ชัยชนะด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2566

28 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © @Astricella

แม้ว่าสิทธิมนุษยชนกำลังถูกบ่อนทำลายอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก แต่ผู้สนับสนุนและนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ...

 

การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

กรกฎาคม: รัฐสภาของกานาลงมติให้นำโทษประหารชีวิตออกจากกฎหมาย 1960 Criminal and Other Offences Act และ 1962 Armed Forces Act กลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ด้วยขั้นตอนเหล่านี้ กานาได้เริ่มก้าวย่างที่สำคัญที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด


นักกิจกรรมเข้าร่วมการชุมนุมจุดเทียนเพื่อคัดค้านการประหารชีวิตนาเกนธราน เค. ธรรมลิงกัม ซึ่งเป็นพลเมืองของมาเลเซียที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาลักลอบนำเฮโรอีนเข้าประเทศสิงคโปร์

 

การแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวมีผลบังคับใช้ในมาเลเซียเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม และยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมดสำหรับ 7 ฐานความผิดด้วย ศาลได้รับอำนาจในการทบทวนคำตัดสินของนักโทษประหารมากกว่า 1,000 คน และใช้ดุลยพินิจในการตัดสินระหว่างโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกและการเฆี่ยนตี ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเพราะเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในขณะที่การพักใช้การประหารชีวิตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 ยังมีผลอยู่ การปฏิรูปเหล่านี้สามารถลดจำนวนการตัดสินโทษประหารชีวิต และถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญในเส้นทางที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตของมาเลเซีย

พัฒนาการทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นชัยชนะสำหรับทุกคนที่ทำงานรณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อทำให้การลงโทษที่โหดร้ายนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป ซึ่งรวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลด้วย

สิงหาคม: หลังจากการเรียกร้องของขบวนการ #MeToo ในไต้หวัน รวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และไต้หวันเพื่อยุติความรุนแรงทางเพศทางออนไลน์ รัฐบาลได้ผ่านกฎหมาย “Sexual Assault Crime Prevention Act” ฉบับแก้ไขของไต้หวัน โดยเรียกร้องให้แพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจำกัดการเรียกดูหรือลบเนื้อหาบนหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเหล่านี้

กันยายน: ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานในทำเนียบขาวเพื่อป้องกันความรุนแรงจากอาวุธปืนขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2561

ตุลาคม: หลังจากการเจรจานานกว่า 2 ปี รัฐบาลผสมของออสเตรียก็ได้ข้อตกลงเรื่องกฎหมายการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรียสนับสนุนกฎหมายนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ต้น แม้ว่ากฎหมายที่เสนอจะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นก้าวหนึ่งที่นำไปสู่ความโปร่งใสมากขึ้นสำหรับทางการและบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ

ตุลาคม: รัฐสภาของอาร์เจนตินาผ่านกฎหมายโอลิมเปีย (Olimpia Law) ซึ่งพยายามป้องกันความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทางออนไลน์ และนำตัวผู้กระทำมารับผิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อาร์เจนตินาได้เรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายนี้มาเป็นเวลาหลายปี โดยได้เผยแพร่รายงานที่เผยให้เห็นว่าผู้หญิงหนึ่งในสามในอาร์เจนตินาเผชิญกับความรุนแรงทางออนไลน์อย่างไร


รัฐสภาของอาร์เจนตินาผ่านกฎหมายโอลิมเปีย (Olimpia Law) ซึ่งพยายามป้องกันความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทางออนไลน์ และนำตัวผู้กระทำมารับผิด กฎหมายใหม่ได้ชื่อตามโอลิมเปีย คอรัล เมโล (คนที่สองจากซ้าย) นักกิจกรรมที่รณรงค์เพื่อสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปราศจากความรุนแรงสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

 

กฎหมายใหม่ได้ชื่อตามโอลิมเปีย คอรัล เมโล นักกิจกรรมที่รณรงค์เพื่อสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปราศจากความรุนแรงสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

