“ชาวโรฮิงญาเอากระดาษทิชชู่มาให้เช็ดน้ำตาน่ะ” ช่างภาพบอกพร้อมกับสะกิดที่หลังของฉันเพื่อบอกให้รู้ถึงน้ำใจของชาวโรฮิงญา
ขณะที่ฉันยืนหลบมุมร้องไห้หลังพบภาพสะเทือนอารมณ์ขณะลงพื้นที่ที่โรงพยาบาลคาซ่า คอกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์วิกฤตผู้อพยพโรฮิงญาที่หนีออกจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาหลังเหตุความรุนแรงในพื้นที่
ภายในโรงพยาบาลแห่งนี้มีคนไข้ที่เป็นชาวโรฮิงญามารอรับการรักษากว่า 300 คน ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่
โรงพยาบาลจึงต้องจัดพื้นที่เฉพาะให้ แต่เนื้อที่ที่มีอย่างจำกัดก็ไม่สามารถรองรับได้ ฉันจึงเห็นคนไข้ใช้ทางเดินในโรงพยาบาลเป็นเสมือนหนึ่งเตียงคนไข้
วันนั้น เราสัมภาษณ์ผู้ได้รับบาดเจ็บมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนั้น 2 คน
หนึ่งในนั้นเป็นหญิงอายุราว 50 ปี เธอแขนหัก เพราะวิ่งหนีกลุ่มคนที่กันเผาบ้านและทำร้าย
“ฉันพลัดหลงกับลูกชาย 2 คน เพราะรีบหนีออกจากหมู่บ้านมาพร้อมกับลูกสาวและเพื่อนบ้าน แต่เชื่อว่าพวกเขายังคงมีชีวิตอยู่” หญิงชาวโรฮิงญากล่าวด้วยความหวัง
อาการของเธอดีขึ้นมากแต่ยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หมอบอกว่า หากเธอไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในสภาพนี้อาจจะติดเชื้อได้ เธอและลูกสาวจึงต้องใช้เตียงคนไข้เป็นสถานพักพิงชั่วคราวไปพลางก่อน
ส่วนอีกคนเป็นเด็กหญิงวัย 5 ขวบ เธอมีแผลจากไฟไหม้เกือบทั้งร่างกาย โดยเฉพาะขาทั้งสองข้างปรากฏร่องรอยบาดแผลอย่างเห็นได้ชัด
ขาข้างซ้ายของเธอหักและยังต้องใช้เครื่องมือแพทย์ที่เหมือนเสาก้างปลาช่วยดามให้กระดูกต่อกัน
ฉันพยายามถามอาการของเธอผ่านล่าม แต่เธอคงไม่ชินกับคนแปลกหน้าจึงไม่ตอบคำถาม แต่ฉันยังเห็นในมือของเธอวุ่นวายกับการผูกยางวงเพื่อต่อให้เป็นของเล่น
พ่อของเธอเล่าว่าวันเกิดเหตุทุกคนวิ่งหนีไฟที่ไหม้บ้าน แต่โชคร้ายที่เธอกระโดดลงทางหน้าต่างทำให้ขาหัก ส่วนคนอื่นๆ ภายในบ้านไม่ได้รับบาดเจ็บ
“วันที่เกิดเหตุผมต้องหอบลูกสาววิ่งหนี แล้วขึ้นเรือประมงข้ามอ่าวเบงกอลจากเมืองหม่องดอ ประเทศเมียนมามายังเมืองคอกซ์บาซา แต่ลูกสาวก็เก่งมาก เพราะพวกเราใช้เวลา 2 วันกว่าจะถึงโรงพยาบาล แต่เธอก็ไม่งอแงเลย ตอนนี้อาการดีขึ้นมาก” พ่อของเด็กเล่าให้เราฟังถึงอาการของลูกสาว
ก่อนจะร่ำลา ฉันขอดูแผลที่ขาด้านซ้ายของเธออีกครั้ง จากนั้นก็นำสิ่งของที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศฝากมาบริจาคให้ชาวโรฮิงญา พวกเขากล่าวขอบคุณหลายครั้ง พร้อมกับใส่เสื้อที่ฉันเป็นตัวแทนมอบให้โชว์ให้ถ่ายรูป
จังหวะนั้นฉันอธิบายความรู้สึกตัวเองไม่ถูกว่า “ทำไมถึงน้ำตาไหล”
ฉันรีบเดินออกจากห้องนั้นอย่างรวดเร็วแล้วหลบเข้ามุมของอาคารเพื่อไม่ให้ใครเห็นน้ำตาและพยายามควบคุมอารมณ์ให้กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติเร็วที่สุด
แต่ก็ไม่พ้นสายตาของทีมงาน ทั้งช่างภาพและล่ามเห็นอาการแปลกๆ จึงเข้ามาถามไถ่และนำกระดาษทิชชู่ที่ได้รับจากชาวโรฮิงญามาให้ฉันซับน้ำตา
ฉันให้ตัวเองปล่อยน้ำตาออกมาจนรู้สึกดีขึ้นซึ่งใช้เวลากว่า 10 นาที แล้วค่อยเดินมาหาทีมงานและทำงานต่อ
ตอนนั้นไม่มีใครถามอะไรมากความ เพราะตลอด 6-7 วันที่ฉันและทีมงานรายงานสถานการณ์ความเดือดร้อน ภายในค่ายผู้ลี้ภัย รวมถึงสิ่งที่ฉันพบเจอภายในโรงพยาบาลมันสามารถอธิบายความเจ็บปวดในตัว “นักข่าว” ที่ยังมีความ “เป็นมนุษย์” ของฉันได้
การเห็นคนเดินมาขอเงิน ขออาหาร ขอความช่วยเหลือเป็นภาพที่ชาชินระหว่างที่ฉันเห็นภายในค่ายผู้ลี้ภัยทุกแห่งในเมืองคอกซ์บาซาตลอดช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น
ฉันและทีมงานพยายามให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ แต่เราก็คุยกันว่า “ต้องแอบช่วย เพราะทุกคนล้วนต้องการความช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ลี้ภัย”
แม้ภายในค่ายผู้ลี้ภัยจะมีคนมาบริจาคสิ่งของและอาหารไม่ขาดสาย แต่การที่มีผู้คนจำนวนมากทำให้หลายคนไม่ได้รับของบริจาค
ตอนที่ฉันรายงานข่าวอยู่ที่นั่นมีผู้อพยพเข้ามามากถึง 4 แสน 3 หมื่นคน และตัวเลขก็เพิ่มสูงขึ้นๆ
จึงไม่แปลกที่ฉันเห็นคนผอมโซจำนวนมากรุมแย่งชิงสิ่งของและอาหารเวลามีผู้มาบริจาค
จากการพูดคุยไม่มีใครอยากมาบังกลาเทศ พวกเขาไม่อยากจากบ้านเกิดเพื่อมานอนในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีเพียงผืนผ้าใบเป็นหลังคาและแผ่นพลาสติกเป็นพื้นบ้าน เพราะเพิงพักที่พวกเขาอยู่ไม่สามารถบังแดด บังฝนได้
ทุกคนที่เดินทางมาบังกลาเทศล้วนเคยมีบ้านเป็นของตัวเอง
แม้ในวันที่ฉันถามไถ่ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ที่เป็นดินแดนบ้านเกิด พวกเขาจะไม่มีน้ำตาให้กับความสูญเสียแล้ว เพราะตอนนี้น้ำตาได้เปลี่ยนเป็นความแค้นเคืองรัฐบาลเมียนมาที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมเป็นคนไร้ถิ่นแทน
ในฐานะที่เป็น “เพื่อนมนุษย์” ฉันก็ได้แต่แอบหวังในใจว่า สถานการณ์นี้จะจบลงโดยเร็ว เพื่อให้พวกเขาได้กลับบ้านเกิดและดินแดนที่พวกเขาจากมา

