ความหวัง อิสรภาพ และการตีตรา #PROTECTTHEPROTEST #ปกป้องสิทธิในการชุมนุม

4 สิงหาคม 2565

Amnesty International

ย้อนไปในปี 2564 ธัชพงศ์ (ชาติชาย) แกดำ  คือหนึ่งในผู้ถูกฝากขัง เขาถูกออกหมายจับและเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 จากกรณี #ม็อบ2สิงหา ในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในเรือนจำ บอยคืออีกคนหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ และต้องพบกับอาการโควิดลงปอด ตามมาด้วยอาการไข้ขึ้นสูง หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ความดันสูง 

“ตอนนั้นตั้งคำถามว่าคนเราอดนอนได้มากที่สุดเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นนอนไม่ได้ถึงห้าคืน โดยที่พยาบาลบอกว่าเราเครียด” ท่ามกลางสายฝนในวันที่เราคุยกัน บอยเล่าแบบนั้น เขาบอกว่าในเรือนจำเป็นเสมือนอีกโลกหนึ่งที่เขาได้พบเจอกับอะไรต่าง ๆ มากมาย เฉกเช่นเดียวกันกับหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเคยอ่านสมัยที่ยังเด็ก 

“เราเห็นแต่ฟ้า ต้นไม้ ได้ยินเสียงคนโดยที่มีกำแพงกั้นอยู่ ข้างในนั้นเป็นเหมือนฮอกวอตส์เลยล่ะ เราเจอคนที่ติดคุกจากหลายคดี” 

หนึ่งเดือนเศษถัดมา ในวันที่ 15 กันยายน 2564 เขาได้รับการประกันตัว โดยมีเงื่อนไขติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์  (EM)  โดยยังต้องรายงานตัว และจากการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์นั้น บอยไม่สามารถที่จะนั่งเครื่องบินได้ แม้เขาจะทำกิจกรรมด้านการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของพี่น้องทั่วประเทศ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถสมัครงานได้ รวมถึงยังต้องพบกับการตีตราจากสังคมจากกำไลที่ข้อเท้า

“ตอนนั้นไปสมัครงานที่ห้าง เขาก็ตกใจว่าเราโดนคดีอะไร เขาคิดว่าเราคือผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมร้ายแรง บางทีเราเดินทางด้วยการขี่รถจักรยานยนต์ ตำรวจก็ให้จอดมอเตอร์ไซค์และค้นยา” 

“พี่โดนติดกำไลอีเอ็มจากข้อกล่าวหาอะไร” เราถาม 

“ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่” เขาตอบ 

 

 

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว 

ก่อนมาถึงสามสิบสี่หมาย หนึ่งร้อยกว่าคดี

 

บอยอาจเป็นที่รู้จักในหน้าข่าวสารนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 ในฐานะแนวหน้าของการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิในที่ดินทำกิน แต่เขาไม่ได้เริ่มต้นจับไมค์ปราศรัย หรือออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเป็นครั้งแรกในปีนั้น แต่อยู่บนสายธารแห่งการเคลื่อนไหวด้วยความหวังในการเรียกร้องวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของประชาชนมาเป็นเวลานับสิบปี โดยมีจุดเริ่มต้นของแรงผลักดันคือการที่เขาและครอบครัว “ไม่มีที่ดินทำกิน” ทำให้สุดท้ายแล้วเขาและครอบครัวไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง 

ในตอนที่เขายังเด็ก บอยอาศัยอยู่ ในห้องแถวแห่งหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่คลองเตย ในชุมชนแออัดที่ใครต่อใครเรียกว่าสลัม 

ตอนมัธยมศึกษาปีที่สอง บอยต้องออกจากโรงเรียนเพราะครอบครัวเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในยุคสมัยของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 

“เรามีความฝันในวัยเด็กคือการเป็นตำรวจ แต่ตอนมัธยมกลายเป็นว่ามีความฝันคือคือคุมบ่อนเมื่อจบ ม.3 กับรับจ้างเป็นนักเลงแถวนั้น เราไม่ได้มีความฝันที่จะมีอนาคตเหมือนทุกวันนี้ เพราะชีวิตเราเติบโตมาแบบนั้น มันโตจากคำว่าไม่มี ค่าเช่าห้องแถวของพ่อกับแม่บางวันก็ไม่มีจ่าย เราโดนไล่ประจำ ต้องย้ายตลอดเพราะไม่มีเงินจ่ายเขา