“ฉันเป็นผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ ฉันเกือบจะฆ่าตัวตาย ฉันรู้สึกผิด แต่ฉันก็ยังแม่ที่อยู่เคียงข้างฉัน” เธอบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อาร์เจนตินา

ธันวาคม: หลังจากการรณรงค์นานกว่าหนึ่งทศวรรษของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและพันธมิตร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive ซึ่งเป็นกฎหมายที่ก้าวล้ำโดยกำหนดให้บริษัทที่ดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปต้องจัดการกับสิทธิมนุษยชนและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงาน แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้ไปไกลเท่ากับที่แอมเนสตี้เรียกร้องในบางประเด็น แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญไปสู่การรับผิดชอบของบริษัท และจะเป็นแนวทางใหม่ที่สำคัญในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัททั่วโลก

 

เด็กและเยาวชน


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แอฟริกาใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Canada Fund for Local Initiatives ได้ริเริ่มโครงการ Digital Disruptors ในปี 2023 เพื่อให้ความรู้และเครื่องมือแก่เยาวชนนักกิจกรรมในการพัฒนาแคมเปญที่นำโดยเยาวชน พวกเขายังได้เปลี่ยนแหล่งรวมอาชญากรรมและความรุนแรงให้กลายเป็นสถานที่ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัยในการเรียนรู้และค้นหาวิธีแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในพื้นที่

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แอฟริกาใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Canada Fund for Local Initiatives ได้ริเริ่มโครงการ Digital Disruptors ซึ่งให้ความรู้และเครื่องมือแก่เยาวชนนักกิจกรรม 15 คนในการพัฒนาแคมเปญที่นำโดยเยาวชน Digital Disruptors ได้เรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นในออเรนจ์ฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่นอกโจฮันเนสเบิร์ก มีนโยบายความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (GBV) ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก Digital Disruptors ยังได้เปลี่ยนแหล่งรวมอาชญากรรมและความรุนแรงให้กลายเป็นสถานที่ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัยในการเรียนรู้และจัดการประชุมและวิธีแก้ปัญหา GBV ในพื้นที่

สิงหาคม: สภาเด็กและวัยรุ่นแห่งชาติของปารากวัยอนุมัติโครงการระดับชาติเพื่อการป้องกันและดูแลเด็กและวัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะที่สำคัญในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “พวกเขาเป็นเด็กผู้หญิง ไม่ใช่แม่

 

การศึกษา

พฤศจิกายน: หลังจากการเรียกร้องมาเป็นเวลา 2 ปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สภายุโรป (CoE) ได้รวมข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไว้ในแผนงานสิทธิมนุษยชนศึกษา (HRE) ปี 2567-2571 โดยในชัยชนะครั้งใหญ่นี้ ข้อเสนอของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้ “แปลงสิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นบริบททางวัฒนธรรมท้องถิ่น” กลายเป็นส่วนสำคัญของแผนงานใหม่ เนื่องจาก CoE มุ่งมั่นที่จะปรับตามบริบทท้องถิ่นที่แตกต่างกันเพื่อให้ HRE เกี่ยวข้องและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับเยาวชนในภูมิภาค

 

การแสวงหาอิสรภาพ

มิถุนายน: นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4 คนในคดี Buyukada ได้แก่ ทาเนอร์ คิลิช, ไอดิล อีเซอร์, ออซเลม ดัลกีรัน และกุนาล คูร์ซุน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกตัดสินความผิดในเดือนกรกฎาคม 2563 ด้วยข้อหาที่ไม่มีมูลก็พ้นผิดในที่สุด การปล่อยตัวเกิดขึ้น 6 ปีหลังจากการจับกุมทาเนอร์


