการรับบริจาครองรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้ง Visa Master และ JCB (ระบบยังไม่รองรับ Amex และ UnionPay) ไปจนถึงการรับชำระผ่านบัตรเดบิตที่เปิดใช้งานออนไลน์แล้ว ทั้งที่ออกโดยธนาคารในต่างประเทศแทบทั้งหมด และบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารในประเทศไทยดัง อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต เป็นต้น

 

การให้คุณค่าและการรับฟัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานเทเลเซลล์ คือ งานขายเสียง แต่ทักษะที่สำคัญจริงๆ คงหนีไม่พ้นการฟัง “เพระการที่เราไม่เห็นหน้าตา ท่าทางของผู้บริจาคเลย เราจะอ่านผู้บริจาคยากมาก เพราะบางทีเราเห็นหน้าเขายังอ่านไม่ออกเลย” เอกล่าวพร้อมยิ้มขำ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา “คำตอบของผู้บริจาคแต่ละคนจะเหมือนเป็นคีย์เวิร์ดให้เราต้องชวนพูดคุยอย่างไรต่อไป” เธอประเมินว่า ผู้ที่สนใจมักจะมีคำตอบที่มากกว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งในหลายๆ ครั้งจะเป็นการอธิบายและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมไปอีกด้วย ซึ่งในด้านหนึ่งก็ทำให้ทางทีมสามารถประเมินผลตอบลัพธ์ในการดำเนินงานแต่ละโครงการได้เป็นอย่างดี ขณะที่บางรายอาจจะยังไม่รู้จักองค์กร แต่เห็นว่าน่าสนใจจึงลงทะเบียนเข้ามา ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเป็นหน้าที่ของเราในการแบ่งปันข้อมูลต่อไป ฉะนั้นรูปแบบในการพูดคุยแต่ละสายจึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ทั้งนี้ ไม่ว่าสายปลายทางจะเป็นการบริจาครายครั้ง รายเดือน หรือรายปี ทุกบาททุกสตางค์ล้วนมีส่วนช่วยเหลือองค์กรในการขับเคลื่อนการรณรงค์ต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การชี้ให้ผู้บริจาคเห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าทุกโครงการทุกการขับเคลื่อนต่างใช้งบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งการบริจาครายเดือนหรือรายปีจะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนงานในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

ฝากถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และผู้สนับสนุน

ตอนนี้แอมเนสตี้เป็นที่รู้จักแบบเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอุดมการณ์หรือมีเป้าหมายแบบเดียวกัน เพราะอย่างตัวเราเองก็อาจจะยังไม่รู้จักถ้าไม่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้ แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ 3 ถึง 5 ปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในทุกกลุ่ม ทุกวัย และอาจจะมีแคมเปญต่างๆ ที่ร่วมกับสาธารณะมากขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่สื่อในการประชาสัมพันธ์

ในท้ายที่สุด เราอยากเป็นตัวแทนของทางแอมเนสตี้ในการขอบคุณผู้สนับสนุนทุกราย ไม่ว่าเขาจะเคยบริจาคหรือไม่ก็ตาม  แต่ทุกคนทำให้เห็นถึงพลังของคนธรรมดาๆ ที่พยายามขับเคลื่อนสังคมไทยที่มีการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน แม้คนเราจะเกิดมามีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เท่ากันก็ตาม