"เป็นเมล็ดพันธุ์ เป็นพลัง เป็นเยาวชนนักกิจกรรมกับแอมเนสตี้"

29 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

ปี 2566 ที่ผ่านมาอาจเป็นปีที่กระแสการเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนแผ่วลงเมื่อเทียบกับสองสามปีก่อนหน้านี้ ยังไม่นับคดีความจากการชุมนุมเมื่อปี 2563 ที่มีผู้ถูกคำพิพากษาจำคุก 47 คดี (ข้อมูล ณ 15 ธันวาคม 2566) บางคนอาจคิดว่า “พลังเยาวชน” มอดดับลงแล้ว แต่แอมเนสตี้ไม่เชื่ออย่างนั้น

“เรา” ได้พบกับเรื่องราวของคนทำงาน “คลับแอมเนสตี้” และ “เครือข่ายเยาวชน” (Youth Network) ที่ไม่ได้มีแต่คนที่สนใจเรื่องสิทธิการแสดงออกทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องราวของผองเพื่อนอีกมากมายทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่สนใจสิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน 

คลับแอมเนสตี้ ที่เกิดขึ้นใหม่เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ “เครือข่ายเยาวชน” เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่แอมเนสตี้ เอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และพร้อมเสมอที่จะเปิดรับสมาชิกใหม่มาก้าวเดินไปด้วยกันสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในระยะยาว

ตลอดปี 2566 ดูเหมือนว่าการ “ลงถนน” เพื่อใช้สิทธิการแสดงออกทางการเมืองจะซบเซากว่าช่วง 2-3 ปีก่อน ตัวเลขการชุมนุมลดลงจากปี 2565  ข้อมูลจาก Mob Data Thailand พบว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งหมดทั่วประเทศอย่างน้อย 514  ครั้ง (ข้อมูลถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ) โดยแยกเป็นการชุมนุมในกรุงเทพฯ 343 ครั้ง และต่างจังหวัด 171  ครั้ง 

สถานการณ์ด้านคดีความที่สืบเนื่องจากการแสดงออกและการชุมนุมหลายคดี ตั้งแต่ช่วงปี 2563 เริ่มมีคำพิพากษาในช่วงปี2566 โดยมีผู้ถูกพิพากษาจำคุก 47 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 3 คน (ข้อมูลถึง 15 ธันวาคม 2566) ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 24 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน (เป็นเยาวชน 2 คน ที่ถูกคุมขังตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาล) ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว อย่างน้อย 13 คน

จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึง “พลังเยาวรุ่น” ที่เคยแสดงออกทางการเมืองกันอย่างเข้มข้นเมื่อปีก่อนโน้นว่า พวกเขาและเธอหายไปอยู่ที่ไหนกัน 

“มา!!!” เราจะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของเยาวชนนักกิจกรรมและสมาชิกแอมเนสตี้ฯ ที่มีความ “แอคทีฟ” ล้นเหลือกับความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอันหลากหลาย กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย 

 

พลังเยาวรุ่นหมุนขบวนสิทธิมนุษยชน

 

 

แรกสุดต้องเข้าใจก่อนว่า “เยาวรุ่น” ไม่ได้สนใจแต่เพียงสิทธิเด็ก หรือสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองแค่นั้น แต่ละกลุ่มแต่ละคนมีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ในบริบทที่สัมพันธ์กับตัวตนของเขา/เธอ และชุมชนที่อาศัยอยู่ บางคนสนใจเรื่องเพศสภาพ ความหลากหลายทางเพศ บางคนให้ความสำคัญกับ “สิทธิท้องถิ่น” ที่แตกต่างไปจากคนในเมืองหลวง

พวกเขาและเธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนสิทธิมนุษยชนกับแอมเนสตี้ โดยผ่าน “คลับแอมเนสตี้” และ “เครือข่ายเยาวชน” (Youth Network) ที่แอมเนสตี้มีส่วนช่วยสนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกให้เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน

ปี 2566 เป็นปีที่คลับแอมเนสตี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีจำนวนถึง 15 คลับแอมเนสตี้ ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย

“ร็อค-รัฐศาสตร์ ชาแท่น” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คือผู้ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้พะเยา ซึ่งเป็นคลับแรกในภาคเหนือ เขามีตำแหน่งเป็นเลขานุการและฝ่ายสื่อสารองค์กรของคลับ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย 

ก่อนหน้าการก่อตั้งคลับ ร็อคเคยเข้าร่วมกิจกรรมของแอมเนสตี้มาแล้วหลายครั้ง ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาพอสมควร จึงคิดว่าควรมีคลับแอมเนสตี้ในภาคเหนือบ้าง อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเด็กรัฐศาสตร์ ประกอบกับได้รับแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนคณบดีใหม่ที่มีประสบการณ์และความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนในทางปฏิบัติ จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในการตั้งคลับขึ้นในมหาวิทยาลัยพะเยา เพราะจะได้มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้เคลื่อนไหวและร่วมแสดงความเห็น

ตอนนี้ คลับแอมเนสตี้ได้รับการยอมรับในระดับมหาวิทยาลัยพะเยา มีสมาชิก 300 กว่าคน หนึ่งในหลายกิจกรรมที่ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี คือการออกค่ายศึกษาประเด็นปัญหาเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

เช่นเดียวกับคลับแอมเนสตี้ลำปาง ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง  

“จุ๊บจิ๊บ-อชิรญา บุญตา” ผู้ก่อตั้งและประธานคลับแอมแนสตี้ลำปาง เล่าว่าพื้นเพของเธอเป็นคนที่เกิดและเติบโตในต่างจังหวัด รู้สึกว่าชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่ไม่รู้จะหาแนวร่วมจากไหน ทำให้คิดว่าถ้าอยู่มหาวิทยาลัย น่าจะมีศักยภาพและความสามารถในการชวนคนอื่น ๆ ให้มาทำกิจกรรมด้วยกัน เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับนักกิจกรรมในภูมิภาค หรืออย่างแคบที่สุดคือบริเวณมหาวิทยาลัยให้มารู้จักกัน การเปิดคลับทำให้พื้นที่ในการแสดงออกเรื่องสิทธิมนุษยชนกว้างขึ้น และยังทำให้เราได้เชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ 

ล่าสุดคลับแอมเนสตี้ลำปาง ได้จัดนิทรรศการ ‘สิทธิมนุษยชนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย’ เป็นกิจกรรมที่นำผลงานศิลปะจากผู้ส่งเข้าประกวดไปจัดแสดง ภายในนิทรรศการเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และแสดงว่าสังคมพูดถึง 6 ตุลาอย่างไร ทั้งในหนังสือ หนังสือพิมพ์ บทเพลง ภาพยนตร์ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นนิทรรศการที่ดีมาก เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เขาไม่เคยเห็น  

ในการทำงานมีความท้าทายอยู่บ้าง ด้วยความเป็นคลับตั้งใหม่ จึงต้องอธิบายว่าแอมเนสตี้คืออะไร ได้รับเงินทุนจากใคร เป็นเรื่องการเมืองใช่ไหม ขณะที่อีกด้านคือการทำให้คนที่มาร่วมกิจกรรมรู้สึกปลอดภัย เช่น ถ้ามาร่วมแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือจะไม่มีผลต่ออนาคตการทำงานของเขา 

ขยับมาที่กรุงเทพมหานคร เราได้พบกับ “ญี่ปุ่น-พิชชานันท์ ศรีสวัสดิ์” นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่ากิจกรรมของคลับเป็นการรณรงค์จัดกิจกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ 

“คนในคณะให้ความสนใจเป็นอย่างดี หลายคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกหรืออาสาสมัครรู้สึกดีใจที่มีคลับนี้ เพราะเหมือนในมหาวิทยาลัยก็ยังมีการละเมิดสิทธิิิ์อยู่ และไม่เพียงแค่ในมหาวิทยาลัย คลับของเรายังขับเคลื่อนในพื้นที่โดยรอบ แต่อาจมีการถูกเพ่งเล็งจากผู้บริหารอยู่บ้าง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรม 6 ตุลา 14 ตุลา และเหตุการณ์ตากใบ” ญี่ปุ่นเล่าถึงกิจกรรมของคลับแอมเนสตี้ และแสดงความคิดเห็นด้วยว่า

“50-60 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เราได้คุย ตื่นรู้ได้เพราะการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 ความสนใจส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง แต่จะมีบางคนที่สนใจไปถึงสิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิสิ่งแวดล้อม หรือบางคนที่เข้ามาก็ไม่ได้มีความรู้ แต่อยากลองศึกษาทำความเข้าใจ เราคิดว่าส่วนหนึ่งของการตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นเพราะการเข้าถึงสื่อทำได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน”

ส่วนคลับแอมเนสตี้ขอนแก่น นั้นอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย “เป๋า-ณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หนึ่งในผู้ก่อตั้งคลับ และเป็นสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า เคยร่วมเคลื่อนไหวกับคนรุ่นใหม่ในขณะที่การชุมนุมอยู่ในกระแสสูง จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับแอมเนสตี้ และตัดสินใจก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ขอนแก่น ด้วยเหตุผลว่า

“การมีคลับในมหาวิทยาลัยจะเป็นผลดี ทั้งในแง่การมีข้อมูลในการทำงานและการสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น มองที่กลุ่มเป้าหมายก็ถือว่าเป็นไปในทางที่ดี คลับเป็นชุมนุมหนึ่งในคณะนิติศาสตร์ที่มีคนให้ความสนใจ เฉลี่ยต่อปีมีคนเข้ามาร่วมกับเราประมาณ 40-50 คน สำหรับผมคิดว่าเป็นจำนวนที่เยอะแล้ว”

เป๋าพูดถึงกิจกรรมล่าสุดว่าทำค่ายเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นักศึกษานิติศาสตร์ช่วยกันไปออกค่ายเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำความเข้าใจว่าชาวบ้านประสบปัญหาและได้รับผลกระทบอย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ กิจกรรมที่เราทำเน้นการส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งเสริมหัวใจที่รักความเป็นธรรม ไม่ทนต่อความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

อีกมุมมองหนึ่งของเยาวชนที่ได้รู้จักกับคลับแอมเนสตี้ ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย และปัจจุบันเป็น Youth Network เป็นมุมมองจาก “ฟาน-อัรฟาน ดอเลาะ” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานพาร์ตไทม์เป็นผู้ช่วยทนายที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ฟานรู้จักแอมเนสตี้ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมปลาย โดยรุ่นพี่ชักชวนให้ไปร่วมคลับแอมเนสตี้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำให้ได้เป็นอาสาสมัครร่วมกิจกรรม และสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมานับแต่นั้น 

เขาคิดว่าความแตกต่างเชิงบริบทพื้นที่ มีส่วนต่อมุมมองเรื่องสิทธิ  โดยคนที่อยู่ที่ในเมืองหลวงจะเรียกร้องเรื่องอำนาจโครงสร้าง พูดถึงคุณภาพชีวิต แต่ในท้องถิ่นจะเรียกร้องเรื่องสภาพแวดล้อม ที่ดิน ที่ทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งความแตกต่างนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เมืองหลวง ขาดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด

ในฐานะที่เคยทำงานกับแอมเนสตี้ ในการเป็นอาสาสมัครหรือนักกิจกรรมมาก่อน ฟานอยากมีส่วนร่วมที่มากขึ้นในเชิงนโยบาย จึงสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเยาวชน (Youth Network) เพื่อที่จะได้มีโอกาส มีสิทธิ์ ที่จะพูดคุยกับพี่ ๆ หรือเจ้าหน้าที่ในการแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนวทางที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาส รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและศึกษาวิธีการทำงาน เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนที่เรายังไม่รู้ การที่มาอยู่ตรงนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เรียนรู้กระบวนการทำงาน และเราสามารถนำสิ่งนั้นมาปรับใช้ในชีวิตของเราเองด้วย

ส่วน ศุภวิชญ์ วงศ์วิริยะชัย  หรือ นิกกี้ ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวและอยู่ระหว่างศึกษาต่อ เข้าร่วมขับเคลื่อนงานกับแอมเนสตี้มาเป็นเวลา 5 ปี แสดงความเห็นต่อการเป็นเครือข่ายเยาวชนว่า เหมือนการได้เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นตัวแทนของเยาวชนหลายๆ คนที่เข้ามาขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิมนุษยชนในฐานะของเยาวชน 

“ผมเป็นตัวแทนของหลายๆ คนที่อาจจะยังไม่มีพื้นที่หรือเวลา หรือโอกาสในการเข้าถึงในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ผมเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาเป็นกลุ่มคนที่จะเข้ามาพัฒนาหรือขับเคลื่อนประเด็นเด็กและเยาวชน รวมไปถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งมีอยู่มากมาย เราต้องมีการหาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลง และสามารถส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ เรื่องของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ เด็กและเยาวชนจะไม่มีวันเป็นอนาคตของชาติได้เลย ถ้าปัจจุบันเสียงของพวกเขายังไม่มีความหมาย” นิกกี้สรุป

นอกจากการสนับสนุนการดำเนินงานของคลับแอมเนสตี้ และเครือข่ายเยาวชนในประเทศแล้ว แอมเนสตี้ยังได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการประชุม General Assembly ที่บรัสเซลส์ โดยในปีที่ผ่านมา  “มีมี่” ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ เฟมินิสต์แอคทิวิสต์ วัย 19 ปี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับคัดเลือกไปทำหน้าที่

มีมี่เล่าว่าปกติทำงานกิจกรรมด้านความเป็นธรรมทางเพศอยู่แล้ว และเมื่อได้รู้จักแอมเนสตี้ก็ได้มีส่วนเข้าไปพูดในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในเวทีสิทธิเด็ก เวทีเรื่องสถานศึกษาที่มีความรุนแรง เป็นการแชร์สิ่งที่ตัวเองทำและมีอยู่แล้ว 

“ส่วนหลังจากที่ทำงานกับแอมเนสตี้มากขึ้น เช่น Youth Network และ Youth Delegate เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของตัวเองอย่างมาก ก่อนที่จะไป General Assembly ที่บรัสเซลส์ เรามองภาพไม่ออกว่าโครงสร้างใหญ่ของแอมเนสตี้คืออะไร จนได้เห็นผู้คนหลายประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้เห็นภาพว่าแอมเนสตี้คือแบบนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับมาคุยกับเพื่อนว่า เราอยากทำพื้นที่ให้เยาวชนได้ไปท่องโลก ได้ไปเดินทาง เพราะมันเปิดโลก พอกลับมาเรามีพลังไปทำแคมเปญอีกเยอะมาก”

ในการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมประชุมครั้งนั้น มีมี่สัมผัสได้ถึงประเด็นความแตกต่างระหว่างซีกโลกตะวันตก กับประเทศจากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศในซีกโลกตะวันตกพูดในมุมมองแบบอาสาสมัคร แต่ในภูมิภาคแถบนี้ หรือในประเทศไทยมีเรื่องการถูกกดทับเป็นจำนวนมาก หลายชั้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ 

“การเป็นแอคทิวิสต์พม่า หรือไทย หรือฟิลิปปินส์ ต้องเสียสละชีวิตและเวลา รวมถึงครอบครัว ไม่ใช่แค่การเป็นอาสาสมัครตามแคมเปญต่าง ๆ แต่มันคือชีวิตเรา” มีมี่สะท้อนมุมมองความคิด

จากหลายเสียงของเยาวชนแอมเนสตี้ที่ว่ามา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พลังเยาวรุ่นในวันนี้กำลังจะหยั่งรากและฝากใบให้เกิดเป็นดอกผลในขบวนสิทธิมนุษยชนของคนธรรมดาต่อไปได้ในเวลาอีกไม่นาน