สิทธิมนุษยชนถูกละเมิดอย่างไรใน 6 ตุลา

เหตุการณ์ 6 ตุลา คือเหตุการณ์หนึ่งที่ฝากบาดแผลไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หลังผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันเพื่อใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง ในการแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง 

ท่ามกลางพลังแห่งอุดมการณ์ของประชาชน ได้เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมือง ณ สนามบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยปรากฏตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน  

นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมของประชาชน และแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบโดยรัฐบาล ทว่าท่ามกลางความโหดร้าย พลังแห่งจดหมายและเจตจำนงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้คืนสู่ประชาชนชาวไทย ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก จนมีคนชูป้ายให้ปล่อยตัวแกนนำในเวลานั้น ที่มหานครนิวยอร์ค

แน่นอนว่าการเมินเฉย และดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนคือสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการอันป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน สิทธิมนุษยชนก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนทุกคนเสมอ แม้ความอยุติธรรมจะสะท้อนผ่านการที่ว่า เป็นเวลา 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่ระเบิด M79 ได้ถูกยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนอย่างน้อยสี่สิบศพ แต่ผู้กระทำผิดกลับยังไม่ได้รับการลงโทษ

แม้จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมากมายในวันนั้น 

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นการชุมนุมโดยสงบของนักศึกษา แรงงาน กรรมาชีพ ท่ามกลางกระแสการตื่นรู้ทางความคิดหลังจาก 14 ตุลา เมื่อประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาเกือบสองทศวรรษ มีการปิดหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ จากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 

ไพบูลย์ วงษ์เทศ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งก่อนและหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ในวันนั้นเขาอายุ 23 ปี 

“ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์หกตุลา ไทยรัฐถูกยิง M79 ไปยังสำนักงาน เนื่องจากเป็นสื่อใหญ่ และลงข่าวเรื่องลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ส่วนประชาชาติเองก็โดนรัฐกวน ซึ่งคือ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทั้งคุกคามด้วยการส่งของมาในจดหมาย แล้วโทรมาแจ้งเป็นระยะว่ากลุ่มกระทิงแดงกับนวพลกำลังเคลื่อนตัว เพื่อเป็นการข่มขวัญเรา

โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ไพบูลย์ วงษ์เทศ ลี้ภัยไปยังประเทศสวีเดน 

ในปี 2502 มาตรา 17 ถูกใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นฐานอำนาจของการออกคำสั่งประหารชีวิตประชาชนถึง 76 คน และสั่งจำคุกอีก 113 คน ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คนที่ถูกลงโทษรวมไปถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และถูกนำมาใช้ในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลมาตรา 17 : https://ilaw.or.th/node/4670

สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนขับไล่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับประเทศไทย หลังลี้ภัยไปยังเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ได้จุดประกายความไม่พอใจเกิดขึ้นในหมู่ผู้ชุมนุม ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ชุมนุมจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

29 กันยายน 2519 มีการนัดชุมนุมเพื่อประท้วงพระถนอม มีประชาชนมาร่วมชุมนุมราวสองหมื่นคน 

ตุลาคม 2519  มีการชุมนุมที่สนามหลวง เลิกในเวลาราว 21.00 น. จากนั้นได้มีการนัดหมายให้ประชาชน

ตุลาคม 2519 มีการชุมนุมที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชุนนุมอีกครั้งที่สนามหลวง  และมีการสั่งปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ 

ตุลาคม 2519 มีการชุมนุมอย่างสงบโดยต่อเนื่อง เมื่อถึงช่วงเย็นได้มีการย้ายที่ชุมนุมไปยังลานฟุตบอล เนื่องจากผู้ชุมนุมเข้าร่วมอย่างหนาแน่น ท่ามกลางเสียงประกาศจากวิทยุยานเกราะ และภาพแขวนคอในหนังสือพิมพ์ดาวสยามกรอบบ่าย ในค่ำคืนนั้น เสียงปราศรัยและการแสดงดนตรียังคงดังก้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป 

ราวตีหนึ่งของวันที่ ตุลาคม 2519  เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น เริ่มเกิดการเข้าล้อมมหาวิทยาลัย โดยตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และตำรวจท้องที่ ก่อนที่จะเกิดระเบิดM79 ในช่วงย่ำรุ่งของเช้าวันนั้น จากนั้นได้เกิดระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนักตั้งแต่เวลาเจ็ดโมงเช้า

“พี่ ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงเถิดครับ เรามาชุมนุมอย่างสันติ เราไม่มีอาวุธ” คือคำพูดที่ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายของเวทีชุมนุม ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวผ่านเครื่องเสียง แต่การหยุดยิงก็ไม่เกิดขึ้น

การสลายการชุมนุมต่อผู้ชุมนุมโดยสงบในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน เป็นหญิง 4 ราย ชาย 32 ราย (ยังไม่ทราบชื่อจนทุกวันนี้จำนวน 6 ราย) และอีก 4 รายสภาพศพถูกเผาจนไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้

และเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันนั้นเอง

อ้างอิงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ : https://doct6.com

สิทธิในการมีชีวิต และการไม่ถูกทรมาน

ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ดังนี้ 
ข้อที่สาม สิทธิในการมีชีวิต ระบุว่า  ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล
ข้อที่ห้า ไม่ถูกทรมาน ระบุว่า  บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้

แต่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ถูกเรียกว่า ‘การสังหารหมู่’  (Massacre) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่รุ่งเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่สิบราย มีประชาชนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งสิ้น 3,094 คน 

จากภาพหลักฐานการเสียชีวิต ได้ชี้ให้เห็นสภาพศพที่ถูกทารุณและปฏิบัติอันโหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอทั้งก่อน และหลังเสียชีวิต การตอกไม้ลงกับศพ การลากศพไปกับสนามฟุตบอล รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ 

ในระหว่างการควบคุมตัว นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือเพียงเสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปกับพื้น ระหว่างคลานก็ถูกเตะและถีบโดยตำรวจ ระหว่างขึ้นรถถูกด่าทออย่างหยาบคาย และขว้างปาสิ่งของใส่จากตำรวจและกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน รวมถึงถูกปล้นชิงทรัพย์สินเช่นกัน 

ท่ามกลางการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต และการกระทำการทรมาน ลงโทษ และย่ำยีศักดิ์ศรีผู้ชุมนุมโดยสงบ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ที่ลงมือกระทำได้รับการลงโทษหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่ปรากฏผู้กระทำผิด 

“ฉันไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดในธรรมศาสตร์เลยนะ ตอนนั้นฉันกับเจี๊ยบ (อภินันท์ บัวหภักดี) คลานออกไปจากตึก อมธ. คลานผ่านตึกโดม แล้วก็คลานไปออกประตูฝั่งท่าพระจันทร์ ร้อยโทธีรชัย เหรียญเจริญ มารับพวกเราไปที่บ้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยเอกมัย

อ้างอิงข้อมูล: https://doct6.com , https://www.amnesty.or.th/latest/blog/719

สิทธิในการได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม 

ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน

ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า มีนักศึกษา ประชาชนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งสิ้น 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน และหญิง 662 คน

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2519 มีการประกาศใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 28 แก้ไขอำนาจเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหากรณี 6 ตุลาคม 2519 ให้ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งละ 30 วัน รวมแล้วไม่เกิน 180 วัน กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เจ้าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากับผู้ต้องหาทั้ง 18คน ว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

พวกเขาถูกคุมขังตามกฎหมายคอมมิวนิสต์ โดยมีอำนาจคุมขังได้ 30 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจขังได้ 60 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุญาตศาลขังได้อีกครั้งละ 90 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง

ผู้ต้องหา 18 คนซึ่งเป็นพลเรือน ถูกฟ้องโดยอาศัยเขตอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึกในฐานเป็นคอมมิวนิสต์และฐานอื่นๆ โดยโจทก์คืออัยการศาลทหารกรุงเทพ และมีอัยการผู้ร่วมรับผิดชอบ คือ พันเอกอุทัย ปะถะคามิน พันตรีชาญพิชญ์ พรหมปรีชาวุฒิ และร้อยเอกวิรัตน์ บรรเลง ในส่วนของจำเลยทั้ง 18 คนมีทนายความคือ ทนายทองใบ ทองเปาด์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อสู้คดีความรวมถึงทนายความอาสารวมทั้งสิน 44 คน

คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกฟ้องเป็นคดีดำที่ 253ก./2520 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2520 จำเลยได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม กับพวกรวม 18 คน โดยทั้ง 18 คนถูกตั้งข้อหาหนักรวม 11 ข้อหา

รับชมคลิปแกนนำ 6 ตุลา ถูกปล่อยตัวได้ยังไง? :  https://www.youtube.com/watch?v=67UiKBi1AcA

อ้างอิง คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์  : https://freedom.ilaw.or.th/blog/6oct-historical-case

บทความ 6 ตุลาฯ : เงาสีขาวกับดวงอาทิตย์สีดำ : https://www.amnesty.or.th/latest/blog/719/

สิทธิมนุษยชนถูกปกป้องได้อย่างไร?

พลังจากตัวอักษรคือสิ่งที่แสดงเจตจำนงจากผู้คนทั่วโลก มีการชูป้ายให้ปล่อยตัวแกนนำที่มหานครนิวยอร์ค และมีจดหมายนับแสนฉบับเพื่อเป็นปฏิบัติการด่วน และได้ถูกส่งมายังรัฐบาลไทย กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เกิดการปล่อยตัวแกนนำขึ้น 

สมชาย หอมลออ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวได้เล่าว่า “ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ มีองค์กรเพื่อสังคมให้ความช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ และได้ทราบมาว่ามีองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรรณรงค์ให้ปล่อยพวกเรา หนึ่งในนั้นคือองค์กรแอมเนสตี้ ผมทำกิจกรรมการเมืองมาหลายปีก่อนถูกจับ แต่ไม่เคยให้ความสนใจกับองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้เลย และเพิ่งมาสนใจหลังถูกจับในคดี 6 ตุลา

นอกจากนี้ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ได้เล่าถึงพลังของคนทั่วโลกว่า 

“ช่วงที่พวกเราขึ้นศาลทหาร ฉันจำได้ว่านักข่าวต่างประเทศมากันเยอะมาก สำนักข่าวใหญ่ๆ มากันหมด CNN ก็มา ฉันปีนขึ้นไปบนโต๊ะแล้วพูด “they shackle me” ชี้ชูตรวนขึ้นมาให้เขาดู (หัวเราะ) ตอนนั้นสุธรรมก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ ฉันก็เหมือนกับเป็น speaker ของกลุ่ม ธงชัยยังไม่ได้ไปเมืองนอก เขาก็ยังไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้ธงชัยพูดภาษาอังกฤษเก่งกว่าฉันแล้ว (หัวเราะ) 

การเมินเฉย และดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนคือสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการอันป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน สิทธิมนุษยชนก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนทุกคนเสมอ แม้ความอยุติธรรมจะสะท้อนผ่านการที่ว่า เป็นเวลา 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่ระเบิด M79 ได้ถูกยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนนับสี่สิบศพ แต่ผู้กระทำผิดกลับยังไม่ได้รับการลงโทษ

แต่พลังของมวลชนทั่วโลก คือหนึ่งในเสียงที่จะสามารถกู่ตะโกนไปจนถึงรัฐบาลได้ จนกระทั่งสามารถเป็นหนึ่งในพลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลง จนช่วยผลักดันให้รัฐบาลปล่อยตัวประชาชนที่ถูกขึ้นศาลทหารได้ในที่สุด

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปถึง 45 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์นี้จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ย้ำเตือนให้รัฐบาลส่งเสริมการเคารพและการถือปฏิบัติโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน  เพื่อที่จะต้องไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต  

และย้ำเตือนเสมอ ว่าพลังของ “คนธรรมดา” นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้