“ย้ายไปที่ระยอง พ่อเราไปเป็นยาม ได้เงินเดือน 8-9,000 แทบจะไม่เหลือ เราต้องเอาของจากร้านโชว์ห่วยมาไว้ที่บ้านแล้วค่อยจ่ายเขา แม่ต้องขายอาหารทะเลพวกปลาหมึกปิ้ง

“แต่พออยู่ระยอง เราเปลี่ยนจากนักเรียนที่เกเร ไปเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน เพราะต้องอยู่กลางทุ่งนา มีแต่จักรยาน และได้อ่านหนังสือ ครูที่โรงเรียนเองก็ให้โอกาสเรา เพราะเขาเห็นเราดูข่าว ในตอนนั้นยุคอองซาน ซูจี กำลังดัง และเราพูดชื่ออองซาน ซูจีออกมาตอนครูถามว่าใครเป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า”

จากการได้โอกาสที่จะได้ศึกษาต่อ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ครูได้พาเขาไปแข่งวิชาการและแข่งตอบคำถามเรื่องการเมืองการปกครอง จนสามารถครองแชมป์ภาคตะวันออกสามปีซ้อน และเป็นอันดับสามของประเทศไทย จนได้เงินมาพร้อมกับโล่ และได้เป็นเยาวชนด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยดีเด่นของจังหวัดระยอง 

แต่ด้วยความที่ครอบครัวยากจน เขาถูกดูถูกจากทั้งญาติพี่น้องและเครือญาติเพราะต้องติดหนี้สิน และต้องย้ายบ้านไปเรื่อยๆ แม้จะได้โควต้ามหาวิทยาลัยจากหลายที่ แต่บอย – เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนอีกหลายคนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการศึกษา เขาไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะต้องจ่ายค่าส่วนต่าง ทำให้ต้องตัดสินใจเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีเงินติดตัวอยู่ 2,500 บาท จากการที่แม่ของเขายืมแม่เพื่อนมาอีกทีหนึ่ง 

เขาต้องนอนตามป้ายรถเมล์หน้าวัดเทพลีลา ในกระต๊อบหลังเล็กๆ  แลกกับการรดน้ำต้นไม้และขายยาดองให้กับรุ่นพี่ 

“เพราะโตมาจากการถูกกดขี่จากความจน ถูกมอง ถูกเหยียดว่าเป็นเด็กสลัม ไม่มีโอกาส เราถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม ตอนได้แชมป์และได้รับเชิญไปที่ต่างๆ เราก็ยังเห็นความต่าง เราถูกเหยียดจากการเลือกปฏิบัติเหล่านั้น คนมองเพียงแค่ผิว แค่ฐานะ มหาวิทยาลัย สถานะครอบครัว นั่นทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละคือแรงกดจากสังคม ที่ทำให้เราต้องสู้ตลอด…

“นี่แหละคือจุดเริ่มต้น” 

 

เมื่อเรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาได้เกิดความฝันที่จะเป็นผู้พิพากษาจนเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ แม้จะไม่มีเงินนั่งรถเมล์ แต่เขาก็นั่งอ่านหนังสืออยู่บ้าน ทว่าจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในที่สุดเขาต้องทิ้งความฝันในการเป็นผู้พิพากษา เมื่อชีวิตจริงเขาไม่มีเงินที่จะเรียน จึงต้องทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ขายบัตรเครดิต หรือนักแสดง 

“เรากลับมาเรียนรามอีกรอบและทำกิจกรรมออกค่าย นี่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมาทำงานการเมือง ผ่านการออกค่ายและศึกษาปัญหาชาวบ้าน” 

ในวันที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์ สายตาของเขาในวันนั้นที่ได้ลงพื้นที่จริงได้ทำให้บอยรับรู้ว่ายังมีชาวบ้านที่เดือดร้อนอยู่ เขาเห็นว่าชาวบ้านมาชุมนุมกันนับพันคนแต่กลับไม่เป็นข่าว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เขาตั้งคำถามขึ้นมา 

ทำไมสังคมจึงไม่สนใจ? 