นักกิจกรรมชุมนุมที่นอกอาคารคณะกรรมาธิการยุโรปในบรัสเซลส์ เพื่อปลุกจิตสำนึกอย่างเร่งด่วนให้ตระหนักถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกจำคุก ซึ่งรวมถึงทาเนอร์ คิลิช และ ไอดิล อีเซอร์ ผู้อำนวยการและประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรกี

 

ทั้งสี่คนส่งข้อความขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “เป็นเวลาหกปีที่เราได้เฝ้าดูวงล้อแห่งความอยุติธรรมหมุนไปเมื่อข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้กล้าหาญทั้ง สี่คนนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงโดยศาลลำดับต่อมา คำตัดสินในวันนี้เผยให้เห็นถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง นั่นคือการใช้ศาลเป็นอาวุธในการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์”

ในเดือนกรกฎาคม อัยการยื่นอุทธรณ์การยกฟ้อง และทาเนอร์, ไอดิล และออซเลมได้ยื่นอุทธรณ์เหตุผล (ไม่มีหลักฐาน) ของการยกฟ้อง การอุทธรณ์เหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

มิถุนายน: เอเลียส บิซิมุงกู นักข่าววัย 33 ปีและสมาชิกขบวนการเยาวชน LUCHA ถูกจับกุมที่จุดตรวจของกองทัพ และถูกควบคุมตัวในช่วงเริ่มต้นของการระดมพลังโดยสงบ 2 วันเพื่อต่อต้านการที่รวันดาสนับสนุนกลุ่มกบฏ M23 หลังจากที่เขาถูกศาลทหารพิจารณาคดีและตัดสินความผิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้ปล่อยตัว ในที่สุดเขาก็ได้รับการตัดสินให้พ้นผิดจากศาลพลเรือนและได้รับการปล่อยตัวในเดือนมิถุนายน

กรกฎาคม: โมฮาเหม็ด เบเกอร์ ทนายความสิทธิมนุษยชนได้รับการปล่อยตัวโดยการอภัยโทษของประธานาธิบดี หลังจากถูกควบคุมตัวโดยพลการเป็นเวลา 4 ปีเพียงเพราะการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรณรงค์อย่างกว้างขวางสำหรับคดีของเขา และเขาเป็นหนึ่งในเคส Write for Rights ประจำปี 2565

กรกฎาคม: โมฮัมเหม็ด อัล-ซาลาฮี และโมฮัมเหม็ด อัล-จูเนด นักข่าวชาวเยเมนได้รับการปล่อยตัวจากศูนย์กักกันหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงของกลุ่มฮูตีในฮุไดดะห์ของเยเมนหลังจากถูกควบคุมตัวเกือบ 5 ปี ในระหว่างการควบคุมตัว พวกเขาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหลายครั้ง รวมถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงทนายความของพวกเขา โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ให้มีการปล่อยตัวมาตั้งแต่ปี 2561

กรกฎาคม: เจิว วัน ข่าม พลเมืองออสเตรเลียและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยในเวียดนามวัย 73 ปี กลับมาที่ซิดนีย์เมื่อต้นปีนี้ในฐานะเสรีชน เจิวถูกควบคุมตัวภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมาถึงเวียดนามในปี 2562 และถูกตัดสินจำคุก 12 ปีจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเวียดตัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลียถือว่าเจิวคือนักโทษทางความคิดที่ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะความเชื่อทางการเมืองโดยสงบ

แดน เหงียน ทนายความของเจิว วัน ข่าม กล่าวขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับการสนับสนุนว่า “เรามีข่าวที่น่ายินดีว่าคุณเจิว วัน ข่าม สบายดีและได้กลับมาหาครอบครัวแล้วในวันนี้ เราขอขอบคุณแอมเนสตี้และบุคคลจำนวนมากทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลกที่ได้ช่วยกันล็อบบี้เพื่ออิสรภาพของเขา”

