ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

ภาพรวม

เพราะภาคธุรกิจเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของโลกเราทุกวันนี้ ในการประกอบธุรกิจย่อมมีคนเป็นผู้ดำเนินงาน การทำธุรกิจสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกหลายอย่าง เช่น มีการสร้างงาน สร้างรายได้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คน หากแต่ภาคธุรกิจเองก็สามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน

ปัญหา

ในหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้พบว่า มีองค์กรภาคธุรกิจหลายแห่งเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี อาทิเช่น การใช้แรงงานอย่างกดขี่ การบุกรุกที่ดินที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำลายวิถีชีวิตของชุมชน การไล่รื้อชุมชนที่ยากจนเพื่อพัฒนาที่ดิน ซึ่งขณะเดียวกัน ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่มีส่วนในการตัดสินใจซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาได้ ขณะที่รัฐเองมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน หากแต่ หลายครั้งรัฐก็ล้มเหลวในเรื่องดังกล่าว ด้วยเพราะไม่มีศักยภาพเพียงพอ ในบางประเทศ แม้จะมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดองค์กรภาคเอกชนในเชิงหลักการได้ แต่ทางการกลับล้มเหลวที่จะดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม หรือเพราะมีการทุจริตเกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากภาคธุรกิจเหล่านี้ ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็มักเป็นคนยากจน หรือกลุ่มคนชายขอบซึ่งมีความเปราะบางมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคม

ตัวอย่างกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ กรณีมลภาวะทางน้ำมันซึ่งเกิดจากท่อส่งน้ำมันของบริษัทเชลล์ที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ในทวีปแอฟริกา และมีน้ำมันรั่วมากกว่า 1,600 บาเรลปนเปื้อนในลำน้ำท้องถิ่นที่โบโด การปนเปื้อนทางน้ำมันดังกล่าวส่งผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อมและเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนท้องถิ่นเพราะพวกเขาไม่มีน้ำสะอาดเพื่อดื่มกินและใช้สอยได้ และยังต้องหายใจเอาอากาศที่มีแต่กลิ่นน้ำมันและแก๊ส กรณีดังกล่าว บริษัทเชลล์ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิการมีน้ำสะอาดอุปโภคและบริโภค, สิทธิที่จะสามารถประกอบอาชีพ และสิทธิที่มีสุขภาพที่ดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ในประเทศไทยเอง ก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากองค์กรภาคธุรกิจเช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทแปรรูปผลไม้ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างกดขี่ หรือ กรณีบริษัทเหมืองแร่ทองคำที่เป็นสาเหตุของการรั่วไหลของสารเคมีที่เป็นพิษ ได้แก่ไซยาไนด์และโลหะหนักหลายชนิดไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมือง

เพื่อเป็นการป้องกันและรับมือกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติบนฐานของความสมัครใจ โดยเนื้อหาสำคัญของหลักการชี้แนะมีดังนี้
(1) รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(2) องค์กรภาคธุรกิจมีหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับ และ
(3) ในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีที่มาจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มธุรกิจ ควรจัดให้มีช่องทางการเยียวยาเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากองค์กรภาคเอกชน

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร?

แอมเนสตี้เชื่อมั่นว่า ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน แอมเนสตี้พยายามรณรงค์เพื่อให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การป้องกัน ควรมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของภาคธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันและจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จะเกิดขึ้น
  • การรับผิดชอบ องค์กรภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตนเองเป็นผู้กระทำ
  • การเยียวยา ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิโดยองค์กรภาคธุรกิจต้องสามารถเข้าที่จะเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม
  • เพราะบรรษัทระหว่างประเทศต่าง ๆ นั้นดำเนินการในหลายประเทศ ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกประเทศเช่นกัน

281

จำนวนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารทั่วโลกในปี 2559

68

จำนวนประเทศที่มีการจับกุมหรือคุมขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

59

จำนวนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยที่ถูกสังหารหรืออุ้มหายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา