“บางครั้ง คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเรา อาจทำให้เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันอยู่รอบตัวเรา หากคุณเคยกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว หากคุณเคยคิดว่าคุณควรมีสิทธิเลือกชีวิตรักของตัวเอง หากคุณเคยตั้งคำถามว่าทำไมบางคนพูดอะไรแล้วต้องถูกจับ นั่นแหละคือเรื่องสิทธิมนุษยชน”
ในโมงยามที่แสงแดดค่อยๆ เริ่มอ่อนแรงลง ท้องฟ้ากรุงเทพฯ ถูกแต่งแต้มด้วยสีส้มละมุน พร้อมกับฝุ่น PM 2.5 ที่พบว่าสามารถคร่าชีวิตผู้คนตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกได้ ที่เกริ่นเช่นนี้เพื่อทำให้เห็นภาพว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เราทุกคนมองข้ามไม่ได้ เพราะการได้สูดรับอากาศดีผ่านลมหายใจ ก็เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่ควรได้รับตั้งแต่ยังไม่เกิดหรืออยู่ในท้องแม่ผู้ให้กำเนิด

ในวันเดียวกันนี้ ซาชา เดชมุข ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร นั่งลงในห้องประชุมเล็กๆ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระหว่างเริ่มบทสนทนาสายตาของเขากวาดมองออกไปนอกหน้าต่าง ก่อนจะหันกลับมาเริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่นำเขามาสู่ประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ที่เป็นห้วงเวลาสำคัญของขบวนการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีในทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซาชาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทุ่มเทให้กับการขับเคลื่อนสิทธิของคนกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัย เด็ก หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางสังคม การมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสบริบทท้องถิ่นและเมืองหลวงของไทยอย่างใกล้ชิด แต่ยังเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่สำคัญระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากซีกโลกหนึ่งสู่อีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อเป็นการยืนหยัดว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ใด คุณก็มีสิทธิมนุษยชน ที่รัฐจะต้องเคารพ ปกป้อง และเติมเต็มในเรื่องนี้ และเมื่อเห็นคนที่ถูกละเมิด ไม่ว่าเราจะรู้จักกันหรือไม่ก็ตาม เราพร้อมที่จะทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคนบนโลกใบนี้
สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด
“บางครั้งคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเรา อาจทำให้เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงมันอยู่รอบตัวเราทุกวัน” ซาชาพูดถึงเรื่องนี้ก่อนจะอธิบายต่อว่า สิทธิมนุษยชนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเอกสารกฎหมายหรือมาตรฐานในระดับสากลเพียงอย่างเดียว หรือเป็นเรื่องไกลตัวที่เกิดขึ้นในสถานที่ห่างไกลความเจริญ หรือชุมชนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในชีวิตประจำวันที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในแต่ละวัน
“หากคุณอยากใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย มีบ้านที่มั่นคง ได้แต่งงานกับคนที่คุณรัก หรือเดินบนถนนโดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าสิ่งที่คุณพูดอาจส่งผลให้คุณถูกจับกุมคุมขัง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น”
ซาชามองว่าการที่ผู้คนมองเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัว อาจเป็นเพราะการสื่อสารของนักเคลื่อนไหวที่ยังไม่สามารถทำให้ประเด็นเหล่านี้เชื่อมโยงกับชีวิตของคนทั่วไปได้มากพอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและแอมเนสตี้กำลังพยายามปรับเปลี่ยนให้เรื่องราวที่กำลังสื่อสารเดินทางผ่านไปถึงหัวใจของผู้คน
ความท้าทายในประเทศไทยกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
เมื่อพูดถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซาชาย้ำถึงประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศนั่นคือเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก “เรารู้สึกยินดีกับความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันที่ถูกผลักดันในประเทศไทย นี่เป็นสัญญาณที่ดีของการยอมรับความหลากหลายทางเพศ” เขาพูดถึงเรื่องนี้ด้วยรอยยิ้มที่เปื้อนหน้าระหว่างพูดคุย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นที่ยังคงมีอยู่ เพราะปัจจุบันในประเทศไทยมีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกควบคุมตัวเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งประเด็นนี้ทั้งตัวซาชาเองและเครือข่ายสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่
“ประเทศไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาอยู่ที่นี่ในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ วันที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้เป็นครั้งแรก มันทำให้ผมนึกถึงวันแรกๆ ที่ผมร่วมรณรงค์เรื่องนี้ในสหราชอาณาจักร และพบว่าความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