กรกฎาคม: เมื่อต้นปีนี้ โจอานา มามอมเบ และเซซิเลีย ชิมบิรี พ้นผิดจากหนึ่งในข้อกล่าวหา หลังจากที่พวกเขาถูกจับกุมในปี 2563 ฐานเป็นผู้นำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้งคู่เพื่อให้พวกเขาเริ่มฟื้นตัวจากความทุกข์ทรมาน โดยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Write for Rights ปี 2565 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้สนับสนุนของเราได้ปฏิบัติการในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซิมบับเวสนับสนุนพวกเขาตลอดการพิจารณาคดี


เซซิเลีย ชิมบิรี และโจอานา มามอมเบได้รับจดหมายที่ส่งถึงพวกเขาโดยเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Write for Rights

 

ขณะอ่านจดหมายให้กำลังใจ โจอานากล่าวว่า “ขอขอบคุณเพื่อนๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เขียนจดหมายทั้งหมดนี้ ตอนนี้เรากำลังเริ่มต้นการเดินทางเพื่อฟื้นฟู”

สิงหาคม: มอร์ริสัน ลี พลเมืองชาวไต้หวันกลับบ้านได้ในที่สุดหลังจากถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมที่คุกคามต่อความมั่นคงของจีนโดยมิชอบ ในช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมาน เขาถูกบังคับให้สารภาพทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อปราบปรามนักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไต้หวันได้รณรงค์ให้ปล่อยตัวเขา

กันยายน: การตัดสินลงโทษของมูเซลลา ยาปิชี่ และฮาคาน อัลตินาย ซึ่งทั้งคู่เป็นนักโทษทางความคิด ถูกเพิกถอนและพวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในเดือนกันยายน มูเซลลาและฮาคานแสดงความขอบคุณสำหรับจดหมายที่พวกเขาได้รับขณะอยู่ในเรือนจำจากนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตอนนี้พวกเขาเผชิญกับการพิจารณาคดีใหม่ในปีใหม่ นักโทษ Fezi 7 ที่เหลืออีก 5 คนยังคงอยู่ในเรือนจำ

กันยายน: ในปี 2563 ร็อมซี่ ราซีก จากศรีลังกา ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 5 เดือนจากการโพสต์ความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์บน Facebook ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา และในที่สุดก็มีการถอนฟ้องคดีของเขาในเดือนกันยายน หลังจากที่ศาลสูงสุดของศรีลังกาตัดสินว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา ศาลยังสั่งให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายให้กับเขาด้วย

กันยายน/ตุลาคม: คามบิซ คาเราต์ และเอบรอฮีม นารูอิ ชายสองคนจากชนกลุ่มน้อยชาวบาลูชีที่ถูกกดขี่ในอิหร่าน ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดและลงโทษประหารชีวิตโดยเกี่ยวข้องกับการชุมนุม “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” ปี 2565 ในอิหร่าน ได้รับการประกันตัวภายหลังศาลสูงสุดเพิกถอนคำตัดสินความผิดและโทษประหารชีวิต คามบิซ คาเราต์ได้รับการปล่อยตัวในเดือนกันยายน และเอบรอฮีม นารูอิได้รับการปล่อยตัวในเดือนตุลาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ให้เพิกถอนคำตัดสินความผิดและโทษประหารชีวิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566

ตุลาคม: หนึ่งวันหลังจากที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกปฏิบัติการด่วนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว โมฮาเหม็ด อิบราฮิม ออสมัน บุลบุล นักข่าวชาวโซมาเลียก็ได้รับการประกันตัวจากเรือนจำโมกาดิชู เขาถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคมเพียงเพราะทำงานของเขา ไม่กี่วันต่อมา ในวันที่ 11 ตุลาคม ศาลภูมิภาคบันเดียร์ได้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดของโมฮาเหม็ด

ในข้อความที่ส่งถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โมฮาเหม็ดกล่าวว่า “ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับการสนับสนุนและการเรียกร้องอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่ออิสรภาพของผม ปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้มีบทบาทอย่างมากในการประกันว่าผมจะได้รับอิสรภาพ ผมรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่งกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกคุณ”

ตุลาคม: มอร์ตาซ่า เบห์บูดี้ ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2566 ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ตามการเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฝรั่งเศส หลังจากถูกคุมขังเป็นเวลากว่า 9 เดือนในอัฟกานิสถาน นักข่าวชาวฝรั่งเศส-อัฟกันวัย 29 ปีรายนี้จะได้กลับมาหาครอบครัวของเขาอีกครั้ง เขาถูกกล่าวหาว่าจารกรรมโดยกลุ่มตาลีบัน ซึ่งนับตั้งแต่กลับขึ้นมามีอำนาจในเดือนสิงหาคม 2564 ได้จำกัดสิทธิมนุษยชนของประชาชนลงอย่างต่อเนื่อง

ตุลาคม: ฟารีบา อะเดลคาห์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส-อิหร่านถูกควบคุมตัวในเดือนมิถุนายน ปี 2562 ในอิหร่าน หลังจากการเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เธอก็ได้รับการปล่อยตัวและได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม เธอถูกตัดสินจำคุก 5 ปีฐาน “คุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เธอปฏิเสธมาโดยตลอด เมื่อเธอได้รับการปล่อยตัว ฟารีบากล่าวขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ตอนนี้ทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่เหลือไว้คือมิตรภาพและความมุ่งมั่น การระดมพลังของคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก”

ตุลาคม: มาติอุลลาห์ เวซา นักกิจกรรมด้านการศึกษาของอัฟกานิสถานได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม หลังจากถูกจำคุกเป็นเวลาเกือบ 7 เดือนจากการส่งเสริมสิทธิของเด็กผู้หญิงในการศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของกลุ่มตาลีบันที่ห้ามเด็กผู้หญิงไม่ให้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกปฏิบัติการด่วนและรณรงค์จนได้รับการปล่อยตัว


มาติอุลลาห์ เวซา หัวหน้าของ PenPath และผู้สนับสนุนการศึกษาของเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถาน พูดคุยกับเด็กๆ ในชั้นเรียนข้างห้องสมุดเคลื่อนที่ของเขาในเขตสปินโบลดักของจังหวัดกันดาฮาร์ โดยเวซา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโครงการรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ถูกกลุ่มตาลีบันในกรุงคาบูลควบคุมตัวเนื่องจากทำงานของเขา

 

อัตตูลลาร์ เวซา น้องชายของมาติอุลลาห์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหารของ Penpath กล่าวว่า “เราขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสมาชิก 13 ล้านคนที่ยืนเคียงข้างเรา ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การสนับสนุน และการเรียกร้องของแอมเนสตี้และสมาชิกเป็นแรงบันดาลใจให้เราต่อสู้เพื่อการปล่อยตัวเวซา และเรารู้สึกขอบคุณมากสำหรับการสนับสนุนของพวกเขา แม้ว่าเรายังคงไม่พอใจกับคำตัดสินของศาลของกลุ่มตาลีบันและการสูญเสียอิสรภาพ 7 เดือนของมาติอุลลาห์ แต่เราจะยังคงสนับสนุนสิทธิในการศึกษาของเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถานต่อไป”

พฤศจิกายน: ฟิริว เบเคเล อาจารย์มหาวิทยาลัย ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 3 เดือนจากข้อกล่าวหาในการเขียนและเผยแพร่หนังสือชื่อ The Hijacked Revolution เขาเป็นนักโทษทางความคิดที่ไม่ควรถูกควบคุมตัวตั้งแต่แรก หัวหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอธิโอเปียไปพบกับฟิริว เบเคเลในเรือนจำ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาทันทีหลังจากการเผยแพร่ปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในเดือนกันยายน

พฤศจิกายน: คำสั่งจากฝ่ายบริหารให้ควบคุมตัวซัจจาด กูล นักข่าวชาวแคชเมียร์ถูกยกเลิกหลังจากที่ควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 22 เดือนตามกฎหมายความปลอดภัยสาธารณะจัมมูและแคชเมียร์ที่เข้มงวด หลังจากการเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

พฤศจิกายน: หลังจากถูกควบคุมตัวโดยพลการนานเกือบ 7 ปี เลลา เดอ ลิมา นักโทษทางความคิดและอดีตวุฒิสมาชิกก็ได้รับการประกันตัวหลังจากเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ศาลฟิลิปปินส์ได้อนุมัติคำขอประกันตัวในข้อหาล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด


เลลา นอร์มา อูลาเลีย โจเซฟา มากิสทราโด เดอ ลิมา เป็นนักการเมือง ทนายความ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีกับพัฒนาการเชิงบวกนี้ และเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีสุดท้ายนี้ และขอให้นำผู้ที่อยู่เบื้องหลังการควบคุมตัวโดยพลการและการละเมิดสิทธิอื่นๆ ของเธอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานกับคดีของเดอ ลิมา นับตั้งแต่เธอถูกจับกุมในปี 2560 โดยย้ำในแถลงการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าข้อกล่าวหาของเธอเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น

 

ความยุติธรรมและความรับผิดชอบ

มิถุนายน: สวิตเซอร์แลนด์แก้ไขกฎหมายการข่มขืนเป็นคำจัดความตามความยินยอม และในเดือนกรกฎาคม สภาผู้แทนราษฎรของเนเธอร์แลนด์ลงมติให้แก้ไขกฎหมายความผิดทางเพศโดยใช้คำจำกัดความของการข่มขืนตามความยินยอม ร่างกฎหมายนี้คาดว่าจะผ่านการลงมติโดยวุฒิสภาภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า


นักกิจกรรมยื่นคำร้องจำนวน 37,000 รายชื่อให้กับนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐสวิส เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาของสวิสที่ล้าสมัยเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้รวมคำจำกัดความของการข่มขืนตามความยินยอมด้วย

 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักกิจกรรม ผู้เสียหาย และพันธมิตร รวมทั้งแคมเปญ Let’s Talk About Yes ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและการสนับสนุนในภูมิภาค

มิถุนายน: สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้จัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศที่เป็นอิสระเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของผู้สูญหายและถูกบังคับให้สูญหายหลายหมื่นคนในซีเรีย โดยจะเป็นช่องทางเดียวในการลงทะเบียนคดีต่างๆ ตลอดจนให้คำตอบที่รอคอยมานานแก่ครอบครัวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่พวกเขารัก


ภาพถ่ายของชาวซีเรียที่สูญหายถูกจัดแสดงในขณะที่ผู้คน รวมถึงกลุ่มผู้หญิงชาวซีเรีย ยืนบนรถบัสสองชั้นระหว่างการชุมนุมของ 'Families for Freedom' ที่จัตุรัสรัฐสภาในลอนดอน อังกฤษ การชุมนุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ที่นำโดยผู้หญิงเพื่อสิทธิของผู้สูญหายในซีเรีย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้การสนับสนุนครอบครัวและผู้รอดชีวิตชาวซีเรียที่เป็นผู้นำในการก่อตั้งองค์กรดังกล่าว โดยการอำนวยความสะดวกในการประชุมระหว่างพวกเขากับรัฐสมาชิกเพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาสนับสนุนองค์กรนี้

กรกฎาคม: เมื่อต้นปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แอฟริกาใต้ได้รับการยอมรับในฐานะ Amicus Curiae (เพื่อนศาล) เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและความรู้ในการยื่นขอให้มีคำสั่งประกาศจับกุมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียหากเขาเข้ามาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ในแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะมีการไต่สวนเรื่องนี้ในศาล มีการประกาศว่าประธานาธิบดีปูตินจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดแล้ว ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งให้จับกุมหากเข้ามา นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ในด้านความยุติธรรมและความรับผิดชอบ และความพยายามในการฟ้องคดีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงให้เห็นถึงพลังของการเคลื่อนไหว

สิงหาคม: ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ออกคำตัดสินในคดีที่พนักงานบริการ (Sex Workers) 261 รายฟ้องรัฐบาลฝรั่งเศส โดยพนักงานบริการที่รวมทั้งผู้หญิงและผู้ชายจาก 20 ประเทศซึ่งอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิของตนภายใต้มาตรา 2, 3 และ 8 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เนื่องจากการทำงานบริการทางเพศถือเป็นความผิดอาญาในฝรั่งเศส ศาลประกาศรับคดีและรับทราบสถานะเหยื่อของผู้ร้องเรียนในขั้นตอนแรกที่มีนัยสำคัญ ในคำตัดสิน ศาลอ้างคำให้การของตัวพนักงานบริการเอง ซึ่งเป็นการยอมรับเสียงของพนักงานบริการครั้งสำคัญ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยื่นหนังสือเพื่อนศาล Amicus Curiae เพื่อให้ข้อมูลในคดีนี้

สิงหาคม: หลังจากหลายปีของการล็อบบี้จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อิตาลี ฟาเธอร์ ฟรังโก เรเวอร์เบรี ถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังอาร์เจนตินา ซึ่งเขาจะถูกดำเนินคดีสำหรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองแบบเผด็จการทหารระหว่างปี 2519 ถึง 2526 ซึ่งเรเวอร์เบรีได้อาศัยอยู่ในอิตาลีเพื่อหลีกเลี่ยงระบบยุติธรรมของอาร์เจนตินา โดยได้รับประโยชน์จากระบบยุติธรรมของอิตาลีที่ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังมีส่วนสำคัญในการเรียกร้องให้รวมการทรมานไว้ในประมวลกฎหมายอาญาของอิตาลีอีกด้วย

ตุลาคม: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงาน My heart is in pain’: Older people’s experience of conflict, displacement, and detention in Northeast Nigeria ในเดือนธันวาคม 2563 รวมถึงบันทึกข้อมูลว่าผู้สูงอายุในประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความขัดแย้งและถูกทีมตอบสนองด้านมนุษยธรรมมองข้ามอยู่เสมอ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้ไนจีเรียให้สัตยาบันพิธีสารเพื่อปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุ


ชายสูงอายุคนหนึ่งนั่งรอขายอาหารในตลาดใกล้เมืองไมดูกูรี รัฐบอร์โน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย

 

ในชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ รัฐบาลไนจีเรียได้รับฟังคำเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและให้สัตยาบันต่อพิธีสารนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุในไนจีเรีย

ตุลาคม: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลผนึกกำลังกับองค์กรอื่นๆ เพื่อล็อบบี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการลอยนวลพ้นผิดในซูดาน ด้วยเหตุนี้ UNHRC จึงได้ลงมติให้จัดตั้งคณะสอบสวนข้อเท็จจริงระหว่างประเทศที่เป็นอิสระสำหรับซูดาน จุดมุ่งหมายคือการสืบสวนและหาข้อเท็จจริง สถานการณ์ และต้นตอของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงที่กระทำต่อผู้ลี้ภัย และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดในบริบทของความขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่ดำเนินอยู่ ถือเป็นชัยชนะเล็กๆ สำหรับความทุ่มเทเพื่อความรับผิดชอบในซูดาน

พฤศจิกายน: ในก้าวประวัติศาสตร์ไปสู่ระบบนโยบายภาษีระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและครอบคลุมมากขึ้น สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติเห็นชอบให้มีมติที่จะเริ่มพัฒนาอนุสัญญาภาษีของสหประชาชาติ ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในนโยบายภาษีระดับโลกอย่างครอบคลุมมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงความสามารถในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิทางภาษีของตน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ผลักดันประเทศต่างๆ ให้สนับสนุนการกำหนดนโยบายภาษีระดับโลกที่เป็นธรรมและครอบคลุมมากขึ้น และจะยังคงมีส่วนร่วมในการพัฒนาอนุสัญญาต่อไปเพื่อสร้างทรัพยากรสำหรับประเทศต่างๆ ในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

พฤศจิกายน: รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล Nobody Wants to Leave Their Home: Mass forced evictions at Cambodia’s UNESCO World Heritage Site of Angkor ได้รับการเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนหลังจากการสอบสวนนาน 8 เดือนในเสียมราฐ กัมพูชา


ภาพถ่ายจากภารกิจการวิจัยเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ในเสียมราฐ กัมพูชา ซึ่งแอมเนสตี้ถือว่าการไล่รื้อโดย "สมัครใจ" ที่นครวัดนั้นเป็นการบังคับ รัฐบาลอ้างว่าจำเป็นต้องย้ายประชาชนเพื่อรักษาสถานะมรดกโลกของสถานที่นี้ ภาพนี้แสดงชายคนหนึ่งกำลังรื้อบ้านเพื่อย้ายไปยังพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่

 

หนึ่งวันหลังจากการเผยแพร่รายงาน ยูเนสโกกล่าวว่ามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และได้เลื่อนกำหนดเวลาที่ทางการกัมพูชาจะต้องออกรายงานการอนุรักษ์นครวัด แม้ว่าเจ้าหน้าที่ในกัมพูชาปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเป็นการบังคับไล่รื้อ พวกเขาได้เชิญแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาในประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งเราได้ตอบรับคำเชิญดังกล่าว

พฤศจิกายน: ลัตเวียให้สัตยาบันในอนุสัญญาอิสตันบูล ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศสำหรับการป้องกันและต่อต้านความรุนแรงทุกประเภทต่อผู้หญิงและเด็กหญิง หลังจากการรณรงค์เป็นเวลาหลายปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

กันยายน: ศาลฮ่องกงได้มอบชัยชนะบางส่วนให้แก่จิมมี่ แชม นักกิจกรรมเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพยายามทำให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันในต่างประเทศของตนได้รับการยอมรับมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งหลังจากการรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คำตัดสินนี้เป็นก้าวสำคัญและเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังสำหรับชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในฮ่องกง ซึ่งถูกปฏิเสธสิทธิที่เท่าเทียมกันมาอย่างยาวนานเนื่องจากกฎหมายที่ล้าสมัยและเลือกปฏิบัติของเมืองนี้

 

เทคโนโลยี

ตุลาคม: Disrupting Surveillance Team ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เทค ร่วมมือกับเครือข่ายสื่อ European Investigative Collaborations เพื่อเผยแพร่รายงาน 2 ฉบับที่เปิดเผยการแพร่หลายของเทคโนโลยีสอดแนมข้อมูลทั่วโลกและความล้มเหลวของรัฐบาลและสหภาพยุโรปในการควบคุมอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม โดย Predator Files ได้เปิดเผยเกี่ยวกับ Intellexa alliance และผลิตภัณฑ์สอดแนมข้อมูล รวมถึงสปายแวร์ Predator ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวสูง


Amnesty Tech Security Lab ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ Intellexa alliance และสปายแวร์ Predator

 

นับตั้งแต่มีการเผยแพร่ ผู้เชี่ยวชาญของ UN และ EU MEP ได้ย้ำข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้มีการสืบสวนเพิ่มเติม การควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และการห้ามใช้สปายแวร์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวสูงทั่วโลก รัฐบาลชาติต่างๆ ได้ดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับ Intellexa และกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้และการแพร่หลายของสปายแวร์ และ EU MEP ได้มีมติวิพากษ์วิจารณ์การขาดการติดตามผลของข้อเสนอของรัฐสภาในการควบคุมการใช้สปายแวร์ในทางที่ผิด


ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชัยชนะด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566