“ตอนนั้นเป็นม็อบชาวนา ม็อบหนี้สินเกษตรกร ม็อบแรงงานในวัน May Day เพราะการออกค่ายศึกษามันทำให้เราเจอหลายพื้นที่ เราไปกินไปอยู่กับชาวบ้าน อาจจะเพราะด้วยความจนด้วย ก็เลยทำให้เราเข้าใจเขาได้มาก และอินกับประเด็นนี้ 

“หลังจากนั้นเราเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเรื่อย ๆ เริ่มต้นจากค่าย ไปสู่ม็อบชาวบ้าน ทำให้เราอยากจะกลับมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนอีกครั้งหนึ่งและกลับมาเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง เพื่อที่จะเข้าใจปัญหาชาวบ้าน

ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงทำงานเคลื่อนไหวหรอก แต่คิดแค่ว่าลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน และเราอยากเอาเรื่องเหล่านี้ไปบอกต่อน้องๆ ในมหาวิทยาลัย ว่ายังมีประเด็นของชาวบ้านอยู่ ด้วยความที่เราเชื่อในคำว่าสามประสาน คือนักศึกษา ชาวนา และกรรมกร นักศึกษาคือกลุ่มที่ศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านในเมืองได้”

แม้ปีหนึ่งจัดค่ายไปที่เดิมหลายครั้ง แต่บอยพบว่าตัวละครเปลี่ยนแค่นักศึกษา ส่วนปัญหายังคงเหมือนเดิม เวลาผ่านไปอีกสิบปีหรือยี่สิบปียังเป็นปัญหาเดิม มันทำให้เขารู้สึกว่า มาศึกษาน่ะดีแล้ว แต่สุดท้ายการจัดกระบวนการค่ายต้องเปลี่ยนแปลง แต่เขายังคงชวนนักศึกษาไปลงพื้นที่กับชาวบ้าน เพราะบอยเชื่อว่า “ถ้าน้องรักสังคม น้องจะรักการเปลี่ยนแปลง เมื่อเขาทุ่มเทความรักให้กับสังคม เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องสังคม ให้สังคมมันดีขึ้น และถ้าสังคมดี ชีวิตและคุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีด้วย

ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เขาเชื่อในความเปลี่ยนแปลง เขาได้เข้าร่วมการประท้วงของชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ต้องการเข้ามาเรียกร้องตามกระทรวงต่างๆ และต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  บอยในฐานะนักศึกษาเริ่มจากการเก็บขยะในม็อบ วิ่งซื้อของ จนกระทั่งไม่มีคนขึ้นปราศรัย และชาวบ้านได้ชวนให้เขาขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกในม็อบชาวนา ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์

“ในยุคของพี่รัฐบาลไม่ได้ใช้ความรุนแรงมาก น่าจะเป็นช่วงปี 2545 จนถึงราว ๆ ก่อนปี 2553 ตอนนั้นรัฐบาลใช้วิธีเฉย เมิน ไม่สนใจชาวบ้านที่มาเรียกร้อง เราก็ได้เรียนรู้มาตรการต่อสู้ด้วยการกดดันจากชาวบ้านนั่นแหละ

“สมัยนั้นเวลาจัดงาน May Day เราได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหุ่นของขบวนล้อการเมือง นำเสนอประเด็นของพี่น้องแรงงาน มีการเดินรณรงค์ ตอนนั้นมีการกดดันรัฐบาลเรื่องค่าแรง ที่ให้ขึ้นค่าแรงเป็นเดือนละหมื่นห้า หลังจากนั้นพอโตขึ้นเรื่อยๆ จนมาทำงานที่ ม.รังสิต ในฐานะเจ้าหน้าที่และอาจารย์ มีม็อบโรงไฟฟ้ากระบี่ ตอนนั้นโดนจับไปเข้าค่ายทหาร 

“ครั้งที่แรงสุดคือครั้งนั้น เราเข้าค่ายทหารในยุคของประยุทธ์ ช่วงหลังรัฐประหาร น่าจะเป็นปี 2559 ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ปิดทางเข้าออก เราถูกจับไปค่ายทหาร เวลาลงไปเข้าห้องน้ำต้องปิดตา จะเปิดตาเราตอนที่เราถึงห้องนอน ซึ่งเป็นลานโล่งๆ ที่มีบล็อคมากั้น เวลาปัสสาวะจะมีขวดคล้ายๆ กับถังที่ใต้เตียง แต่ถ้าจะถ่ายหนักหรืออาบน้ำ จะเป็นเวลา โดยเราต้องปิดผ้าปิดตา และเปิดตาเมื่อถึงห้องน้ำ

“เราจำได้ว่าเราด่ากองร้อยน้ำหวานจนร้องไห้กันเยอะเลย เพราะตอนนั้นเขาเอากำลังมาล้อมชาวบ้าน ซึ่งมีแต่พี่น้องมุสลิม ตอนนั้นแกนนำสามคนถูกหิ้วไปแล้ว เหลือแค่เราอยู่กับชาวบ้านในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) จังหวะมันคือแปดโมงเช้าพอดี แล้วเพลงชาติมา เราเลยบอกว่า ‘เพลงชาติไทยเนี่ย คุณกับผมยืนตรงเหมือนกัน แต่พวกคุณไม่ได้เห็นความสำคัญของชาวบ้านหรือของพี่น้องเลย คุณมองตาผมสิ สบตาผม’ จำได้ว่าตำรวจ คฝ. ผู้ชายบางคนยิ้มเยาะเย้ย 

“เราพูดว่าชาวบ้านทุกคนเขาเดือดร้อน ยุงกัดทั้งคืน แต่พวกคุณไม่รู้สึกอะไรหรอ คุณเป็นหุ่นยนต์รึเปล่า

“พอเพลงชาติขึ้นทุกคนหยุดหมด แต่พอเพลงชาติจบ คุณจะทำร้ายเรา แค่เพราะเราเดือดร้อน เราจำได้ว่าเขาไม่กล้าสบตาเรา และเขาให้กองร้อยน้ำหวานมาเผชิญหน้ากับเรา ตอนนั้นกองร้อยน้ำหวานก็น้ำตาไหล ชาวบ้านก็ร้องไห้เหมือนกัน” 



#ม็อบ29กุมภา

© mobdatathailand

 

2563

เยาวชนปลดแอก

“เรามีความหวังจนยอมสละทุกอย่าง”

 

“กระแสของเยาวชนปลดแอก หรือกระแสของแฟลชม็อบ มันคือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรารู้สึกว่ามันจะเกิดขึ้น มันเหมือนท่อระบายน้ำที่มันไม่ไหวแล้วและระเบิดออกมา” 

คือคำพูดที่บอยให้ความรู้สึกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ในช่วงของปี 2563 นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การลุกขึ้นเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างน้อย 1,813 คน ใน 1,074 คดี จากการชุมนุมทางการเมืองและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในจำนวนนั้น ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอย่างน้อย 280 คน ใน 205 คดี 

“กระแสตอนนั้นคือชีวิตของนักเคลื่อนไหว ของนักกิจกรรม.. แม้ว่าเราจะเป็นอาจารย์และเจ้าหน้าที่อยู่ แต่เราก็ยังมีจิตวิญญาณของนักเคลื่อนไหว ช่วงที่เยาวชนปลดแอกออกมา เรามีความหวัง เรามีความหวังกับการเกิดการลุกฮือของคนหนุ่มสาว เรามีความหวังว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เรามีความหวังจนยอมสละทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานของเราในตอนนั้น เพื่อที่จะออกมาร่วม คอยประคับประคองหลังบ้านและสนับสนุนหลังบ้านให้เต็มที่ ในจุดที่เรามีโอกาสทำ 

“ก่อนจะมีเยาวชนปลดแอกชุมนุม ตอนนั้นเราช่วยม็อบชาวบ้านที่มาเรียกร้องที่ทำเนียบ ตอนนั้นเราพูดกับเพือนนักกิจกรรมว่า อยากทำม็อบอีกครั้งในชีวิต ก่อนที่จะเกษียนตัวเอง เพราะอายุเยอะแล้วแหละ ตอนนั้นมีเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยังไม่ยอมยกเลิกสักที แล้วเราก็รู้สึกว่าต้องสู้แล้วว่ะ”

ในตอนที่เราคุยกัน เขาหันไปคุยกับเพื่อนนักกิจกรรมที่นั่งอยู่ตรงนั้นด้วยกัน ท่ามกลางบทเพลง ‘ฤดูกาล’ ที่กำลังบรรเลงในเวลานั้น รอยยิ้มจากทั้งสองคนกำลังพูดถึงเรื่องราวที่ผ่านมาเมื่อสองปีที่แล้วปรากฏขึ้น เมื่อบอยถามเพื่อนว่า “จำได้มั้ย ข้างทำเนียบ ที่เขามายืมลำโพง แล้ววันนั้นฝนตกหนักเลย” 

“เราไม่คิดว่าหลังจากนั้นมามันจะเกิดเป็นกระแส ตอนนั้นเราคิดอยากจะทำม็อบเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พอเกิดเยาวชนปลดแอกขึ้นมา และเกิดปรากฏการณ์ที่เพนกวิน ฟอร์ด รุ้ง ที่สกายวอล์ค มันทำให้เรารู้สึกว่าพอเห็นขบวนการหนุ่มสาว ทำให้เรามีความหวัง สิ่งที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง มันมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้

“หลังจากนั้นเราลาออกจากการทำงานในมหาวิทยาลัยและลุยได้เต็มที่”

“ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พี่โดนมากี่คดีแล้ว?” 

“สามสิบสองหมาย หนึ่งหมายมีมากกว่าหนึ่งคดี หมายที่โดนอยู่ตอนนี้มีสามสิบสอง ถึงสามสิบสี่หมาย อาจจะเป็นร้อยคดีแล้ว”

คดีที่ทำให้เขาต้องเข้าไปในเรือนจำเป็นครั้งแรก คือคดีประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ “เขาหาว่าเราไปประทุษร้ายเจ้าหน้าที่” 

วันนั้น เขาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าที่ถูกจับไปอยู่ที่ค่าย ตชด. ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 “วันนั้นเราแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากไปพูดเพื่อพาคนกลับบ้าน ขึ้นไปคุมสถานการณ์ ไม่ได้ปราศรัยโจมตี แต่เราโดนข้อหาประทุษร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ จนถูกจับ ตอนนั้นเราให้ทุกคนพูดพร้อมกันว่า ‘มึงไม่ได้แดกกูหรอก ถ้าจะใช้กำลังมาตีหรือมาทำร้ายพวกเราเนี่ย’ แค่นั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรเลย”

แต่เขาต้องเข้าเรือนจำไป 38 วัน 

“เขาอ้างว่ากลัวเราจะไปข่มขู่ คุกคามพยานหลักฐาน ซึ่งพยานคือตำรวจ.. สองคือเขาบอกว่าในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ยืนยันแล้วว่าได้จัดการเรื่องโควิดเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่เราบอกว่ากลัวติดโควิดในเรือนจำจึงไม่เป็นความจริง

“ถามว่าตอนเราอยู่เรือนจำ เรามีภาวะเครียดไหม.. มี ทุกวันนี้ผลพวงของการติดคุกก็ยังมี มันเป็นผลพวงของอารมณ์ความรู้สึก เพราะเราไปอยู่ในคุกในฐานะของพี่คนโตสุด เราต้องเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้น้องเห็นความอ่อนแอ เพื่อนเราบางคนนั่งเล่นกัน หัวเราะกันสนุกสนาน แต่อยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้ 

“บางทีเราก็อยากร้องไห้นะ มันเป็นภาวะกดดัน บางทีมันจะร้องเอง แต่เราพยายามเก็บความเป็นห่วงคนข้างนอกเอาไว้.. เราเป็นห่วงครอบครัวมากกว่าว่าเขาจะจัดการยังไง แต่ติดคุกนี่เราทำใจแล้ว 

“เราไม่ได้กลัว ไม่รู้สึกว่าจะต้องตาย แต่อารมณ์ความรู้สึกมันถูกกดโดยที่เราไม่รู้ตัว มันเป็นภาวะของอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกหดหู่ อยากจะร้องไห้ เพราะทุกวันต้องอยู่แต่ที่เดิม มันไม่มีอะไร สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้จึงเป็นการอ่านหนังสือ.. แต่อย่าไปอ่านหนังสือที่หดหู่นะ มันยิ่งทำให้เราจิตตกเข้าไปใหญ่ จนป่วยโควิด เรายิ่งจิตตกมาก เพราะเรานอนไม่หลับ

“ผีสางเทวดานี่ไม่กลัวหรอก ผีไม่น่ากลัวเท่าการอยู่ในคุกแล้วมันเงียบ มันว้าเหว่ ความสุขของเราจึงมีอยู่สามอย่าง คือการอ่านหนังสือที่เปิดโลกใหม่ๆ อย่าง The Da Vinci Code กับสิ่งที่สองคือการได้อาบน้ำ เพราะพวกเราไม่ต้องไปอาบน้ำรวมกับคนอื่น แต่อาบในห้องขังเราเลย