อย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อเรียกร้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งทางกฎหมายและกระแสสังคมที่ยังมีความเห็นต่างกันเรื่องนี้ เขายอมรับว่าส่วนตัวยังกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะยังเห็นว่าเด็กและเยาวชนในไทยบางคนต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรง เพียงเพราะพวกเขาใช้เสียงของตัวเอง หลายคนต้องขึ้นศาล ถูกจำกัดเสรีภาพ และบางคนถูกคุมขัง ทั้งที่สิทธิในการพูดไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องแลกด้วยอิสรภาพ
การเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในระดับสากล
ซาชาอธิบายอีกว่า ประเทศไทยมีความสำคัญต่อขบวนการสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่างมาก ความสำคัญนี้ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของขบวนการเคลื่อนไหว ทั้งด้านสิทธิพลเมือง สิทธิแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เขาเน้นย้ำว่าในสหราชอาณาจักรที่เขาอยู่นั้น คนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ โดยเขายังเน้นย้ำเรื่องนี้ผ่านการฟังเสียงของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่มาเยือนประเทศไทย ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ได้
“เวลาคนอังกฤษเดินทางมาประเทศไทย หลายคนประทับใจกับความก้าวหน้าด้านความหลากหลายทางเพศของที่นี่ แต่พวกเขาก็ควรรู้ว่า ยังมีสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่ต้องต่อสู้เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เราทุกคนมีหน้าที่สนับสนุนขบวนการสิทธิมนุษยชนไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ก็ตาม”
ความหวังและหนทางข้างหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย
แม้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะยังคงมีความท้าทายอยู่มาก แต่ซาชากลับรู้สึกถึงพลังและความมุ่งมั่นของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ “ฉันเห็นเยาวชนไทยลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของพวกเขาด้วยความกล้าหาญ นี่คือพลังที่สามารถขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” ระหว่างคุยกันและก่อนจะจบบทสนทนา ซาชาเว้นช่วงไปครู่หนึ่งราวกับกำลังครุ่นคิดถึงอนาคตของขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและประเทศที่เขาเดินทางไกลจากมา เขาบอกว่าตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนไปและประเทศไทยก็เช่นกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวในประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้แต่คนธรรมดาที่เชื่อในคุณค่าของศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์
ชั่วครู่หนึ่งระหว่างสนทนากัน ซาชาพูดขึ้นมาคล้ายกับกำลังมองหาความหวังที่อยู่ข้างหน้า เขาบอกว่าปัจจุบันมีองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรการกุศลจำนวนมากที่ขับเคลื่อนแข่งขันกันเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน หรือการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ที่ผ่านมาพบว่าการตัดสินใจบริจาคมักขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริจาคมีความเชื่อมโยงหรือความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งนี่เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและระดับโลก
“ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยไม่ใช่แค่เรื่องของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่เป็นวิกฤตระดับโลก คนจากทั่วโลกกำลังหนีจากการถูกประหัตประหาร เราทุกคนควรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของพวกเขา”
อีกหนึ่งเรื่องที่ซาชาอยากพูดถึงคือการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม เขาพบว่าตอนนี้มีนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศกำลังถูกปราบปราม ถูกดำเนินคดี ถูกทำให้เงียบ สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงและการแสดงความคิดเห็นกำลังถูกจำกัดลงทุกที ซึ่งเขามองว่านี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของบางประเทศ แต่เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เราจะเห็นว่าตอนนี้จะมีการพูดถึงภาวะโลกร้อน โลกเดือด หรือความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศกันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่า การเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้โลกดีขึ้น แต่คือการเดินอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างความหวังและการถูกกดดันในชีวิต บางครั้งศัตรูของพวกเขาคือรัฐบาล บางครั้งคือบรรษัทที่ไม่อยากให้ใครมองเห็นรอยแผลของการพัฒนา
“สำหรับนักสู้และนักรณรงค์เพื่อสภาพภูมิอากาศ เสียงของพวกเขาไม่ใช่แค่เสียงของคนในภููมิภาคเอเชีย หรือประเทศซีกโลกใต้ แต่มันคือเสียงสะท้อนที่ดังกึกก้องไปทั่วโลก แม้เสียงส่วนใหญ่จะถูกปิดกั้นในหลายพื้นที่ ทั้งที่สิทธิในการชุมนุมประท้วงไม่ควรถูกลดทอนด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง เพราะความมั่นคงที่แท้จริง ต้องเริ่มจากโลกที่ผู้คนกล้าลุกขึ้นมาพูดความจริงก่อน”
แม้จะมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีควบรวมอยู่ในเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างสนทนา แต่ ซาชา ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร เชื่อว่าตอนนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับโลกกำลังเติบโตขึ้น ผู้คนจำนวนมากขึ้นตระหนักว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งต่างก็ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ซึ่งการระดมทุนเพื่อสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการช่วยเหลือผู้อื่น แต่เป็นการสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับเราทุกคนในปัจจุบันและอนาคต
“ผมรู้ว่างานด้านสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการระดมทุน แต่ผมอยากขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย การสนับสนุนของคุณสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ”

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ สหราชอาณาจักรย้ำว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือของนักรณรงค์เพียงไม่กี่คน แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทย สหราชอาณาจักร หรือที่ใดในโลก ซาชาเชื่อว่าทุกเสียง ทุกสิทธิ ทุกคนมีคุณค่า มีความหมาย เพราะการที่ผู้คนจากทั่วโลกมารวมกัน จะมีพลังมากกว่าการต่อสู้เพียงลำพังหรือเฉพาะคนกลุ่มคนใดคนหนึ่งแน่นอน
“ขอขอบคุณทุกคนที่ยังคงยืนหยัดเพื่อความยุติธรรม ศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ทุกคน เรามาสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิของทุกคน ไม่เพียงแค่ในวันนี้ แต่เพื่ออนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน”