กลางดึกของค่ำคืนหนึ่ง ข่าวสารที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงกระแสเล็กๆ ในพื้นที่ข่าวระหว่างประเทศ ค่อยๆ กลายเป็นหัวข้อร้อนแรงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงทุกวันนี้ หลังจากที่ไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังจีน แม้ว่ามีงานวิจัยมากมายรองรับว่าชาวอุยกูร์ในประเทศจีนมีความเสี่ยงถูกจับกุมโดยพลการ ซ้อมทรมาน และปฏิบัติอย่างโหดร้ายในเรือนจำและค่ายกักกันที่ใช้ “ปรับทัศนคติ”
สิ่งทีเกิดขึ้นทำให้เห็นว่าการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์จากรายงานนานาชาติ แต่ยังถือเป็นการละเมิดหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง โดยเฉพาะหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นข้อห้ามในกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามส่งตัวบุคคลไปยังประเทศที่พวกเขาอาจเผชิญกับการทรมานหรือการประหัตประหาร”
การที่ไทยเพิกเฉยต่อหลักการนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยแต่ยังอาจเป็นการสมรู้ร่วมคิดกับการละเมิดสิทธิของรัฐบาลจีนโดยทางอ้อม สำหรับบางคนนี่อาจเป็นเพียงข่าวที่ผ่านไปในแต่ละวัน แต่สำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมายาวนาน เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจถึงอดีตและคำถามสำคัญที่ว่า ประเทศไทยยืนอยู่ ณ จุดใดในเวทีสิทธิมนุษยชนโลก?
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยตกอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกในประเด็นนี้ ย้อนกลับไปในปี 2015 การส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับจีนโดยรัฐบาลไทยในขณะนั้น สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นในหลายประเทศ หนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของแรงต่อต้านในครั้งนั้นคือการโจมตีสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการกระทำของไทยไม่ได้มีผลกระทบเพียงแค่ในเชิงสิทธิมนุษยชน แต่ยังสะเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจุบันเหตุการณ์เดียวกันได้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือบริบทของรัฐบาลไทยเอง ซึ่งขณะนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลทหารเช่นในอดีต อีกทั้งไทยยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) ประจำปี 2568 – 2570 การกระทำครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการถูกตั้งคำถามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่หมายรวมไปถึงการสะท้อนถึงความย้อนแย้งในจุดยืนของไทยต่อเวทีสิทธิมนุษยชนโลก
ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยตกเป็นเป้าสายตาของประชาคมโลกอีกครั้ง หลังจากการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล แม้จะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่บริบทของเหตุการณ์ในปี 2024 นั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง อะไรคือผลกระทบของการกระทำครั้งนี้ต่อประเทศไทยในระดับสากล? เราได้พูดคุยกับ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้จากกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน
การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับ จากอดีตถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 รัฐบาลไทยในยุคนั้นภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บังคับส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวนมากกลับไปยังจีน แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกและประเทศตะวันตกที่คัดค้านการส่งตัวดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าอาจทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องเผชิญกับการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทว่าในปี 2024 ภายใต้รัฐบาลพลเรือนของ แพทองธาร ชินวัตร การตัดสินใจดำเนินรอยตามแนวทางเดิมได้สร้างคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังซ้ำรอยการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต?