“อย่างที่สามคือเห็นน้องๆ เล่นกัน อย่างฟ้า เพนกวิน แซม เวลาพวกนี้เล่นกันสนุกสนาน เราก็หัวเราะตลอด แต่บางทีก็เครียด บางทีน้องหัวเราะกัน อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้”

บอย เพนกวิน ฟ้า และแซม คือนักกิจกรรมที่ติดโควิดในเรือนจำในปี 2564 การติดเชื้อโควิดในเรือนจำ ทำให้บอยนอนไม่ได้ถึงห้าคืน เขาเล่าว่าตนมีอาการปวดหัว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว โดยที่พยาบาลวิชาชีพบอกว่าเป็นภาวะเครียด และต้องกินฟ้าทลายโจรมื้อละห้าเม็ด กับยาพาราอีกสองเม็ด 

การติดเชื้อโควิด 19 ทำให้เขาต้องเปลี่ยนที่อยู่ในเรือนจำหลายที่ จากการเปลี่ยนที่อยู่หลายรอบ ทำให้บอยพบว่าในเรือนจำเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง เรานั่งอยู่ด้วยกันตรงนี้ แต่เราไม่รู้หรอกว่าตรงที่คุณอยู่เป็นยังไง เราเห็นแต่ท้องฟ้า ต้นไม้ เสียงรถ เสียงคน เราไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง แต่เราผ่านรถข้างนอกตลอดนะ ตอนที่นั่งรถในห้องขังไปเรือนจำ แต่เราไม่สามารถพูดกับคนอื่น ๆ ได้ แต่ในโลกของเรามันมีการต่อสู้เหมือนกัน ผู้ที่มีอำนาจใหญ่ที่สุดคือผู้คุมในเรือนจำ เจอคนที่ติดคุกจากหลายคดี ที่เขามีอีกสังคม มันเป็นอีกโลกหนึ่งจริงๆ เหมือนฮอกวอตส์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีอะไรต้องค้นหาอีกเยอะ และมีแดนที่คุณไม่เคยได้เจอ” 

บอยบอกว่าหลังจากที่เขาออกมาจากเรือนจำ จนถึงตอนนี้เขายังรู้สึกจิตตกอยู่บ่อยครั้ง และเป็นผลกระทบโดยไม่รู้ตัว 

“มีอยู่ช่วงหนึ่ง พอตกค่ำเราหดหู่ เหมือนคนอกหัก แต่มันไม่ใช่ พอฟ้ามืดเรารู้สึกว้าเหว่ พี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) บอกว่ามันเป็นผลกระทบจากการติดคุก”

เขาเชื่อว่าเป็นเพราะเสียงจากภาคประชาสังคม ทั้งจากกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ภาคีเซฟบางกลอย ถ่านหินกระบี่ และประเด็นของภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เขาร่วมเคลื่อนไหว ที่พูดถึงเขาทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่แกนนำ คือเหตุผลที่ทำให้เขาได้ออกจากเรือนจำ 

นับตั้งแต่ออกจากเรือนจำจนถึงตอนนี้ เขายังคงต้องติดกำไล EM โดยเป็นการปล่อยตัวชั่วคราว 

“การติด EM เขาบอกว่ากลัวว่าเราจะไปสร้างความปั่นป่วนให้บ้านเมือง และคุกคามพยาน”

จากการติดกำไล EM บอยต้องพบกับปัญหาในการสมัครงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ที่บางวันตำรวจเรียกให้จอดรถมอเตอร์ไซค์เพื่อค้นยา เมื่อเห็นกำไล EM ที่ข้อเท้าของเขา 

“คนปกติไม่มีใครเชื่อหรอก ว่าหน้าอย่างเราขี่มอเตอร์ไซค์แล้วติดกำไล EM จะเชื่อว่าติดเพราะคดีการเมือง คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง กลัวจะหลบหนี พอไปสมัครงานเราเองก็ลำบาก พอเขาเห็นกำไล EM เขาก็ไม่อยากรับ

“เราไปสมัครงานห้าง เขาก็ตกใจ แล้วถามว่าคดีอะไร สุดท้ายเขาก็ไม่รับเรา เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นผลโดยตรงมั้ย แต่มันมีปัญหาแน่นอน”