ประเด็นดังกล่าว ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความย้อนแย้งของจุดยืนของไทยบนเวทีโลก ตอนนี้ไทยได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ประจำวาระปี 2568 – 2570 ซึ่งเป็นเวทีที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับสากล แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยกลับเลือกกระทำสิ่งที่เข้าข่ายละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสำคัญอย่างการปฏิบัติตามหลักการห้ามผลักดันกลับ Non-Refoulement หรือซึ่งเป็นข้อห้ามในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานของไทยและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
“เหตุการณ์ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปเผชิญอันตรายที่จีน สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยล้มเหลวในความพยายามที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก สถานะสมาชิก HRC นั้นคงไม่มีความหมายใด ถ้าหากรัฐบาลยังขาดความจริงใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นนี้”
ชนาธิป นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
ชะตากรรมชาวอุยกูร์ในซินเจียง
ในประเทศจีน ชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันและเผชิญกับกระบวนการ “ปรับทัศนคติ” ซึ่งมีรายงานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น และที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในปี 2021 พบว่าภายในค่ายกักกันเหล่านี้ของจีน มีการบังคับให้ชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ต้องเข้ารับการ “ปรับทัศนคติ” และถูกซ้อมทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมเสริมว่ารัฐบาลจีนอ้างว่าคนเหล่านี้สมัครใจเข้าค่าย แต่หลักฐานหลายๆ อย่างพบว่ายังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก
งานวิจัยได้เผยอีกว่า ค่ายเหล่านี้ในจีนได้บังคับให้พวกเขาเรียนปรับทัศนคติเพื่อลบล้างวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยมีชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลาม รวมถึงคนกลุ่มอื่นๆ ที่จีนมองว่าแตกต่างจากความเป็นชาวจีนหลายแสนคน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายเหล่านั้น ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้กระทำความผิดรุนแรงใดๆ จนเป็นเหตุทำให้ต้องไปถูกปรับทัศนคติ เช่น บางคนถูกจับเพียงเพราะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในที่สาธารณะ หรือติดต่อกับญาติที่อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น
ทางสองแพร่งระหว่าง สิทธิมนุษยชน และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คำถามที่หลายคนข้องใจ คือไทยจะต้องทำอย่างไร เมื่อถูกกดดันจากชาติมหาอำนาจ เราจะต้องเลือกอะไร ระหว่างการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชนาธิปเสนอว่า ในระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ประเทศมหาอำนาจต่างมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจนิยมสูงขึ้นและแข่งขันกันเพื่ออำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะประเทศขนาดกลางอย่างประเทศไทยจึงคงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องถูกแรงกดดัน อย่างไรก็ตาม ทางการไทยไม่ควรต้องเอนเอียงไปตามประเทศมหาอำนาจ แต่จำเป็นต้องยึดถือ ‘สิทธิมนุษยชน’ อย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา โดยใช้พื้นฐานในการตัดสินใจและดำเนินการต่างๆ เพราะสิทธิมนุษยชนคือบรรทัดฐานสากลที่แท้จริง ที่จะช่วยให้ไทยได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ
เมื่อการส่งตัวอุยกูร์กลับจีนถูกตั้งคำถามว่า
พวกเขาเหล่านั้น “สมัครใจ” หรือ “ถูกบังคับ” ให้กลับบ้าน?
รัฐบาลไทยอ้างว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับไปจีนนั้น “สมัครใจ” แต่ชนาธิปตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจกับคำว่า ‘สมัครใจ’ ในบริบทนี้ เขามองว่าจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะ
ชนาธิป นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล วิเคราะห์ถึงคำกล่าวอ้างของรัฐบาลไทยที่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน โดยพบว่า รัฐบาลไทยให้เหตุผล 2 ข้อในการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนซึ่งมีประเด็นน่าสนใจดังนี้
- ชาวอุยกูร์สมัครใจกลับบ้าน
- รัฐบาลจีนรับรองว่าจะดูแลพวกเขาอย่างดีและไม่ดำเนินคดี
โดยชนาธิปตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นแรก คือการที่รัฐชี้แจงออกมายังมีข้อที่น่าสงสัย เพราะชาวอุยกูร์ในประเทศจีนต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมากมาย และคน 40 คนนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่ระหกระเหินจากบ้านเกิดมาเพื่อหนีการประหัตประหารจากประเทศจีน และที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่เคยแสดงหลักฐานชัดเจนว่าการยินยอมนั้นเกิดขึ้นโดยเสรีหรือไม่ ประเด็นที่สอง คือการที่จีนรับรองว่าจะดูแลผู้ถูกส่งตัวกลับอย่างเหมาะสม เขามองว่าสิ่งนี้เข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่า “diplomatic assurance” หรือ “การรับรองทางการทูต” ซึ่งในทางสิทธิมนุษยชนถือว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการรับประกันว่า รัฐปลายทางจะดูแลคุ้มครองบุคคลที่ถูกส่งตัวกลับไปดังที่ให้คำมั่นสัญญาไว้
แม้จะมีการใช้เรื่องนี้เพื่อรับรองว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังประเทศต้นทางที่เขาหนีออกมาหลายครั้ง ผ่านการให้คำมั่นว่าจะไม่มีการซ้อมทรมาน ไม่มีการจับกุมโดยพลการ หรือไม่มีการทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกส่งตัวกลับไป แต่ในแง่ของสิทธิมนุษยชน ชนาธิปย้ำจุดยืนชัดเจนว่าการให้คำรับรองทางการทูตอย่างที่ไทยทำร่วมกับจีนกรณีส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปในปัจจุบัน ไม่เพียงพอในการรับรองความปลอดภัยของผู้ถูกส่งกลับ เพราะในทางปฏิบัติไม่มีอะไรรับรองความปลอดภัยของพวกเขาในอนาคตได้ ฉะนั้นหลักการห้ามส่งกลับจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าการรับประกันภัยทางการทูตโดยสิ้นเชิงในด้านสิทธิมนุษยชน
ทำไมหลักการห้ามผลักดันกลับ สำคัญกว่าทางการทูต
หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) เป็นหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่กำหนดว่าห้ามส่งตัวผู้ลี้ภัยหรือบุคคลที่มีความเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิร้ายแรง กลับไปยังประเทศที่พวกเขาเสี่ยงจะถูกข่มเหง ทรมานหรือประสบอันตราย ชนาธิปย้ำว่า หลักการห้ามผลักดันกลับเป็น absolute obligation ของรัฐต่างๆ รวมถึงประเทศไทย นั่นหมายความว่า หลักการนี้เป็นพันธะหรือข้อบังคับที่ไม่อาจยกเว้นผ่อนปรนได้ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยถือว่ามีลำดับขั้นความสำคัญเหนือการรับรองทางการทูต
“ถึงแม้รัฐบาลไทยได้รับคำรับรองจากจีนว่า “ส่งตัวกลับมาได้ ไม่มีการซ้อมทรมาน” แต่รัฐที่อนุญาตให้เกิดการซ้อมทรมานก็มักจะปฏิเสธ และไม่ยอมรับอยู่แล้วว่ามีการทรมานเกิดขึ้น” ชนาธิป กล่าว
เพราะในทางปฏิบัติ ไม่มีกลไกใดที่จะรับรองได้ว่า ชาวอุยกูร์กลุ่มนี้จะปลอดภัยจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เขาได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เพราะถึงแม้ตัวแทนทางการไทยจะไปติดตามผู้ถูกส่งตัวกลับบางคนที่จีน แต่ก็เป็นเพียงการดำเนินการชั่วคราว และไม่สามารถทำให้เข้าใจถึงสภาพที่พวกเขาทุกคนต้องเผชิญได้ เพราะการเยี่ยมเยียนครั้งนี้ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนและไม่ได้เป็นไปอย่างอิสระ
ส่งชาวอุยกูร์ 40 คนไปจีน บทเรียนราคาแพงเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากกรณีที่ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ราว 40 คนกลับไป กลายเป็นบทเรียนราคาแพงของไทยที่ไม่อาจมองข้าม ชนาธิปบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ทั้งในด้านชื่อเสียงของประเทศ ด้านการทูต และด้านสิทธิมนุษยชน
“ก้าวแรกของการเดินหน้าต่อสำหรับประเทศไทย คือ การยอมรับความจริงว่าทางการเราได้ดำเนินการผิดพลาด และเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงขึ้น โดยเริ่มจากทางการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ และแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังเหลือผู้ต้องขังชาวอุยกูร์อีกจำนวนอย่างน้อย 5 คน อยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรม โดยพวกเขาก็เป็นผู้ลี้ภัยที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” จากการประหัตประหารในประเทศจีน แต่ก็ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้พวกเขาก็มีความเสี่ยงอาจต้องถูกบังคับส่งตัวกลับเช่นเดียวกัน
“ความผิดพลาดนี้ ควรเป็นบทเรียนให้เรา ไม่ปล่อยให้เกิดการบังคับส่งตัวใครกลับประเทศอีก ในเมื่อเราได้รับทราบแล้วว่าเขามีความเสี่ยงจะต้องกลับไปเผชิญอันตรายมากเพียงใด ทางการไทยยังมีโอกาสแก้ตัว นานาประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม ประชาชนทุกๆคน กำลังจับตาดูอยู่ว่าประเทศไทยจะทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการสิทธิมนุษยชนหรือไม่”
ชนาธิป กล่าวทิ้งท้าย