“ชีวิตก่อนหน้านี้เราค่อนข้างเป็นอิสระ ไม่ต้องคอยชาร์จแบตกำไลอีเอ็ม ไม่ต้องคอยเอากางเกงมาปิดเวลาเดินในพื้นที่สาธารณะ การใช้ชีวิตเราเปลี่ยนไปแม้จะไม่โดนจำกัดเวลาเข้า-ออกบ้าน แต่เราออกนอกประเทศไม่ได้ ขึ้นเครื่องไม่ได้เวลาต้องไปต่างจังหวัดไกลๆ เราต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณ GPS ตลอด เราต้องทำเรื่องเพื่อลงพื้นที่ 

“ในขณะที่เราเรียกร้องเพื่อสิทธิและเสรีภาพของคนเท่ากัน แต่รัฐกลับควบคุมชีวิตและอิสรภาพของเรา จับตาเรา ดูเราตลอดเวลาผ่านกำไล EM ว่าเราอยู่ไหน ทำอะไรตลอดเวลา ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็กำลังโดนควบคุมอยู่ดี

“เขาจะมีกลุ่มไลน์กำไล EM พอแบตเตอร์รี่หมดก็จะส่งข้อความ โทรตามบ้าง แบตเตอร์รี่ของกำไล EM อยู่ได้เหมือนโทรศัพท์มือถือเลย” 

“พี่จะต้องติดไปจนถึงเมื่อไหร่?” เราถาม 

“เขาไม่ได้บอกนะ.. คงจนกว่าคดีจะสิ้นสุด หรือไม่เราก็ไปทำเรื่อง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับศาล ว่าศาลจะพิจารณาให้เราถอดกำไล EM ได้เมื่อไหร่” 

 

จนถึงตอนนี้ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ และออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ยังคงถูกติดกำไล EM ที่ข้อเท้า แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดความต้องการในการเรียกร้องของพวกเขาได้ 

 

“ทุกวันนี้เราก็ยังสู้อยู่ ต่อให้ต้องมีปัญหาในการสมัครงาน เผชิญสภาวะทางเศรษฐกิจ เราก็จะยังสู้อยู่ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ เราก็จะสู้ เราไม่เคยมองรัฐเป็นศัตรู ไม่ว่าจะประเด็นอะไร เราเรียกร้องให้เขาปรับปรุงและแก้ไข เราไม่มองว่าถ้าใช้กำลังทำร้ายเขา (รัฐบาล) แล้วปัญหาจะจบ แต่เราเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มันดีขึ้น

“ที่เรียกร้องมาทั้งหมด เราแค่ต้องการโอกาสให้คนได้มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทาง เราต้องการโอกาสที่จะเท่ากันของความเป็นมนุษย์ รัฐต้องดูแลประชาชนให้ดีขึ้น.. แค่นั้นเอง

“คนจนทำงานยี่สิบปี สามสิบปี ก็ยังจนเหมือนเดิม มรดกของคนจนคือการเป็นหนี้และจนซ้ำซ้อน เราไม่ต้องการแบบนี้ เราอยากให้คนจนเลือกได้ว่าเขาจะเปลี่ยนให้มันดีขึ้นจากความจนได้ แต่ตอนนี้คนจนไม่สามารถเลื่อนสถานะทางชนชั้นได้อย่างเสรี เราสู้เพื่อสิ่งนี้ ไม่ใช่ให้คนจนยังคงต้องติดกับดักของความจน 

เราต้องการแค่โอกาส.. ที่เราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้ โดยที่ไม่ติดปัญหาโครงสร้างทางสังคม เหมือนที่เราอยากเรียนศิลปากรมาก แต่เราไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์หรือจ่ายค่าเทอม หรือเราอยากเรียนคอมพิวเตอร์หรือเกมเมอร์ แต่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชน”  

 

ทั้งนี้ กำไล EM คืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวว่า เป็นการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยสามกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาให้ติดกำไลอีเอ็มได้แก่ กลุ่มที่กระทำผิดไม่รุนแรง รอการลงโทษตามมาตรา 56 กลุ่มผู้รอตรวจพิสูจน์ และกลุ่มพักโทษ ลดโทษ ที่ได้เข้าไปในเรือนจำและได้เลื่อนชั้นลดโทษ  

 

โดยที่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของตนเอง คือหนึ่งในผู้ที่ถูกติดกำไล EM เช่นเดียวกัน ตามเงื่อนไขของแต่ละคน ที่รวมไปถึงการจำกัดเวลาเข้า-ออกเคหสถานในบางกรณี 

 

#PROTECTTHEPROTEST 

 

กำไลอีเอ็ม: https://news.thaipbs.or.th/content/296722